คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : ‘Persona’ ความกระจัดกระจายภายในสู่ตัวตนภายนอก

ภาพประกอบ Youtube Video / Movieclips Classic Trailers

คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง Persona : ความกระจัดกระจายภายในสู่ตัวตนภายนอก

Persona – ในยามที่ผู้คนค่อนโลกอยู่ในสถานการณ์ Quarantine หรือการกักตัวเองในที่พักอาศัยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งยังถูก “เว้นว่าง” ให้ห่างกันทาง

รูปธรรมด้วยสถานะ Social Distancing ไปจนถึงการทำงานจากบ้านในฐานะ Work From Home ผ่านการใช้วิธีติดต่อสื่อสารด้วยการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ไปจนถึงแพลตฟอร์มวิดีโอสื่อสารต่างๆ สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ดูเหมือนมนุษยชาติกำลังถูกดิสรัปชั่นเร่งเร้าเรื่อง “การสื่อสาร” ไปสู่รูปแบบการสื่อสารเสมือนจริง หรือ Virtual มากขึ้นทุกขณะ

สภาวะเช่นนี้ทำให้หวนนึกถึงภาพยนตร์คลาสสิกที่มีเนื้อเรื่องที่เล่าถึงประเด็น “การสื่อสาร” คู่ขนานไปกับสภาวะจิตใจของ “ตัวละคร” นั่นคือ “Persona” หนังของผู้กำกับภาพยนตร์ชั้นครูชาวสวีเดน “อิงมาร์ เบิร์กแมน”

ในเนื้อแท้หนังของอิงมาร์ เบิร์กแมน นั้น หน้าหนังมักถ่ายทอดด้วยความเรียบง่าย สเกลภาพยนตร์ที่ไม่ได้ใช้ทุนสูง แต่เมื่อมองลึกลงไปจะพบเรื่องราวที่มีโครงเรื่องซับซ้อน เช่นเดียวกับ Persona หนังที่อิงมาร์ลากพาคนดูให้เผชิญความคิดซับซ้อนอันโลดแล่นของเขา

Advertisement

Persona คือหนังที่ว่าด้วยการสำรวจบุคลิกเชิงมิติของผู้หญิงสองคนที่ต้องมาอยู่ลำพังด้วยกันในบรรยากาศอันเงียบสงบ และคนดูอย่างเราก็เฝ้าลอบสังเกตการสื่อสารระหว่างกันของคนคู่นี้

หนังดำเนินเรื่องราวตลอดทั้งเรื่องด้วยตัวละครหลักเพียงสองคน “อลิซาเบธ” นักแสดงสาวผู้อยู่ในช่วงเวลารักษาและบำบัดอาการที่แพทย์เรียกว่า “ปฏิเสธจะพูดกับทุกคน” โดยมีนางพยาบาลสาว “อัลม่า” เข้ามารับหน้าที่ดูแลอลิเซาเบธ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของคนทั้งคู่ที่ใช้เวลาร่วมกันในบ้านพักตากอากาศริมชายหาดอันเงียบสงบ

 

Advertisement

เรื่องราวเป็นไปอย่างเรียบง่าย ระหว่างทางเราจะเห็นความสัมพันธ์ของ “อลิซาเบธ” และ “อัลม่า” ที่ค่อยๆ พัฒนามากขึ้น แม้เกินครึ่งเรื่องเราจะได้เห็น “อัลม่า” ในฐานะผู้ดูแลเป็นฝ่ายเปิดบทสนทนาพูดมากมายอยู่ฝ่ายเดียว โดยมี “อลิซาเบธ” เป็นฝ่ายที่นั่งฟังอย่างตั้งใจ เธอทำเพียงสูบบุหรี่จิบวิสกี้ และฟังเรื่องราวต่างๆ

รู้ตัวอีกที “อลิซาเบธ” นั้นเป็นฝ่ายรับรู้เรื่องราวต่างๆ ในชีวิตของ “อัลม่า” ที่เริ่มเล่าสิ่งต่างๆ มากมายจนถึงเรื่องที่เป็น “ความลับส่วนตัว” ในชีวิต

หลัง “อัลม่า” พรั่งพรูเล่าความลับด้วยความมึนเมาและรู้สึกผิดต่อเรื่องราวในอดีต “อลิซาเบธ” ที่อยู่ในสถานะผู้ฟังอย่างเงียบงัน แสดงออกเพียงสีหน้าและอากัปกิริยาในเชิงปลอบใจ ไม่มีคำตอบใดๆ ออกมา แต่ท่าทีเช่นนั้นก็ทำให้อัลม่ารู้สึกว่าเธอได้รับความเห็นอกเห็นใจ ขณะเดียวกันหลังความลับที่ “อัลม่า”หลุดเล่าออกมา “อลิซาเบธ” ดูมีทีท่ายิ่งสนใจในเรื่องราวและตัวตนของนางพยาบาลสาวคนนี้มากขึ้นเรื่อยๆ และเธอก็เริ่มต้นศึกษาความเป็นตัวตนของอีกฝ่ายอย่างจริงจังผ่านความเงียบงัน

ในหนังเราจึงได้เห็นหญิงสาวสองคน ใช้เวลาแทบจะ 24 ชั่วโมงของแต่ละวัน “สื่อสาร”ระหว่างกันไม่ว่าจะทั้งทางคำพูด และทางพฤติกรรม ขณะเดียวกันยังก้ำกึ่งระหว่างจิตใต้สำนึกของความเห็นใจกับความเกลียดชังซึ่งกันและกันด้วย

เพราะในเวลาต่อมา “อัลม่า” ล่วงรู้ความจริงจากการแอบอ่านจดหมายที่ “อลิซาเบธ” เขียนเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่ได้ยินได้ฟังจากอัลม่าให้สามีฟัง แม้กระทั่งความลับส่วนตัวของอัลม่า ก็ถูกเล่าต่อผ่านจดหมาย ไปจนถึงการที่อลิซาเบธเขียนบรรยายพินิจพิเคราะห์อัลม่าและแสดงความเห็นต่อสิ่งที่ได้ฟังทั้งหมดลงไปในจดหมายด้วย

“อลิซาเบธ” จึงดูเหมือนจะหายจากอาการ “ปฏิเสธการพูด” แม้เธอไม่ได้พูดขึ้นมาด้วยวาจา แต่ที่ผ่านมาเธอเลือกสื่อสารผ่านการเขียนแทน


ขณะที่ “อัลม่า” ได้รู้ว่าแท้จริงแล้วเธอกำลังเป็นเพียง “บุคคล” ที่ “อลิซาเบธ” หยิบขึ้นมาเฝ้ามอง ศึกษา พินิจพิเคราะห์ในทุกอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด เสมือนเป็น บุคคลหรือผู้บริโภคที่ถูกหยิบมาใช้เป็นกลุ่มเป้าหมายเพื่อนำไปถอดรหัสสื่อสารทางการตลาดก็ไม่ปาน

ทว่าขึ้นชื่อว่านี่เป็นหนึ่งในหนังที่ดีที่สุดของ “อิงมาร์ เบิร์กแมน” Persona เล่าเรื่องลึกไปกว่านั้น เมื่อผู้กำกับพาคนดูข้ามไปสู่ความซับซ้อนทางจิตใจของตัวละครทั้งสอง

“อลิซาเบธ” และ “อัลม่า” ที่มีสภาพกลืนกินบุคลิกซึ่งกันและกัน และลงเอยที่ทั้งคู่เสมือนแบ่งปันความคิด จิตใจ และจิตใต้สำนึกร่วมกันจนยากจะแยกแยะบุคลิกทั้งคู่ได้ชัดเจน

อิงมาร์ เบิร์กแมน ตั้งคำถามผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า คนเราจะสามารถปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพให้กลายไปเป็นอีกคนได้หรือไม่ และขยายลงลึกไปถึงห้วงจิตที่สามารถจะคิดได้เฉกเช่นคนที่เราเลียนแบบบุคลิกภาพได้ด้วยหรือไม่

เรามิอาจดูภาพยนตร์เรื่องนี้โดยปล่อยให้หลายฉากผ่านสายตาไปโดยไม่ครุ่นคริด ยิ่งในฉากท้ายๆ หนังทำเสมือนเป็นไปได้ว่าทั้งสองคนเป็นผู้หญิงคนเดียวกันที่มีจิตใจซับซ้อนด้วยภาพการแบ่งครึ่งหน้าจอของผู้หญิงสองคน ราวกับจะบอกว่าสภาพจิตใจ ความคิดของมนุษย์นั้นแท้จริงแล้ววุ่นวาย ยุ่งเหยิง เป็นเพียงสิ่งที่ลอยในอากาศ เสมือนมีหลายบุคลิกในตัวคนคนเดียว ทว่า “การสื่อสาร” ไม่ว่าจะเป็นการพูด หรือการแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมและบุคลิกภาพ คือการนำพาความกระจัดกระจายภายในตัวของคนคนหนึ่ง ให้ออกมาเป็น “ตัวตน” หนึ่งเดียวสู่ภายนอก

ภาวะดังกล่าวสะท้อนผ่านในห้วง 6 นาทีแรกของการเปิดตัวหนังที่ใช้ภาพต่างๆ มากมายที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกัน แต่นำมาตัดต่อเข้าด้วยกัน อาทิ ม้วนฟิล์มภาพยนตร์ ภาพแอนิเมชั่น มือ ฉากขาว หนังตลกยุคหนังเงียบ แมงมุม แกะ เล็บ หิมะสีหม่น เด็กชาย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ดูกระจัดกระจายไม่เข้ากัน แต่ทั้งหมดที่ไม่เข้ากันนี้สามารถนำมาเชื่อมร้อยกันได้ด้วยการถ่ายภาพบันทึก ตัดต่อรวมกันออกมาเป็นภาพยนตร์ ที่นอกจากเป็นงานศิลปะแล้ว ภาพยนตร์ก็ถือเป็นหนึ่งในรูปแบบการสื่อสารเช่นเดียวกัน


“อิงมาร์
เบิร์กแมน” ท้าทายและกระตุ้นคนดูให้คิดในสิ่งที่เราเห็นทั่วไปทุกวันว่าทั้งหมดเหล่านี้หากนำมาเชื่อมร้อยตีความเล่าออกมาบนแผ่นฟิล์มก็ทำให้เกิดการสื่อสารเล่าเรื่องขึ้นมาได้

ด้วยเพราะ Persona ตั้งคำถามมากมาย และไม่ได้คิดจะหาคำตอบ หลายอย่างเป็นความนึกคิด จิตใต้สำนึกของ “อิงมาร์” ที่ถ่ายทอดผ่าน “อลิซาเบธ” และ “อัลม่า” ตัวละครทั้งสองถูกตัดต่อซ้อนภาพจนดูเป็นนามธรรมเคว้งคว้าง ขณะเดียวกันเราจะเห็นว่าอิงมาร์ให้ความสำคัญกับการสื่อสารแบบที่ไม่ต้องใช้คำพูด แต่พาคนดูไปสู่โสตสัมผัสหรือใช้ความรู้สึก ผ่านการตีความทางพฤติกรรมของตัวละครมากกว่าบทสนทนา โดยการนำเสนอผ่านภาพอันซับซ้อนชวนสงสัยในจิตใต้สำนึกของผู้หญิงสองคนนี้

อิงมาร์ เคยเขียนเล่าไว้ในหนังสือของตัวเองไว้ว่า ตัวเขารู้สึกหมือนตัวละครในหนังเรื่องนี้และ Persona เป็นภาพยนตร์ที่สำคัญต่อชีวิตของเขาด้วยเช่นกัน เพราะมันเป็นผลงานที่ถูกบันทึกไว้ว่า อิงมาร์ ได้สร้างภาพยนตร์ส่วนตัวที่เขาอยากจะเล่าอย่างอิสระไม่ใส่ใจว่าตัวหนังจะประสบความสำเร็จหรือไม่

แต่สุดท้ายเวลาผ่านไป Persona คือหนังปี 1966 ที่ยังคงถูกหยิบยกมาพูดถึงในวงการวิชาการด้านภาพยนตร์อยู่อย่างสม่ำเสมอ

 

ภาพประกอบ Youtube Video / Movieclips Classic Trailers

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image