คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : โมเดลแก้แล้ง

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก SCG

เป็นอีกคนหนึ่งที่เมื่อได้ร่วมเสวนาด้วยแล้วได้ความรู้เพิ่ม

เขาคือ คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี

วันนั้น คุณรุ่งโรจน์เปิดชั้น 21 ต้อนรับด้วยอาหารสุดอร่อย และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณะผู้บริหารเครือมติชน

ไอเดียหนึ่งในวงสนทนาคือเรื่องจัดการน้ำของประเทศ

Advertisement

คุณรุ่งโรจน์มองว่า เรื่องการจัดการน้ำสมควรที่ประเทศไทยจะทำเป็นเรื่องเป็นราว

หากจะลงทุนเหมือนอย่างการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ก็ควรทำ

เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการจัดการน้ำ

Advertisement

เพราะทรัพยากรน้ำมีคุณค่า ประเทศไทยเป็นเมืองน้ำ แต่เรากลับเก็บน้ำได้แค่ 10 จาก 100

ที่เหลืออีก 90 ปล่อยให้หายไป

ขณะที่อิสราเอลเขามีน้ำแค่ 10 แต่ต้องการใช้ 100 จึงใช้วิธีการบริหารจัดการเข้ามาช่วย

มีกลวิธีต่างๆ ที่จะรักษาน้ำทุกหยดเพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ประเทศจีนก็เหมือนกัน มีการศึกษาเรื่องบริหารจัดการน้ำ

ผลจากการศึกษาก่อเกิดเป็นข้อเสนอที่ใช้น้ำเป็นพื้นฐานในการจัดโซนนิ่งสำหรับการเพาะปลูก

ย้อนกลับมาที่ไทยซึ่งเป็นเมืองน้ำ น่าจะตื่นตัวในเรื่องการจัดการน้ำอย่างจริงจัง

จำได้ว่าตอนที่มติชนจัดสัมมนาเรื่อง “2020 ปีแห่งการลงทุน ทางออกประเทศไทย” คุณรุ่งโรจน์เคยยกตัวอย่างการลงทุนเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำบนเวทีมาแล้ว

ไอเดียเรื่องนี้ได้รับการขานรับจากผู้ฟัง และกำลังรอการขยายผล

สำหรับเรื่องการจัดการน้ำนั้น ไทยมีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก มีวิศวกรชลประทาน มีนักเศรษฐศาสตร์ทรัพยากรน้ำ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำมาก

ไทยมีองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการน้ำอยู่เยอะ

รู้เรื่องลักษณะเฉพาะของทรัพยากรน้ำ อาทิ น้ำในโลกมีปริมาณคงที่ แต่อยู่ในสถานะต่างๆ ทั้งของแข็ง ของเหลว และก๊าซ

รู้ว่าน้ำจืดมีที่อยู่ทั้งบนดิน และใต้ดิน

น้ำไหลแรงเบาตามแรงโน้มถ่วงของโลก น้ำบนดินสามารถไปอยู่ใต้ดิน น้ำใต้ดินสามารถนำมาใช้

แต่ไม่ทราบว่าไทยได้เก็บสถิติเกี่ยวกับน้ำไว้มากน้อยแค่ไหน

หากมีการเก็บสถิติไว้ แสดงว่าไทยมีทั้งกำลังคน มีทั้งประสบการณ์ มีทั้งองค์ความรู้ และมีข้อมูลที่จะใช้ในการบริหารจัดการน้ำได้

ขณะที่รัฐบาลมียุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ 20 ปี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีแผนจัดการน้ำ

แต่อาจจะเป็นเพราะเรื่องดังกล่าวยังวนเวียนอยู่ในวงจำกัด เวียนวนอยู่เฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งๆ ที่เรื่องบริหารจัดการน้ำทุกคนในประเทศต้องซึมซาบไปด้วยกัน

ทุกคนต้องรู้คุณค่าของน้ำที่ใช้อยู่ทุกๆ วัน ต้องรู้ว่าประเทศไทยมีปัญหาน้ำแล้ง และน้ำท่วม

การประหยัดน้ำเป็นหน้าที่ของทุกคนในประเทศ

ต้องรู้ว่าการทำให้คูคลองมีสิ่งกีดขวาง จะกลายเป็นต้นเหตุของอุทกภัยในวันข้างหน้า ต้องรู้ว่าการทิ้งขยะลงน้ำ หรือการปล่อยของเสียลงไปในลำคลองแม่น้ำ จะทำให้น้ำเสีย

น้ำที่ไทยเก็บได้น้อยอยู่แล้ว จะยิ่งทำให้นำมาใช้ประโยชน์ได้น้อยเข้าไปอีก

นับแต่นี้เป็นต้นไป ประเทศเราจำเป็นต้องคิดใหม่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ

มองในมุมทางเศรษฐศาสตร์ เรื่องการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

มองเห็นอุปสงค์ และอุปทาน ในการมีและใช้ทรัพยากรน้ำ

มีมุมมองในการกระจายอำนาจ ขยายแนวความคิดเรื่องน้ำจากภาครัฐสู่ภาคประชาชน ขยายจากส่วนกลางสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น

รวบรวมองค์ความรู้ในการบริหารจัดการน้ำในระดับต่างๆ ทั้งหมู่บ้านชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด มาไว้เพื่อนำมาปรับใช้

และตอบคำถามว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลในการใช้น้ำ

ฟังคุณรุ่งโรจน์แล้วได้ยินมาว่า ภาคเอกชนเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ โดยเฉพาะเอสซีจีมีโครงการโดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เปิดโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง”

มีวัตถุประสงค์คือให้ชุมชนเป็นหัวใจในการแก้ภัยแล้ว มีมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเอสซีจี เป็นพี่เลี้ยงคอยให้องค์ความรู้ในการบริหารจัดการ

เป็นโมเดลเกาะเกี่ยวกันระหว่างชุมชน มูลนิธิที่มีองค์ความรู้ และภาคธุรกิจ ในการแก้ภัยแล้งระดับท้องถิ่น

ถ้าโมเดลนี้ประสบความสำเร็จ การบริหารจัดการน้ำในหลายๆ พื้นที่คงจะคืบหน้า

ปัญหาน้ำในคลองเน่าเหม็น ปัญหาหน้าร้อนแล้งสุดสุด หน้าน้ำท่วมสุดสุด จะได้มีการจัดการ

ขณะที่รัฐบาลบริหารภาพรวม จังหวัดประสานงานเชื่อมต่อกับท้องถิ่น

ส่วนชุมชนเป็นกลุ่มที่เผชิญหน้ากับภัยแล้งและอุทกภัยโดยตรงก็สามารถขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง

แม้ต่อไปไทยจะต้องเผชิญหน้ากับภัยแล้งและน้ำท่วม

แต่ถ้าทุกๆ สถานการณ์สามารถจับมือกันตามโมเดล 3 ประสานนี้ได้

โอกาสรอดพ้นจากวิกฤตก็มีให้เห็น

ขอเพียงแค่สามประสานนี้ทำกันให้จริงจัง การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของไทยน่าจะสำเร็จได้

อยากเห็นไทยประสบความสำเร็จในเรื่องนี้

เหมือนกับที่หลายประเทศเขาทำสำเร็จกันมาแล้ว

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image