สุจิตต์ วงษ์เทศ : ศิลปะเพื่อศิลปะ ของเผด็จการยุคสงครามเย็น

นาตาแฮก ราว 2,500 ปีมาแล้ว (ต้นตอแรกนาขวัญ) ประกอบด้วยรูปต่างๆ ได้แก่ คน, ต้นข้าว, วัวควาย, ขวัญ (ลายหยักๆ) ถูกทิ้งหมด เพราะคิดเหมาว่าไม่ไทยและไม่ “เพื่อศิลปะ” (ลายเส้นคัดลอกโดยกรมศิลปากร จากภาพที่ผาหมอนน้อย อ.โขงเจียม จ. อุบลราชธานี)

“ศิลปะเพื่อชีวิต” เป็นพวกสังคมนิยม และเป็นคอมมิวนิสต์ ส่วน “ศิลปะเพื่อศิลปะ” เป็นคนดี เป็นพวกไม่คอมมิวนิสต์ ไม่สังคมนิยม เหล่านี้เป็นนิยามของฝ่ายนิยมสหรัฐอเมริกาที่ต่อต้านโซเวียตยุคสงครามเย็น เมื่อแพร่หลายถึงไทยใช้เป็นเครื่องมือกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองสมัยเผด็จการทหาร

“คุณค่าของศิลปะมิอาจวัดได้ด้วยตัวของมันเอง หากวัดด้วยความหมาย ผลสะท้อนและคุณประโยชน์อันพึงมีต่อมวลมนุษยชาติ” เป็นข้อความบนหน้าแรกของหนังสือ รับน้องใหม่ ของนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร พิมพ์ออกมาแจกในงานรับน้องใหม่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2500 จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนถึงอย่างยกย่องสรรเสริญลงในหนังสือพิมพ์ยุคนั้น แล้วจิตรบอกอีกว่ายังมีบทแปลสำคัญอยู่ด้วยที่ “เสฐียร โกเศศ” สรุปใจความเรื่อง “ศิลปะคืออะไร” ของ ลีโอ ตอลสตอย นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ของรัสเซีย

ต่อมา พ.ศ. 2507 ผมสอบเอ็นทรานซ์ผ่านเป็นน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยไม่เคยรู้มาก่อนเรื่องหนังสือรับน้องใหม่ พ.ศ.2500 และไม่มีใครพูดถึงไม่ว่ารุ่นพี่หรือใครๆ เข้าใจว่าจะถูก “ปิดปาก” ด้วยอำนาจกฎหมายลงโทษ “ผู้มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์” ของเผด็จการทหารยุคสงครามเย็นขณะนั้นซึ่งแข็งแกร่งดุดันและดุเดือดมาก

มหาวิทยาลัยศิลปากร (ตอนนั้น) มีพื้นที่อยู่หลังอาคารกรมศิลปากร (สนามหลวง) มี 4 คณะ ได้แก่ จิตรกรรมฯ, สถาปัตย์, โบราณคดี, มัณฑนศิลป์ (มีนักศึกษาคณะละไม่ถึง 30 คน รวมแล้วปีละราว 100 คน ทั้งหมดมหาวิทยาลัยมีไม่ถึง 400 คน) เป็นส่วนราชการหนึ่งของกรมศิลปากร โดยมีอธิบดีกรมศิลปากรเป็นผู้อำนวยการมหาวิทยาลัย (โดยตำแหน่ง) จึงไม่มี “อธิการบดี” เหมือนมหาวิทยาลัยอื่นๆ สมัยนั้น

Advertisement

[ผมสมัครสอบเอ็นทรานซ์เข้าคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เพราะไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนตอนเรียนมัธยมต้น, มัธยมปลาย เชื่อว่ามีคนไม่รู้จัก (เหมือนผม) อีกมาก (สมัยนั้นไม่มีเอกสารแนะนำเข้าถึงง่ายเหมือนปัจจุบัน) จึงน่าจะมีคู่แข่งน้อยและมีโอกาสมากที่จะผ่านเอ็นทรานซ์ ซึ่งผมเพียงอยากเข้าเรียนมหาวิทยาลัยให้พ่อแม่ภูมิใจในความเป็นบ้านนอกขอกนาแค่นั้น จะสมัครสอบแข่งคณะอื่นมหาวิทยาลัยอื่นแค่คิดก็หมดสิทธิ์ เพราะคะแนนมัธยมปลายต่ำมากเกือบไม่ผ่าน จึงตัดสินใจสมัครสอบเข้าคณะที่ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนน่าจะปลอดภัยที่สุด]

ทั่วทั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรสมัยนั้นไม่เคยได้ยินแนวคิด “ศิลปะเพื่อชีวิต” หรือ “ศิลปะเพื่อประชาชน” เพราะข้อมูลข่าวสารความรู้ต้องรับด้านเดียวที่ทางการกำหนดคือ “ศิลปะเพื่อศิลปะ”, เป็น “ศิลปะบริสุทธิ์” คือ “ศิลปะเป็นทิพย์” ใครคิดต่างจากนี้ซึ่งหมายถึงใครที่เลื่อมใสศิลปะเพื่อชีวิต นั่นเป็นศิลปะไม่บริสุทธิ์ ไม่เป็นทิพย์ เป็นผีปอบผีบ้าผีคอมมิวนิสต์

แนวคิด “ศิลปะเพื่อศิลปะ” มีส่วนสำคัญทั้งผลักดันและกระตุ้นให้นักโบราณคดีไทย ในประวัติศาสตร์ศิลป์ เน้น “ศิลปะไทย” เป็นศิลปะบริสุทธิ์ของคนเชื้อชาติไทยบริสุทธิ์ เช่น ศิลปะสุโขทัย อาณาจักรสุโขทัย (ราชธานีแห่งแรก) โดยตัดทิ้งหลักฐานเก่าแก่ก่อนหน้านั้น ได้แก่ ภาพเขียนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตามเพิงผาและผนังถ้ำ, ประติมากรรมดินเหนียวประเภท “ตุ๊กตาเสียกระบาน” เป็นต้น แล้วมีอำนาจอยู่ในระบบการศึกษาไทยตามความปรารถนาของเผด็จการทหารยุคสงครามเย็นสืบเนื่องถึงยุคปัจจุบัน “เผด็จการโควิด” ที่แอบอ้างประชาธิปไตย

Advertisement

ยุคสงครามเย็น เผด็จการทหารต่อต้านคอมมิวนิสต์ได้ผลักดันและกระตุ้นแนวคิดด้านเดียวทาง “ศิลปะเพื่อศิลปะ” ครอบงำการศึกษาภาษาและวรรณคดีไทยเอียงข้างสุนทรียศาสตร์อย่างไม่ลืมหูลืมตา (ตราบจนทุกวันนี้) ใครคิดต่างไปทางนิรุกติศาสตร์ซึ่งมีสังคมและเศรษฐกิจ-การเมือง เป็นโดนดีถึงชีวิตซึ่งมีพยานยิ่งใหญ่คือ จิตร ภูมิศักดิ์

New normal หลังโควิด-19 เป็นแค่วาทกรรมทำเท่เท่านั้น แต่ในแนวคิดชีวิตจริงยังอยู่ใน Old normal ย้อนยุคสงครามเย็น เห็นได้ชัดจากประกาศภาวะฉุกเฉินของวิธีคิดแบบเผด็จการทหารเพื่อต่อสู้ศัตรูร่วมชุดใหม่ (สร้างขึ้นแทนคอมมิวนิสต์) ชื่อ โควิด-19

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image