คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : เพื่อชีวิตหลังโควิด

หนังสือนี่ยิ่งอ่านยิ่งมัน

ยิ่งช่วงนี้ชีวิตเหมือนถูกกัก เพราะมี “โควิด” เป็นผู้คุม การได้หนังสือดีๆ มาอ่านก็ช่วยบรรเทาอาการจิตตก

ขณะเดียวกัน สำนักพิมพ์มติชน มีโปรแกรมนำเสนอหนังสือหลายเล่ม

เป็นเล่มใหม่ และจุดประกายความคิดดีๆ ออกมานำเสนอ

Advertisement

หลายคนคงทราบแล้ว อีกหลายคนยังไม่ทราบ จึงอยากแจ้งให้ทราบ

แม้ว่าปีนี้งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติจะต้องหยุด เพราะโควิดโจมตีประเทศ

แต่สำนักพิมพ์มติชนยังหาช่องทางนำเสนอหนังสือให้ผู้สนใจได้อ่าน

Advertisement

หนังสือเล่มหนึ่งที่มีการกล่าวถึง ชื่อ “ปล่อยใจคิด ไม่ติดกรอบ”

เขียนโดย กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร

มีข้อความขยายความเนื้อหาในเล่มว่า “กระโดดข้ามกำแพงความคิดติดปีกนวัตกรรม”

ความน่าสนใจของหนังสือเริ่มจากตัวผู้เขียน

กวีวุฒิ มีประสบการณ์ในหน่วยงานด้านนวัตกรรมและแผนกกลยุทธ์ของหลายองค์กรชั้นนำ

เป็นคนไทยไม่กี่คนที่ผ่านโครงการ Design Leadership จาก Stanford d. school ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

ปัจจุบัน กวีวุฒิ เป็นหัวหน้าทีมนวัตกรรมสร้างธุรกิจใหม่ให้กับธนาคารไทยพาณิชย์

ก่อนมาอยู่เอสซีบี กวีวุฒิเป็นหัวหน้าทีม Express Solution (Innovation Lap) ของกลุ่ม ปตท.

ได้นำกระบวนการสร้างนวัตกรรมที่เรียกว่า “Design Thinking” มาใช้

นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งและออกแบบแนวการสอนของศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษสอนนวัตกรรม Design Thinking for Business Innovation

และยังเป็นวิทยากรพิเศษที่บรรยายเรื่องการสร้างนวัตกรรม

ความน่าสนใจของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ก็เพราะคลุกคลีกับ “การสร้างนวัตกรรม” นี่แหละ

เหมือนอย่างที่รู้ว่า นวัตกรรมเป็นสิ่งมีค่าของคนในยุค 4.0

แต่การสร้างนวัตกรรมขึ้นมานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

เมื่อกวีวุฒิผ่านการอบรมทางด้านนี้ มีประสบการณ์ในด้านนี้ และยังสอนในด้านนี้

หนังสือที่เขาเขียนก็น่าจะเกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรม

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วคงจะได้เห็นอะไรดีๆ

หนังสือชื่อ “ปล่อยใจคิด ไม่ติดกรอบ” จึงเป็นหนังสือที่น่าสนใจ

หนังสือเล่มนี้มีความหนาเพียง 200 กว่าหน้า อ่านสบายๆ เนื้อหาเป็นการสรุปประเด็นสำคัญๆ ของแนวคิดต่างๆ ให้ได้คิด

คนหนึ่งอ่านแล้วอาจจะมีความคิดอย่างหนึ่ง อีกคนหนึ่งอ่านแล้วอาจจะมีความคิดไปอีกอย่างหนึ่ง

แต่ละคนมีความคิดไปแต่ละอย่างเช่นนี้ นี่แหละจะทำให้โลกนี้เกิดนวัตกรรม

ภายในเล่มได้รวบรวมแก่นความคิดของผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตมาหลายคน

มีความคิดของ สตีฟ จ๊อบส์ จากแอปเปิล ความคิดของ รีสโต ซีลาสมา ประธานกรรมการบริษัทโนเกีย

หรือ จอห์น แชมเบอร์ส ซีอีโอบริษัท ซีสโก

หรือ อีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า ชื่อเทสลา

รวมถึงความคิดของ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ จากกลุ่มซีพี

นอกจากนี้ หนังสือเล่มเดียวกันยังแนะนำวิธีคิดและเทคนิคการบริหารเพื่อให้ได้มาซึ่ง “นวัตกรรม” ตลอดทั้งเล่ม

อาทิ คำว่า “อะไจล์” (Agile) ซึ่งเป็นหลักการในวงการ ดีไซน์ ธิงกิ้ง

หรือหลักการของ “หัวหน้าโจรสลัด” ที่ฟังๆ แล้วอาจจะดุเดือด แต่อ่านหลักคิดแล้วต้องบอกว่า ใช่เลย

หรือหลักการของญี่ปุ่น ชื่อ “โอโมเตะนาชิ” ที่เป็นเรื่องราวของการ “ใส่ใจ”

หลักการเหล่านี้มีคำอธิบายสั้นๆ เข้าใจได้ไม่ยาก

แถมยังมีเกร็ดน่าสนใจของธุรกิจสมัยใหม่ที่เป็นแนวทางให้เกิดความเข้าใจธุรกิจยุคอนาคต

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของ ลาซาด้า เทนเซ็น ดร็อปบอกซ์ แอปเปิล หรือการปรับตัวของโนเกีย

ภายในเล่มยังสอดแทรกหลักการบางอย่างที่สามารถนำไปปรับใช้

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วชื่นชอบ เพราะได้ซึมซาบแนวทางสู่นวัตกรรม

ได้มองเห็นความสำคัญของคำว่า “ตรงประเด็น”

ยิ่งโลกยุคใหม่ “ปลาเร็วกินปลาช้า” ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับ “ประเด็น”

ประเด็นของตัวเอง ประเด็นขององค์กร ประเด็นของลูกค้า

ประเด็นของอะไรก็ได้ที่จะทำ

เมื่อเข้าใจประเด็นก็ลงมือทำให้ตรงประเด็น

นอกจากนี้ หนังสือเล่มเดียวกันยังสามารถเก็บเอาบางถ้อยคำมาใช้

อาทิ คำว่า “อะไรที่วัดผลได้ก็สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้”

เมื่อวันนี้เราได้แค่หนึ่ง วันพรุ่งนี้เราสามารถทำได้สองก็ถือว่าเราพัฒนาขึ้นแล้ว

แม้ในโลกนี้จะมีอะไรต่อมิอะไรที่วัดผลได้ยาก แต่เมื่อใดที่วัดผลได้ เราก็มีหนทางพัฒนา

พัฒนาเชิงปริมาณ พัฒนาเชิงคุณภาพ

พัฒนาตัวเอง พัฒนาองค์กร พัฒนาประเทศ

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วได้ไอเดียแบบนี้ ไอเดียที่ได้อาจจะแตกต่างจากคนอื่น

แต่ก็อย่างที่ว่านั่นแหละ

ความแตกต่างเป็นหนึ่งในหนทางของนวัตกรรม

ในสภาวะที่โควิดปิดล้อม การได้อ่านหนังสือ ทำให้ได้ไอเดียเจ๋งๆ

เป็นไอเดียที่จะนำไปสร้างนวัตกรรมขึ้นมาหลังจากโควิด-19 ผ่านพ้นไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image