อาศรมมิวสิก : คำเม้า รัฐศาสตร์ และขวัญ นำอดีตมารับใช้ปัจจุบัน เพื่อสร้างสรรค์ผลงานใหม่ : โดย สุกรี เจริญสุข

สิริสัณห์ โสภณสิริ (ขวัญ) เรียนจบปริญญาตรี วิชาเอกกีตาร์คลาสสิก เมื่อ พ.ศ.2560 แล้วก็ได้ไปเรียนต่อวิชากีตาร์ระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยวิกตอเรีย (Victoria University) ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อเรียนจบหลักวิชาแล้วก็ต้องแสดงดนตรีเพื่อจบการศึกษาด้วย โดยเล่นเพลงที่ได้ประพันธ์ขึ้นใหม่ ซึ่งขวัญคิดถึงและประทับใจรากเหง้าของความเป็นไทย โดยเฉพาะเสียงพิณอีสาน ขวัญได้ฟังเพลงลายภูไทที่เล่นด้วยกีตาร์ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์รัฐศาสตร์ เวียงสมุทร ซึ่งนำลายภูไทมาปรับเสียงแล้วเล่นด้วยกีตาร์ในแนวเพลงทางเดิมแต่มีสำเนียงเสียงใหม่ ที่ได้บันทึกเสียงไว้ ทำให้ขวัญหลงใหลเพลงกีตาร์ลายภูไทของอาจารย์รัฐศาสตร์ เป็นพิเศษ

ขวัญเดินทางกลับเมืองไทยมาพบกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์รัฐศาสตร์ เวียงสมุทร ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เพื่อขอคำปรึกษาและแลกเปลี่ยนความรู้ เพิ่มประสบการณ์ จุดสำคัญก็คือ การค้นหาวิธีการปรับเสียงและการตั้งเสียง เพื่อเล่นให้ได้สำเนียงอย่างเสียงพิณอีสาน จุดนี้ทำให้ขวัญต้องขวนขวายต่อ เพื่อไปค้นหาความรู้ลึกจากหมอพิณตัวจริง ซึ่งถือเป็นต้นตอของเสียงลายพิณดั้งเดิมของลายภูไท

ผู้ช่วยศาสตราจารย์รัฐศาสตร์ เวียงสมุทร เรียนจบปริญญาตรี กีตาร์คลาสสิก จากมหาวิทยาลัยศิลปากร แล้วเรียนต่อระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ทำงานเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยบูรพาอยู่ 11 ปี ต่อมาได้ไปสอนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เริ่มหันเหความสนใจจากการเล่นกีตาร์ด้วยเพลงฝรั่ง กลับมาพัฒนาทำนองเพลงพื้นบ้าน เรียบเรียงเสียงขึ้นใหม่เป็นเพลงสำหรับกีตาร์คลาสสิก ซึ่งขัดเกลาทำนองมาจากลายพิณอีสาน เป็นงานเพลงที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ทำให้เพลงพิณลายภูไทเป็นที่รู้จักแพร่หลาย

คำเม้า (ตาโต) เปิดถนน เป็นหมอพิณอีสานที่เรียนพิณจากพ่อ ได้รับเชิญเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ต่อเพลงพิณให้นักศึกษา คนไทยนั้นไม่รู้จัก แต่คำเม้า หมอพิณเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะหมอพิณใหญ่ในยุโรป คำเม้ามีชื่อจริงว่า พิณเพชร ทิพย์ประเสริฐ เกิดที่บ้านนาทม อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เมื่อปี พ.ศ.2510

Advertisement

ชีวิตในวัยเด็ก คำเม้าได้เรียนหนังสือแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พ่อแม่มีลูกทั้งหมด 8 คน ครอบครัวมีฐานะยากจน คำเม้าเป็นลูกคนที่ 7 จึงหมดโอกาสจะเรียนหนังสือต่อ พ่อนั้นเป็นหมอพิณและเป็นหมอผี ใช้เสียงพิณรักษาคนไข้ ประมาณว่าใช้ดนตรีรักษาโรค ซึ่งเป็นความเชื่อว่ารักษาผู้ป่วยได้ เมื่อผู้ป่วยได้ฟังเสียงพิณแล้วเชื่อว่าจะได้ขึ้นสวรรค์ก่อนตาย คำเม้าได้ซึมซับเสียงพิณของพ่อมาตั้งแต่เด็ก เรียนลายพิณจากพ่อ และคำเม้าได้รับมรดกวิชาทำพิณและสืบทอดลายพิณต่อมา

คำเม้าได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของครู “ทองใส ทับถนน” หมอพิณชื่อดังแห่งยุค ครูทองใสนั้นเล่นพิณโด่งดังมาก เป็นหมอพิณหัวก้าวหน้า คำเม้าจึงตั้งสมญาของตัวเองโดยเลียนแบบครูทองใส ทับถนน เป็น “คำเม้า เปิดถนน” เพื่อหวังว่าจะให้คนจำได้ ทั้งครูทองใส ทับถนน และครูคำเม้า เปิดถนน เป็นหมอพิณที่มีลายพิณแตกฉานที่สุดในยุคปัจจุบัน

ในปี พ.ศ.2529 คำเม้าเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อตามหาพี่ชาย ตั้งใจจะเข้าไปทำงานก่อสร้าง บนบ่านั้นได้สะพายพิณคู่ใจไปด้วย โดยใส่ในกระสอบปุ๋ย อาศัยรถบรรทุกเข้ากรุง คำเม้าถูกตำรวจเรียกตรวจค้น กล่าวหาว่าพกพาอาวุธ ค้นแล้วก็พบว่ามีแต่พิณ คำเม้าถือโอกาสเล่นพิณให้ตำรวจฟัง ตำรวจประทับใจคำเม้ามาก จึงได้ให้เงิน (ทิป) 20 บาท ซึ่งคำเม้าถือเป็นความภูมิใจมากในชีวิต

Advertisement

คำเม้าทำงานก่อสร้าง ได้เงินค่าจ้างวันละ 30 บาท เวลาว่างก็เอาพิณมาเล่น หัวหน้าคนงานเห็นว่าเล่นพิณเก่ง ก็ชวนไปเล่นพิณที่ห้องอาหาร ได้ค่าตัวเพิ่มคืนละ 100-200 บาท จากนั้นคำเม้าจึงได้ถือโอกาสเดินค้นหาเส้นทางเสียงพิณ คำเม้าได้บันทึกเสียงชุดพิณร้องเพลง มีโอกาสแสดงร่วมกับศิลปินหมอลำชื่อดังแห่งยุคจำนวนมาก ได้เล่นพิณออกโทรทัศน์หลายรายการ กระทั่งได้ร่วมวงอาชีพแบบสากล “วงเดอะพาราไดซ์บางกอก” (The Paradise Bangkok Molam International Band) มีหน้าที่เล่นพิณ คำเม้าเล่าให้ฟังว่า วงนักเรียนนอกเป็นพวกคนมีเงิน เดินทางไปแสดงในเทศกาลดนตรีในยุโรปเป็นหลัก ทำมา 6-7 ปีแล้ว

เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2563 ขวัญได้พบกับครูคำเม้า เพื่อสอบถามเรื่องลายพิณเพลงภูไทและถามถึงการตั้งสายพิณ คำเม้าเริ่มต้นสอนให้ขวัญเรียนเล่นพิณเสียเลย เพราะมีพื้นฐานกีตาร์อยู่แล้ว พิณนั้นมีทั้ง 2 สาย และ 3 สาย คำเม้าเป็นหมอพิณที่ทำพิณเอง เรียนวิชาทำพิณมาจากพ่อ ได้มอบพิณคู่ใจให้ขวัญไปฝึกซ้อม โดยฝากฝังให้ขวัญเอาพิณไปแสดงในต่างประเทศด้วย เพื่อจะได้เผยแพร่เสียงพิณ

คำเม้าเป็นนักด้นเพลงพิณ สามารถเดี่ยวพิณลายต่างๆ ประกอบหมอลำได้ทั้งคืน มีวิชาทำพิณ เล่นพิณเพื่อรักษาโรค มีความคิดกระฉูดเรื่องลายพิณ มีจินตนาการที่มุ่งมั่นในการเล่นพิณ คำเม้าอยากอวดลายพิณทางพระอินทร์มาก คำเม้าเล่นพิณโดยปล่อยให้เพลงไหลออกมาอย่างไม่ขาดสายและทำได้ทุกเมื่อ

คำเม้ามีข้อจำกัด ไม่สามารถจัดการตัวเองให้อยู่ในโลกปัจจุบันได้ บริหารตัวเองก็ลำบาก คำเม้ามีชีวิตเป็นคนเกรงใจคนอื่นมาก ยอมให้คนอื่นตัดสินใจเรื่องค่าตัว ไม่ได้เรียกร้องค่าตอบแทนจากใคร เพราะคิดว่าคนอื่นจะคิดได้เหมือนกับเขาที่คิดถึงคนอื่น คำเม้าไม่กล้าเอ่ยปากเรียกค่าตัว ไปซ้อมไปบันทึกเสียงก็ไม่ได้เงิน แถมต้องจ่ายค่ารถค่าเดินทางอีก ชีวิตคำเม้าอยู่อย่างตามมีตามเกิด อยู่แบบชาวบ้าน กินแบบชาวบ้าน คำเม้ามีโรคประจำติดตัวอยู่หลายโรค แต่ก็ไม่ยอมไปหาหมอ เพราะว่าไม่มีเงินจะจ่ายค่าหมอและค่ายา

พิณลายภูไทของคำเม้าออกจากจิตใจไปสู่พิณ จากพิณไปสู่หูผู้ฟัง ผู้ฟังที่เป็นนักดนตรีอย่างผู้ช่วยศาสตราจารย์รัฐศาสตร์ เวียงสมุทร ก็เอาเสียงพิณไปถ่ายทอดต่อเป็นเสียงกีตาร์ เมื่อกีตาร์เล่นลายภูไท กีตาร์ลายภูไทดังก้องกังวานออกไปสู่สาธารณะ กลายเป็นลายสากล และจากลายพิณภูไทออกไปสู่ลายโลกที่เป็น “วิญญาณภูไท” เมื่อขวัญได้เอาลายพิณภูไทไปกลายร่าง ทำให้ลายพิณภูไทเป็นเพลงสมัยใหม่ เป็นมิติใหม่ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น แต่เล่นด้วยกีตาร์

ขวัญได้รับทุนจากมูลนิธิกีตาร์อเมริกัน (Guitar Foundation of America) เพื่อนำผลงานลายพิณภูไทไปนำเสนอในเทศกาลกีตาร์ ที่เมืองอินเดียนาโพลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2563 ที่จะถึงนี้ แม้จะเป็นจุดเล็กๆ แต่ก็เป็นโอกาสที่จะนำเสนอวัฒนธรรมของท้องถิ่นไทยต่อสากล อย่างน้อยเป็นการส่งต่อจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง จากเพลงชาวบ้านไปสู่ตลาดสากล โดยอาศัยความรู้ ฝีมือ โอกาส และจิตวิญญาณที่เป็นสากลด้วย

วันนี้ วัฒนธรรมเพลงอีสานได้รับการพัฒนาก้าวหน้าไปมากแล้ว สำหรับความนิยมภายในประเทศ ไม่ว่าลูกทุ่ง หมอลำ หมอลำซิ่ง หมอลำเพลิน อีสานคลาสสิก เพลงอีสานได้ยึดครองตลาดดนตรีสมัยนิยมไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนตลาดต่างประเทศนั้น หมอลำซิ่ง พิณแคนอีสาน จังหวะอีสาน นำเสนอผ่านผู้เขยอีสาน ได้ก้าวไปสู่ความนิยมสากลในตลาดเทศกาลดนตรี ในแถบยุโรปตอนบนไว้อย่างน่าประทับใจ

เมื่อมองย้อนไป พ.ศ.2500 ยุทธศาสตร์ชาติไทยมุ่งพัฒนาความเจริญของกรุงเทพฯ ให้เป็นเหมือนนครนิวยอร์ก ทำเชียงใหม่ให้เหมือนกรุงเทพฯ แล้วพยายามทำหาดพัทยาให้เหมือนเมืองฟลอริดา ในส่วนวัฒนธรรมสังคมไทยนั้น ได้ให้ค่านิยมโดย “ชื่นชมความเป็นอื่น” การรับซื้อความสำเร็จจากต่างประเทศ ทั้งสิ่งของ ค่านิยม และความรู้ ด้วยการนำเข้ามาใช้ ในขณะเดียวกันได้หลงลืม ละทิ้งวัฒนธรรมและตัวตนของตัวไปสิ้น วันนี้รากเหง้าและวัฒนธรรมเดิมของชุมชนได้ผุกร่อน โดยไม่มีใครเยียวยาพัฒนา

เรานำมะม่วงดี ทุเรียนดี ปลาดี กุ้งดี ส่งออกไปขายให้ต่างชาติได้กิน ส่วนคนไทยนั้นยอมกินกุ้งเน่า ปลาเน่า ทุเรียนเน่า และกินมะม่วงเน่า ทั้งๆ ที่ไม่ดีต่อสุขภาพ แต่คนเราเห็นแก่เงินมากกว่าสุขภาพ ผู้นำไทยใช้อำนาจเงิน อำนาจปกครองลงไปจัดการ ส่วนชาวบ้านนั้นไม่มีอำนาจอะไรจะต่อรอง ชีวิตของชาวบ้านไม่มีความรู้ ไม่ได้รับการศึกษา วัฒนธรรมท้องถิ่นที่อยู่กับวิถีชาวบ้านจึงดำเนินไปอย่างยถากรรม

มรดกและทรัพย์สินเพลงชาวบ้าน เพลงพื้นบ้านนั้น เป็นวัฒนธรรมที่เป็นนามธรรม ยังขายไม่ได้ ยังอยู่ในสภาพดิบๆ ทั้งที่เป็นสมบัติอันล้ำค่า หากรัฐมนตรีวัฒนธรรม รัฐมนตรีท่องเที่ยว รัฐมนตรีศึกษา และรัฐมนตรีอุดมศึกษา เข้าใจบทบาทและมีวิสัยทัศน์ในการนำประเทศไปสู่โลกอนาคต จะเข้าใจและมองเห็นทรัพย์สินเหล่านี้ แล้วนำทรัพย์สินที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้มาพัฒนา นำเข้าสู่ระบบการศึกษาโดยพัฒนาอย่างจริงจัง การขายวิถีชีวิต ขายสินค้าที่เป็นวัฒนธรรม ทั้งหมดเพื่อความอยู่ดีกินดีของตัวเราเอง

ความพยายามและการดิ้นรนของวัฒนธรรมท้องถิ่น วัฒนธรรมพื้นบ้าน เพื่อให้อยู่รอด เป็นความน่าอนาถระดับชาติ สำหรับประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลายต่างโหยหาอดีตซึ่งเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยนำวัฒนธรรมท้องถิ่นไปพัฒนาใช้เป็นสินค้าอวดให้นักท่องเที่ยว รับแขกบ้านแขกเมือง ส่วนวิถีไทยนั้น “ตามเขาว่าเก่ง ทำเองว่าโง่” (เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์) เราได้แต่ชื่นชมความเป็นอื่น ไม่เคยชื่นชมความเป็นเรา หรือชื่นชมความเป็นฉันแต่อย่างใด ทั้งนี้ เพราะ “ความเป็นฉัน” ไม่ได้พัฒนา

จากครูคำเม้า หมอพิณศิลปินชาวบ้าน เล่นลายพิณภูไท ส่งต่อไปถึงผู้ช่วยศาสตราจารย์รัฐศาสตร์ เวียงสมุทร นำเพลงภูไทไปปรุงแต่งให้เป็นกีตาร์คลาสสิก แล้วถูกต่อยอดออกไปโดยขวัญ สิริสัณห์ โสภณสิริ นักกีตาร์คลาสสิกอีกช่วงอายุหนึ่ง พัฒนาให้ลายภูไทไปสู่ความเป็นนานาชาติ เอาไปอวดในเทศกาลนานาชาติ ด้วยความรักความชอบ ที่สำคัญคือ ได้ปักหมุดเพลงพื้นบ้านภูไทให้กลายเป็นลายสากล

จุดเปลี่ยนทางเศรษฐกิจในการปฏิวัติวัฒนธรรมจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี หลังจากบอบช้ำจากสงคราม ทำให้ผู้นำจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ได้พัฒนาวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนในชาติอย่างจริงจัง ในการฟื้นฟูประเทศเขาใช้วัฒนธรรมเป็นตัวตั้ง ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่แข็งแกร่งที่สุด เพื่อค้ำจุนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแรง พิสูจน์ให้เห็นได้ในปัจจุบัน

ไทยเรานั้น แม้ไม่ได้บอบช้ำจากการสู้ศึกสงครามมากนัก แต่เราก็ยังต่อสู้กันต่อไป “ยามศึกเราก็รบ ยามสงบเราก็รบกันเอง” ทำให้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวบ้านตกอยู่ในสภาพที่บอบช้ำมาก เพราะผู้นำไทยนั้น ไม่ได้เอาใจใส่และไม่เข้าใจวัฒนธรรม เมื่อการเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจร่อแร่ ในส่วนของวัฒนธรรมชาวบ้านก็ต้องรอคอยและอาศัยให้ฝรั่งเข้ามาชื่นชม วันหนึ่ง เมื่อฝรั่งดมว่าหอม ฝรั่งเห็นว่าดี ฝรั่งชิมว่าแซ่บ ฝรั่งเอาไปต่อยอดเป็นสินค้า นำวิญญาณไทยไปชื่นชมอีกทอดหนึ่ง วันนั้น คนไทยก็จะโวยวาย

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image