คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : ผู้นำ 5G ในมุมมองผู้นำตลาด

แฟ้มภาพ

ในธุรกิจโทรคมนาคม คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรมีค่ามาก ถ้าไม่มีก็จะไม่สามารถให้บริการได้ หรือถ้ามีน้อยอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพบริการทำให้ผู้ให้บริการแต่ละรายพยายามไม่พลาดเมื่อมีการนำคลื่นออกมาประมูล

รอบล่าสุดก็เช่นกัน แม้ทุกรายจะประสานเสียงตรงกันว่าอยากให้ยืดเวลาออกไป เนื่องจากมองว่าเร็วเกินไป จะด้วยเพิ่งลงทุนพัฒนา 4G ไปไม่นาน ยังไม่มี Use Case มากพอ หรือเครื่องมีน้อยก็แล้วแต่ แต่ในที่สุดไม่มีใครยอมพลาดที่จะเข้าไปเคาะราคาประมูลคลื่นแข่งกัน

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ซีอีโอ “เอไอเอส” บอกว่า 5 ปีที่ผ่านมา ในฐานะ “ซีอีโอ” ได้มีโอกาสเข้าไปเคาะราคาประมูลคลื่นด้วยตนเองมาแล้ว 3 ครั้ง รวมเบ็ดเสร็จเป็นเงินกว่า 2 แสนล้านบาท

รอบล่าสุดกับ 5G คว้ามาได้ครบทั้ง 3 ย่านคลื่น คือ 700 MHz 2600 MHz และ 26 GHz ใช้เงินไป 4 หมื่นกว่าล้านบาท

Advertisement

มากกว่าการได้คลื่นมาเติมในพอร์ต คือการประกาศตัวได้ว่าเป็นผู้ให้บริการที่มีคลื่นในมือมากที่สุด รวม 1420 MHz เสริมภาพความเป็นผู้นำ นอกเหนือไปจากการเป็นผู้นำตลาดจากฐานลูกค้าที่มีมากที่สุด

“ทุกคนอาจมองว่าสองแสนล้านเป็นมูลค่าที่สูง แต่สำหรับเอไอเอสคุ้มค่ามาก เชื่อว่าบริษัทที่เข้าไปประมูล มีวัตถุประสงค์คนละอย่าง”

และ “เอไอเอส” ชัดเจนว่า มีฐานลูกค้า 42 ล้าน จำเป็นต้องดูแลฐานลูกค้า ก็มีความจำเป็นที่ต้องได้คลื่นมากกว่า ขณะที่บางราย หลายคนอาจบอกว่าควรได้มากกว่านี้ แต่เขาอาจมีวิธีทำธุรกิจแบบของเขา ซึ่งไม่จำเป็นต้องมองแบบเอไอเอส เป็นลักษณะของแต่ละองค์กรในการมองกลยุทธ์ของตนเองว่าจะบริหารคลื่นความถี่ ใช้คลื่นความถี่อย่างไรมากกว่า

Advertisement

“สมชัย” ย้ำว่า สำหรับ “เอไอเอส” คุ้ม เพราะทำให้มีคลื่นความถี่เพียงพอสำหรับรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ต่อไปอีก 2-5 ปีข้างหน้า

“เราจะไม่ต้องกังวลเรื่องการขาดแคลนคลื่นเหมือนในอดีต จะไปพัฒนาเรื่องสินค้า บริการ เรื่องต่างๆ ได้มากขึ้นทำให้แข็งแรงขึ้น ให้บริการลูกค้าได้ดีขึ้น และประกาศได้ว่าเป็นผู้ให้บริการที่มีคลื่นมากที่สุด รองรับลูกค้าซึ่งมากที่สุดด้วยได้อย่างดี ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา เราเป็นผู้ให้บริการที่ทำงานอยู่บนความยากลำบากมายาวนาน เนื่องจากมีคลื่นน้อย แต่มีลูกค้ามาก”

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของ 5G ในมุมมอง “เอไอเอส” ต้องเกิดจากการมีประสบการณ์ที่ดีของ “ลูกค้า” ไม่ใช่แค่เรื่องความเร็ว (สปีด) ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้น โดยลำพังได้โดย “เอไอเอส”

“นอกจากสปีดแล้วก็เป็นเรื่อง Latency และ Mass IoT ต่าง ๆ ซึ่งทั้งสองแกน ไม่ได้อยู่ในแกนของ Telecom Operator แต่อยู่ในแกนของผู้ให้บริการอื่น ๆ เช่น การนำ 5G ไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ มีรถยนต์ไร้คนขับ หรือในวงการแพทย์ การใช้เทคโนโลยี เออาร์, วีอาร์ เป็นต้น”

สิ่งเหล่านี้ ถ้าเกิดจะทำให้ลูกค้ามีประสบการณ์ในการใช้งาน 5G ที่ดี ซึ่งต้องมีแอพพลิเคชั่นสำหรับอุตสาหกรรมอื่นด้วย หมายความว่านอกจากเร่งติดตั้งเครือข่ายในแบบที่ทำมากับ 3G และ 4G แล้วยังต้องทำงานกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมต่างๆ

“การจะสร้างอีโคซิสเต็มส์ที่สมบูรณ์ได้ ต้องใช้เวลา เพราะต้องร่วมพัฒนากับอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งการที่เอไอเอสประกาศตัวชัดเจนว่าต้องการเป็น อีโคซิสเต็มส์ ที่ส่งเสริมให้ธุรกิจต่างๆ เติบโตไปพร้อมกันทำให้การทำงานกับพันธมิตรเป็นไปอย่างราบรื่น”

“เอไอเอส” มีจุดยืนชัดเจนว่า อยากโตไปพร้อมกับพาร์ตเนอร์ ฉะนั้นอะไรที่ 5G ทำได้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็จะเข้าไปเป็นผู้นำในเรื่องนี้

“อย่างที่เคยบอกว่าเราต้องการขยับจากโมบายโอเปอเรเตอร์ไปสู่ดิจิทัลเซอร์วิสโพรวายเดอร์ ฉะนั้นก็ต้องหาแหล่งรายได้ใหม่จากอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งการมี 5G นอกจากมีอินฟาสตัคเจอร์เพื่อให้เกิดคลื่น 5G และให้บริการ 5G ซึ่งเป็นบริการของเรา เช่น รายได้จากวอยซ์ และเดต้าแล้ว เมื่อร่วมกับอุตสาหกรรมอื่น เช่น โรงพยาบาล, อุตสาหกรรมการผลิตก็จะมีรายได้เพิ่มเติมจากอุตสาหกรรมนั้นๆ ด้วย”

ในรูปแบบ Revenue sharing (ส่วนแบ่งรายได้) ดังนั้นแหล่งรายได้ใหม่ของ “เอไอเอส” ในอนาคตจึงจะมาจากอุตสาหกรรมอื่นๆ

การ “โพสิชั่น” ตนเองว่าจะทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์แบบ “อีโคซิสเต็มส์” ทำให้พาร์ตเนอร์ไว้วางใจ และมั่นใจได้ว่า “เอไอเอส” จะเป็นผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี และแอพพลิเคชั่นเท่านั้น ไม่ได้เข้าไปรุกรานในธุรกิจของอุตสาหกรรมนั้นๆ

“เช่น อุตสาหกรรมการผลิต เมื่อนำ 5G ไปพัฒนาร่วมกัน เขาก็จะแบ่งรายได้ให้เรา การวางโพสิชั่นที่ชัดเจนทำให้พาร์ตเนอร์ไม่ระแวงว่าเราจะไปทำธุรกิจของเขา เพราะด้วยศักยภาพอย่างเอไอเอส สามารถไปทำแบบเขาได้ แต่เราจะไม่ทำ”

ในมุมของการแข่งขันกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน “ซีอีโอ” เอไอเอส มองว่า เมื่อทุกรายประกาศว่าจะมี 5G และสร้างความคาดหวังออกไปแล้วก็ต้องเร่งส่งมอบสิ่งที่สัญญาออกไปให้เร็วที่สุด และดีที่สุดด้วย แม้ความคาดหวังกับความเป็นจริง อาจต้องใช้เวลาจึงเป็นทั้งศาสตร์ และหน้าที่

“ผมเชื่อว่าการแข่งขันดี แต่ทุกคนที่แข่งขันก็ต้องส่งมอบให้ได้ด้วย”

สุดท้าย ใครจะเป็นผู้ชนะในสงคราม 5G หรือเป็น “ผู้นำ” ตัวจริง ไม่ใช่อยู่ที่ “เทคโนโลยีดี” หรือการมี “คลื่นความถี่” มาก แต่อยู่ที่ “ใคร” จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีที่สุด “ใคร” จะสร้างประสบการณ์ในการใช้งานกับลูกค้าได้ดีที่สุด

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image