สุจิตต์ วงษ์เทศ : ไม่การเมือง ความเป็นมนุษย์ไม่ปกติ

ข้อความและภาพเก่าพิมพ์ลงในกระดาษติดบนโต๊ะโลหะแบบพับวางอย่างเด่นชัดบริเวณลานอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นภาพขณะมีการจำหน่ายเสื้อในกิจกรรมชัตดาวน์ แบงค็อก ของ กปปส. บริเวณลานศาสตราจารย์ศิลป์ พร้อมข้อความ แล้วนี่ถือเป็นการด้อยค่าต่อ ศ.ศิลป์ พีระศรี หรือไม่ ซึ่งเป็นการตอบโต้ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ซึ่งโพสต์ข้อความแสดงความกังวลต่อการจัดกิจกรรมของนักศึกษา ศิลปากรไม่สายลมแสงแดด บริเวณลานอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี หน้าคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ว่าเป็นการด้อยค่าศาสตราจารย์ศิลป์ ด้วยการนำคำสอนและคติมาดัดแปลง อีกทั้งจัดกิจกรรมทางการเมือง ถือเป็นการฉวยโอกาส (ภาพและคำบรรยายปรับปรุงจาก https://www.matichon.co.th/politics/news_2013985)

สุจิตต์ วงษ์เทศ : ไม่การเมือง ความเป็นมนุษย์ไม่ปกติ

ไม่การเมือง – เผด็จการทหารยุคสงครามเย็นต้องการประชาชนพลเมืองไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง ไม่กระด้างกระเดื่องคนชั้นปกครอง ไม่แข็งข้อต่อรองเจ้าขุนมูลนายซึ่งเป็นข้าราชการ ตลอดจนนักเรียนนักศึกษาครูบาอาจารย์อยู่ในโอวาทอย่างเซื่องๆ

แต่ในโลกจริงของความเป็นมนุษย์ไม่เป็นไปตามต้องการของเผด็จการทหาร

7 สถาบัน เป็นชื่อหนังสือของนิสิตนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ.2507 ลงทุนเอง พิมพ์เอง ขายเอง มีเนื้อหาเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเมืองสมัยนั้นทั้งเสียดสีเผด็จการและต่อต้านสงครามเวียดนาม ผู้ทำหน้าที่บรรณาธิการ คือ พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ขณะนั้นเป็นนักศึกษาคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (และเป็นผู้สื่อข่าวเดลินิวส์)

ตอนนั้นผมเพิ่งเป็นน้องใหม่ เอ็นทรานซ์เข้าเรียนคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ติดตามนักศึกษารุ่นพี่ (ปี 4) ผู้ร่วมริเริ่มทำหนังสือ 7 สถาบัน ชื่อ พิสิฐ เจริญวงศ์ (ขณะนั้นเป็นหัวหน้านักศึกษาคณะโบราณคดี) นั่งเรือข้ามฟากจากท่าช้างวังหลวงขึ้นฝั่งท่าเรือวังหลัง ศิริราช แล้วเดินลัดเลาะไปโรงพิมพ์อยู่ปากซอยบ้านช่างหล่อ กำลังพิมพ์หนังสือ 7 สถาบัน พบ พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ดูแลงานพิมพ์อย่างมีความสุขและสนุกสนานกับนักศึกษาเพื่อนๆ กลุ่มธรรมศาสตร์

Advertisement

นับแต่นั้น 7 สถาบัน หนังสือรายสะดวกของนิสิตนักศึกษาขณะนั้นร่วมกันลงทุนเอง พิมพ์เอง ขายเอง ซื้อเอง เป็นที่รับรู้กว้างขวาง แล้วก็ เจ๊งเอง เพราะถูกรัฐบาลเผด็จการทหารสั่งให้หยุดเมื่อพิมพ์เผยแพร่ได้หลายปี (ผมจำไม่ได้ปีไหน?) ก่อนมีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ทุกวันนี้เมื่อนักเรียนนักศึกษาแสดงความเห็นทางการเมืองทำให้วุฒิสมาชิก (ในโอวาทเผด็จการทหาร) จำนวนหนึ่งลุกลี้ลุกลนทนไม่ได้ แล้วตำหนิว่านักเรียนนักศึกษาเหล่านั้นมีหน้าที่เรียนหนังสือไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง

ไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง เป็นข้อความต้องจำขึ้นใจสมัยเผด็จการทหารยุคสงครามเย็น เมื่อต้องยื่นคำขอต่างๆ ต่อเจ้าหน้าที่เพื่อกิจกรรมสาธารณะ ต้องมีข้อความสุดท้ายทุกครั้งว่า ไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง

Advertisement

ตอนเป็นนักเรียนโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล คณบดีคณะโบราณคดี เคยมอบให้ผมเดินเรื่องแทนเพื่อขออนุญาตจดทะเบียนออกวารสาร โบราณคดี ต่อตำรวจสันติบาลตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ข้อสุดท้ายต้องมีว่า ไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง ถ้าไม่ระบุอย่างนี้ก็ไม่ได้รับอนุญาต

กวี, ศิลปิน, ศิลปวิทยาการ ถูกอธิบายจากการศึกษาสมัยเผด็จการทหารยุคสงครามเย็นว่า ไม่การเมือง สืบเนื่องถึงสมัยเผด็จการทหารยุคโควิด-19 ดังนั้นสุนทรภู่ถูกอธิบายว่า ไม่การเมือง เป็นกวีบริสุทธิ์ผุดผ่องดังทองทา เพราะไม่แปดเปื้อนด้วยการเมือง

แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่เป็นอย่างนั้น กลับสอดคล้องต้องกันไปทางตรงข้ามว่าสุนทรภู่เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีหลักฐานตัวอย่างดังนี้

นิราศเมืองแกลง แต่งเมื่อเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเมืองแกลง (จ.ระยอง) เป็นงานการเมืองแบบ ราชการลับ ที่สุนทรภู่บอกเองว่า แม้นเจ้านายท่านไม่ใช้แล้วไม่มา หมายถึง เจ้านายวังหลวงหรือวังหลังใช้ให้ไปสื่อสารราชการสำคัญและเป็นความลับแก่บิดาที่บวชเป็นภิกษุอยู่ในบ้านกร่ำ เมืองแกลง

บวชหนีราชภัย เมื่อ ร.2 สวรรคตแล้วบรรดาขุนนางข้าราชการเชิญกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ราชโอรสองค์โตขึ้นเสวยราชย์เป็น ร.3 ทำให้สุนทรภู่ต้องออกบวช หนีราชภัย เพราะแนวคิดทางการเมืองของสุนทรภู่อยู่ตรงข้าม ร.3 โดยฝักใฝ่เลือกข้างเจ้าฟ้ามงกุฎ (ต่อไปข้างหน้าคือ ร.4)

พระอภัยมณี เป็นวรรณกรรมที่สุนทรภู่แต่งแสดงความคิดการเมืองต่อต้านการล่าเมืองขึ้นของอังกฤษ เพราะขณะนั้นอังกฤษยึดอินเดีย, ลังกา แล้วกำลังล่าเมืองขึ้นเข้าพม่า, มลายู ฯลฯ และน่าจะกระเทือนถึงสยาม

การศึกษาสมัยเผด็จการทหารยุคสงครามเย็นราว 60 ปีที่แล้วเป็นอย่างไร การศึกษาสมัยเผด็จการทหารยุคโควิด-19 ก็ไม่ไกลกันนัก จึงมีครูบาอาจารย์มหาวิทยาลัยบางพวกคิดว่าศิลปวิทยาการ ไม่การเมือง ดังนั้นดนตรี, วรรณคดี, โบราณคดี, ประวัติศาสตร์ ฯลฯ บริสุทธิ์ผุดผ่องดังทองทาไม่แปดเปื้อนการเมืองประชาธิปไตย แต่ในชีวิตจริงฝักใฝ่การเมือง เป่านกหวีด สรรเสริญเผด็จการทหาร

อันที่จริง กินขี้ปี้นอน ของคนทุกคนหนีไม่พ้นการเมือง ดังนั้นขี้เยี่ยวก็เกี่ยวการเมือง เพราะอาหารที่คนกินดื่มลงท้องก่อนขับถ่ายล้วนเป็นผลผลิตทางเศรษฐกิจ-การเมือง

ไม่การเมือง เป็นวาทกรรมสำนึกเผด็จการทหารที่ต้องการอยู่ยาวเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image