คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : วิกฤตโควิด โอกาสมนุษย์เงินเดือน

การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคจากเทคโนโลยี “ดิจิทัล” ทำให้หลายธุรกิจเผชิญหน้ากับสิ่งที่คาดเดาได้ยากทั้งความต้องการของลูกค้าที่ไม่เหมือนเดิม และคู่แข่งหน้าใหม่ที่แทบไม่รู้เลยว่าจะเป็นใคร เพราะ “ดิจิทัล” ทำให้คู่แข่งหน้าใหม่จากธุรกิจอื่นเข้ามาได้ง่ายขึ้นมาก

สึนามิ “ดิจิทัลดิสรัปชั่น” กระหน่ำใส่ทุกธุรกิจโดยถ้วนหน้า มากน้อยต่างกันไปใครปรับตัวได้ทันก็รอด ไม่ทันก็ไม่รอด ช้าหรือเร็วเท่านั้น ความรวดเร็วในการเรียนรู้ และปรับตัวจึงสำคัญมาก

เป็นยุคของปลาเร็วกินปลาช้า ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก

มากกว่านั้น “ดิจิทัลดิสรัปต์” ยังเป็นสิ่งใหม่ที่ประสบการณ์ในอดีตอาจไม่สามารถการันตีความสำเร็จในอนาคตได้

Advertisement

ว่ากันว่า โลกนี้มีสิ่งที่เราไม่รู้ มากกว่ารู้ แต่เรามักคิดว่า “รู้” ทั้งที่ “ไม่รู้”

เช่นกันกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ไม่เฉพาะเราแต่เป็นทั้งโลกที่กำลังเผชิญอยู่

ไวรัสโควิด-19 คือ สิ่ง (วิกฤต) ใหม่ ที่เราไม่เคยประสบพบเจอมาก่อนจึงต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการป้องกัน และการรักษา รวมถึงหลักปฏิบัติต่างๆ ทั้งส่วนบุคคล และองค์กร เช่น ในกรณีที่ตนเองหรือคนในครอบครัวอยู่ในกลุ่มเสี่ยง

Advertisement

และอีกมากมาย ไม่นับผลกระทบที่เกิดกับธุรกิจจากวิกฤตรอบนี้ ถ้าองค์กรใด บริษัทใดจะก้าวผ่านไปให้รอดได้ ไม่สามารถทำสำเร็จได้โดยใครคนหนึ่งคนใด แต่ต้องร่วมด้วยช่วยกันหลายฝ่าย

เรื่องการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) การงดไปพบปะสังสรรค์ และงดจัดงานที่ดึงคนมาอยู่รวมกันเพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม และทางกายภาพ (Social Distancing/Physical Distancing) ของแต่ละองค์กร แต่ละครอบครัว มีส่วนช่วยได้มาก

ใครอายุเกิน 40 คงอดนำวิกฤตรอบนี้ไปเปรียบเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ไม่ได้

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา “ประชาชาติธุรกิจ LIVE Forum” สัมภาษณ์ คุณธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์ ในหัวข้อ “คาถาฝ่าวิกฤต ชีวิต-ธุรกิจ หลังโควิด-19”

บางช่วงบางตอนพูดถึงเรื่องนี้

คุณธนาบอกว่า วิกฤตโควิด-19 มีทั้งความคล้าย และแตกต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ต่างคือวิกฤตต้มยำกุ้ง เป็นปัญหาของบริษัทใหญ่ เกิดจากบริษัทกู้หนี้ยืมสินเกินตัว เล่นใหญ่เกินตัว ในขณะที่ประเทศไม่แข็งแรงเรื่องการเงินการคลัง

“เมื่อบริษัทปิดคนตกงาน กลุ่มแรงงานยังกลับต่างจังหวัด ได้มีงานทำ แต่วิกฤตรอบนี้ยังไม่รู้ว่าจะหนักเท่าปี 40 และระยะยาวไหม ปี 40 ยังเป็นวิกฤตเฉพาะไทย และประเทศรอบข้าง ประเทศใหญ่ๆ ยังดี และมาช่วยเราได้ เช่น IMF แต่ครั้งนี้วิกฤตทั้งโลก และกระทบกับคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนมีรายได้น้อย”

กลุ่มแรงงานจากที่มีความเสี่ยงตกงาน เพราะเทคโนโลยีอยู่แล้ว เมื่อมี “โควิด-19” ยิ่งเสี่ยงตกงานเพิ่ม หรือมีชั่วโมง

การทำงานลดลง เพราะโรงงาน และบริษัทต่างๆ จะนำเทคโนโลยี และเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงานคนเร็วขึ้น

“เทคโนโลยีดิสรัปชั่นจะทำให้คนตกงานยอะ โรงงานพยายามใช้แมชชีนมากขึ้นอยู่แล้ว พอมีโควิดทำให้ตัดสินใจใช้เร็วขึ้น อีกปัจจัย คือหลังวิกฤตจะมีห้างร้านเจ๊งไป ส่วนบริษัทที่ยังอยู่จะรู้สึกแล้วว่าคนที่มีเยอะไปไหม”

แต่ในทุกวิฤต ไม่ได้มีแต่เรื่องแย่ๆ ข้อดีของวิกฤตต้มยำกุ้ง คือทำให้บริษัทใหญ่ระมัดระวัง และรอบคอบมากขึ้นเรื่องการบริหารจัดการเงิน และการลงทุนต่างๆ ทำให้เป็นบริษัทที่แข็งแรงขึ้น

สำหรับมนุษย์เงินเดือน “ธนา” บอกว่า นี่คือ “โอกาส” และควรต้องฉวยโอกาสนี้ไว้ให้มากที่สุด

“ผมได้ดิบได้ดีจากวิกฤตปี 40 ผมเป็นคนธรรมดา ปานกลางเท่านั้น เป็นเด็กต่างจังหวัด แต่ปี 40 ได้โอกาสทำงานที่คนอื่นไม่ทำ ตอนนั้นอยู่ดีแทค มีแต่เจ้าหนี้มาทวงทุกวัน ต้องไปเจรจากับเจ้าหนี้ โดนเจ้าหนี้ด่าเช้าด่าเย็น เป็นงานที่ไม่มีใครอยากทำ แต่ผมทำ จึงเป็นช่วงเปล่งศักยภาพ และพอจบวิกฤต เขาจะรู้ว่าใครเชื่อใจได้ ใครขยัน ใครมีน้ำใจ ใครไม่เกี่ยงงาน”

ในวิกฤตโควิด-19 ก็เช่นกัน การ Work From Home คือการทำงานจากที่บ้าน ไม่ใช่การ “พักผ่อนที่บ้าน” ถ้ารู้จักปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมจะเป็น “โอกาส”

“เรามาครึ่งทางของโควิดแล้ว มีโอกาสสร้างแบรนด์ตนเองได้ก็ในช่วงนี้ จะทำยังไงให้เราเป็นคนที่มีประโยชน์มาก และถ้าบริษัทจำเป็นต้องลดคน จะได้ไม่เป็นคนแรกที่โดน แต่เป็นคนแรกๆ ที่บริษัทรักษาไว้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image