คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : สมรภูมิดิจิทัลคอนเทนต์ระอุ

ยังคงเร่งเกมรุกไม่ยั้ง สำหรับ “ไลน์” (LINE) ในสมรภูมิธุรกิจคอนเทนต์ ด้วยการประกาศว่าต้องการเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยอุตสาหกรรมคอนเทนต์ในการเปลี่ยนผ่านจาก “อะนาล็อก” ไปสู่ “ดิจิทัล” ด้วย 2 แพลตฟอร์ม คือไลน์ทีวี (LINE TV) และไลน์ทูเดย์ (LINE TODAY)

เกินว่าเป้าหมายที่เคยบอกว่า ต้องการเป็นมากกว่า “แชต” ไปค่อนข้างไกล

ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไลน์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า วิสัยทัศน์ธุรกิจยังคงเดิมคือ ‘Life on LINE’ และเพื่อให้สมกับที่ผู้บริโภคใช้เวลาอยู่กับไลน์แทบตลอดวันตั้งแต่ตื่นนอนกระทั่งก่อนเข้านอน ถ้าโฟกัสเฉพาะธุรกิจคอนเทนต์จะมุ่งไปยังการพัฒนาให้ทั้ง LINE TV และ LINE TODAY เป็นบริการคอนเทนต์ที่ตอบทุกโจทย์ และความสนใจผู้ใช้ยุคใหม่ที่เติบโตและมีไลฟ์สไตล์บนโลกดิจิทัล

“ไลน์ทีวีและไลน์ทูเดย์จะเป็นตัวนำข่าวสารไปยังผู้คนเป็นที่รวบรวมคอนเทนต์ทั้งด้านความบันเทิงและข่าวสารข้อมูลให้คนไทย บนความเชื่อที่ว่าคนมีความต้องการไม่เหมือนกัน”

Advertisement

การเป็นผู้รวบรวมเนื้อหาที่ดีที่สุดจะทำใน 3 อย่าง 1.ใช้ “ดาต้า” ประมวลผลเพื่อให้รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร (Human Centric) 2.ทำให้การใช้งานง่าย (Excellent User Experience) และ 3.มีคอนเทนต์ที่ดี (best-in-class)

ทุกวันนี้ “ไลน์” มีฐานผู้ใช้เกินกึ่งหนึ่งของประชากรในประเทศที่ 45 ล้านราย เข้าใจว่าทั้งหมดเป็น “แชต” (Chat) ถ้าแยกมายังบริการคอนเทนต์ มีที่ดู “ไลน์ทีวี” 40 ล้านคน และดูหรืออ่านข่าวสารผ่าน “ไลน์ทูเดย์” 36 ล้านคน

ผู้เข้าชม “ไลน์ทีวี” กว่า 40 ล้านคน มีการดูวิดีโอออนไลน์ต่างๆ มากถึง 5,800 ล้านครั้ง ใช้เวลาดูโดยเฉลี่ย 176 นาทีต่อวัน ส่วนกลุ่มคนที่อ่าน “ไลน์ทูเดย์” มีการอ่าน 11,7000 ล้านเพจวิว หรือพันล้านเพจวิวต่อเดือน

Advertisement

“กณพ ศุภมานพ” รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจคอนเทนต์ บริษัทเดียวกันกล่าวว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพฤติกรรมการรับชมคอนเทนต์ของคนไทยเปลี่ยนไปมาก โดยไลน์มีส่วนในการร่วมสร้างและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผ่าน 2 แพลตฟอร์ม คือ วิดีโอออนไลน์ “ไลน์ทีวี” เปลี่ยนรูปแบบการรับชมรายการทีวีต่างๆ และแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลข่าวสาร “ไลน์ทูเดย์” ที่สร้างประสบการณ์ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารแบบ Infotainmaent (รวม Information และ Entertainment) เข้าด้วยกัน

“เรากล้าพูดว่าเราเป็นแพลตฟอร์มคอนเทนต์ที่ใหญ่ที่สุด”

ใน 36 ล้านคนต่อเดือนบน “ไลน์ทูเดย์” มีทุกช่วงอายุ กลุ่มอายุ 25-34 ปี มากสุด 41% ถัดมาเป็นกลุ่มอายุ 45 ปีขึ้นไป 22% และถือเป็นกลุ่มที่เติบโตกว่า 50% จึงค่อนข้างชัดเจนว่า ไม่ได้มีแต่ “คนรุ่นใหม่” ที่อ่านข้อมูลดิจิทัล รองลงมาอายุ 35-44 ปี ที่ 19% และ 14-24 ปี ที่ 18%

สิ่งที่เราได้ยินมาตลอดว่า “คนไทย” ไม่ชอบอ่านหนังสือ อาจไม่จริงทั้งหมดแต่ขึ้นอยู่กับ “เนื้อหา” มากกว่า

เพราะใน 1,000 ล้านเพจวิวต่อเดือนที่อ่าน “ไลน์ทูเดย์” มีมากถึง 60% อ่านจนจบหรือเท่ากับ 36,000 บรรทัด/คน/ปี เทียบได้กับการอ่าน “พ็อคเก็ตบุ๊ก” เล่มหนาๆ ถึง 9 เล่ม

“ช่วงที่มีคนเข้ามาอ่านมากที่สุด คือ 7-9 โมงเช้า เป็นคอนเทนต์เรื่องดวง หรือการทำนายโชคชะตาต่างๆ เช่น การใส่เสื้อสีมงคล เป็นต้น อีกช่วงที่อ่านเยอะ คือบ่าย 3-4 โมง ถัดมาเป็นก่อนนอน 3-5 ทุ่ม”

“ไลน์ทูเดย์” ประกาศว่าในปีนี้ต้องการเป็น Personalized Infotainment Portal หรือศูนย์รวมข่าวสารและบทความที่มีสาระและความเพลิดเพลินจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ โดยนำเสนอแบบเฉพาะเจาะจงกับแต่ละบุคคล ด้วยการนำ AI มาเพิ่มความสะดวก และแนะนำคอนเทนต์ให้ตรงความชอบของผู้อ่านแต่ละคนมากขึ้นเพื่อผลักดันให้มีการอ่านเพิ่มขึ้นให้ได้ในทุกไตรมาส

สำหรับ “ไลน์ทีวี” จะไม่ได้มองแค่ตลาดในประเทศ แต่ต้องการเป็น “ผู้ให้บริการคอนเทนต์ออนไลน์อันดับหนึ่งในอาเซียน” ภายใน 3 ปี โดยจะเริ่มขยายบริการในกัมพูชา, เมียนมา และลาว ในไตรมาส 2 ปีนี้ นอกเหนือไปจากการผลักดันให้การดูออนไลน์คอนเทนต์ขึ้นไปอยู่บนสารพัดจอมากขึ้นด้วยการร่วมมือกับผู้ผลิตสมาร์ทโฟน และสมาร์ททีวีหลากหลายแบรนด์ในการติดตั้งแอพพลิเคชั่น “ไลน์ทีวี” ตั้งแต่ผลิตสินค้าในโรงงานกันเลย

“พฤติกรรมผู้บริโภคบน LINE TV เห็นได้ชัดว่า ไม่ใช่ช่องทางฆ่าเวลา แต่คือสิ่งที่ตั้งใจใช้เวลาเพื่อดู เพราะไม่ต้องการพลาดคอนเทนต์ดัง และเป็นกระแส โดยต้องการเป็นผู้เลือกเองว่าจะดูหรืออ่านคอนเทนต์ที่สนใจตอนนั้นในทันทีหรือไม่ เมื่อไร และอย่างไร”

ทั้งไลน์ทีวี และไลน์ทูเดย์ เป็นบริการ “ฟรี” ไม่ได้เรียกเก็บตังค์จากผู้ใช้ แต่มีรายได้จาก “โฆษณา”

ผู้บริหารไลน์ระบุว่าผู้ใช้ครึ่งหนึ่งของไลน์ใช้เวลามากขึ้น 200% และมียอดคลิกโฆษณากว่า 100% ทำให้เม็ดเงินโฆษณาโต 150% จากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ, มีเดีย และประกันภัย โดยบอกว่าแม้เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจะทำให้เแบรนด์ต่างๆ

โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ใช้งบโฆษณาอย่างจำกัดมากขึ้น แต่ในกลุ่มเอสเอ็มอี รวมถึงบรรดาร้านค้าออนไลน์มีการโฆษณาใน “ไลน์ทูเดย์” เพิ่มขึ้น

“ไลน์ทีวี และไลน์ทูเดย์” จึงนับเป็น “ดิจิทัลแพลตฟอร์ม” ที่น่าจับตายิ่งของผู้ผลิตคอนเทนต์ และเจ้าของแพลตฟอร์มสื่อดั้งเดิมทั้งหลาย ทั้งในฐานะคู่แข่งและพาร์ตเนอร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image