สุจิตต์ วงษ์เทศ : สาดน้ำสงกรานต์ ไม่มีและไม่มาจากอินเดีย

สาดน้ำสงกรานต์ ประเพณี "เพิ่งสร้าง" ของไทยและอุษาคเนย์ (ภาพจาก https://www.matichon.co.th/lifest yle/news_526995)

สาดน้ำสงกรานต์มาจากไหน?

สงกรานต์กับเล่นสาดน้ำ นักค้นคว้าและนักวิชาการจำนวนหนึ่งพยายามอธิบายว่ามีคู่กันแต่ดั้งเดิมเริ่มกำเนิดมาจากเทศกาลสาดสีของอินเดียที่เรียกพิธีโฮลี (Holi) จากนั้นหน่วยงานของรัฐและสื่อมวลชนเคยมีรายงานตามคำอธิบายนั้นแบ่งปันสู่สาธารณชน

สงกรานต์มีสาดน้ำรุนแรงเพิ่งมีกว้างขวางอย่างยิ่งสมัยหลังๆ เมื่อไม่นานมานี้ เพื่อสนองตลาดท่องเที่ยวซึ่งได้ผลมาก แล้วทำรายได้มหาศาลเข้าประเทศ

สงกรานต์เก่าสุดไม่มีสาดน้ำ ตามหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีเรียงลำดับกว้างๆ ดังนี้

Advertisement

สมัยอยุธยาตอนต้น (ในโคลงทวาทศมาส) กล่าวถึงสงกรานต์ ไม่มีสาดน้ำ (สุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรก และไม่มีกล่าวถึงสงกรานต์) ตอนปลายสมัยอยุธยา (ในกาพย์ห่อโคลงฯ) เจ้าฟ้ากุ้งพรรณนาสงกรานต์ ไม่มีสาดน้ำ

สมัยกรุงธนบุรี-รัตนโกสินทร์ เสมียนมี กวี ร.3 แต่งนิราศเดือนโดยเริ่มต้นพรรณนาถึงสงกรานต์ ไม่มีสาดน้ำ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์เรื่องนางนพมาศ (แต่งในแผ่นดิน ร.3) พรรณนาพระราชพิธีเดือนห้า มี “ขึ้นปีใหม่” แต่ไม่มีสาดน้ำ

เมื่อไม่มีสาดน้ำสงกรานต์สมัยเก่าสุดในไทยตามหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดี ดังนั้นกำเนิดสงกรานต์ก็ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเทศกาลโฮลีสาดสีอินเดีย

Advertisement

แต่โฮลีมีส่วนเกี่ยวข้องประเพณีอย่างอื่นของไทย

เผาข้าว เจ้าแม่โพสพ

โฮลี เทศกาลสาดสีของอินเดีย มีในเดือนสาม (ราวกุมภาพันธ์-มีนาคม) น่าจะเป็นต้นแบบพิธีเผาข้าว พบในเอกสารสมัยอยุธยาเรียก พระราชพิธีธานยเทาะห์

อ. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) เคยเขียนบทความตั้งข้อสังเกตไว้นานแล้ว นอกจากนั้นยังบอกอีกว่าพิธีโฮลีของอินเดียมีโดยสรุป ดังนี้

โฮลีเริ่มด้วยพิธีบูชาหุ่นฟางรูปเจ้าแม่โฮลิกา เสร็จแล้วจุดไฟเผาหุ่นเจ้าแม่ แล้วเอาเถ้ากองไฟเจิมหน้าผาก

วันรุ่งขึ้นเล่นสาดสีเป็นพิธีกรรมเจริญพืชพันธุ์เพื่อความอุดมสมบูรณ์ แต่บางท้องถิ่นให้ผู้หญิงเล่นไล่ตีผู้ชาย (ปกติทำไม่ได้) เสมือนปลดปล่อยผ่อนคลายความตึงเครียดที่มีตลอดปีต้องอยู่ในอำนาจผู้ชาย

ผมอ่านแล้วตาสว่างกระจ่างใจมน เชื่อตามไปด้วยว่าโฮลีของอินเดียเป็นต้นตอประเพณีเผาข้าวในไทย แล้วกระตุ้นต่อมคิดต่อไปอีกว่าเป็นไปได้ไหม พิธีกรรมโฮลีเป็นต้นทางสร้างให้มี “เจ้าแม่โพสพ” ในไทย?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image