คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : จุฬาฯท็อป 100 โลก

ขอแสดงความยินดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดอันดับ 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกในด้านวิชาการ

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน QS World University Rankings ได้ประกาศผลจัดลำดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก

ปรากฏว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อันดับที่ 96 ในด้านวิชาการ

กลายเป็นมหาวิทยาลัยไทยแห่งแรกที่เป็น 1 ใน 100 ของโลกด้านวิชาการ

Advertisement

ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมหาวิทยาลัยทั่วโลกที่ได้รับการจัดอันดับมีถึง 1,604 แห่ง แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 100 ของโลกในด้านวิชาการ

เรื่องดีๆ แบบนี้น่านำมาขยาย

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ เล่าว่า สาเหตุที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับเลือก เป็นเพราะชื่อเสียงของจุฬาฯ ทางวิชาการได้รับการยอมรับ

Advertisement

การโหวตจัดอันดับมหาวิทยาลัยนี้ ผู้มีสิทธิโหวตเป็นบุคคลระดับอธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี ศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ กว่าแสนคน

คนหนึ่งโหวตได้ 40 ชื่อ ใน 40 ชื่อนี้สามารถโหวตให้มหาวิทยาลัยในประเทศตัวเองได้ 10 ชื่อ

อีก 30 ชื่อต้องโหวตให้มหาวิทยาลัยนอกประเทศ

ปรากฏว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับเสียงโหวตจากนักวิชาการมหาวิทยาลัยทั่วโลกอย่างมาก

เสียงจากต่างประเทศโหวตให้จุฬาฯ มากกว่าเสียงจากในประเทศเสียอีก

ยืนยันว่า มาตรฐานด้านวิชาการของจุฬาฯได้รับการยอมรับ

น่าจะยินดีที่วิชาการของไทยได้รับการยอมรับจากโลก

อาจารย์บัณฑิตเล่าถึงทิศทางการบริหารงานของจุฬาฯว่า ยึดหลัก 3 ประการ

หนึ่ง คือ พัฒนาคน สอง คือ สร้างสรรค์นวัตกรรม สาม คือ นำสังคมสู่ความยั่งยืน

ทั้งสามประการมุ่งตอบสนองความต้องการของสังคม

ขยายความคำว่า “พัฒนาคน” ด้วยรูปธรรมการเปิด mooc หลักสูตรทางออนไลน์กว่า 100 หลักสูตร ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงวิชาการได้ทางอินเตอร์เน็ต

ส่วนการ “สร้างสรรค์นวัตกรรม” นั้น มีความต่อเนื่องจากการตั้ง “อินโนเวชั่น ฮับ” “สยามอินโนเวชั่น ดิสทริก”

การส่งเสริมให้ “Idea” มาเจอกับ “I do” แล้วกำเนิดเป็นสตาร์ตอัพ

งานวิจัยที่เคยถูกมองว่าอยู่แต่บนหิ้ง เดี๋ยวนี้นำมาประยุกต์ใช้กับสังคมได้แล้ว

เห็นชัดๆ ตอนที่โควิด-19 ระบาด

เมื่อมีคำร้องขอเรื่อง “เว้นระยะห่าง” หุ่นยนต์รุ่นต่างๆ ก็อุบัติขึ้น เพื่อช่วยเหลือแพทย์พยาบาล

หุ่นยนต์ปิ่นโต ทำหน้าที่ส่งอาหารให้ผู้ป่วย หุ่นยนต์กระจกเคลื่อนไปหาและสื่อสารกับผู้ป่วย หุ่นยนต์นินจาเข้าไปตรวจเช็กดูอาการ

รวมถึง รถซียู-กองหนุน ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ร่วมกันออกแบบ

จัดทำเป็น “ห้องความดันบวก” ติดล้อ สามารถบังคับให้เคลื่อนที่ได้

เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เข้าไปในตัวรถ สามารถบังคับให้เคลื่อนที่เข้าหาผู้ป่วย

จากนั้นสอดมือผ่านถุงมือทางการแพทย์เพื่อตรวจร่างกายผู้ป่วย

ห้องที่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์นั่งอยู่มีความดันสูงกว่าปกติ ทำให้เชื้อโรคเข้าไปไม่ได้

ขณะนี้รถซียู-กองหนุน ส่งไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ 50 แห่ง

นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมที่เกิดจาก ไอเดีย (Idea) และ ไอ ดู (I do) อีก เป็นผลงานจากคณะเภสัชศาสตร์ ที่ผลิตน้ำยาฉีดหน้ากากผ้า

เนรมิตให้หน้ากากผ้ามีคุณสมบัติป้องกันเชื้อโรคได้

ป้องกันฝุ่น PM2.5 ก็ได้

น้ำยาดังกล่าวแรกๆ แจกให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปใช้ แต่ขณะนี้มีเอกชนสนใจนำไปทำการค้า

กลายเป็นสตาร์ตอัพที่เกิดขึ้นและเติบโตในช่วงโควิด-19

จังหวะเดียวกัน คณะเภสัชฯ ยังร่วมมือกับคณะแพทยฯ วิจัยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่พัฒนาจากใบยาสูบ

อีก 2 เดือนจะเริ่มทดลองในคน ซึ่งมี 3 ระยะ ใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปี

ถ้าได้ผลก็สามารถฉีดให้คนไทยได้

อาจารย์บัณฑิตบอกว่า ผลการวิจัยทางวิชาการของจุฬาฯ ต้องนำมาใช้ได้จริง

สร้างสรรค์ให้เป็นนวัตกรรมของสังคมได้

เพราะจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องการเป็นต้นแบบมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมเพื่อสังคม จึงกระจายข่าวให้ทุกคณะคิดค้นนวัตกรรม

ดร.เอกก์ ภทรนกุล ผู้ช่วยอธิการบดี เล่าให้ฟังตอนหนึ่งว่า นอกจากคณะวิศวะ คณะสถาปัตย์ คณะเภสัช แล้ว คณะอื่นๆ ก็มีนวัตกรรม

ยกตัวอย่าง คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สร้างหลักสูตรมาร์เก็ตติ้งระยะสั้น “ควิก นาโน เอ็มบีเอ ฟรอม โฮม” (Quick Nano MBA From Home) อบรม 14 ครั้ง ตอบสนองการแก้วิกฤตเศรษฐกิจที่พังพาบจากฤทธิ์โควิด

ความรู้เหล่านี้กำลังกระจายไปยังคนไทยที่ประสงค์ค้าขาย

จะได้มีวิชาไปสร้างชีวิต

เช่นเดียวกับคณะอื่นๆ ที่มีโครงการเพื่อสังคมทำนองนี้

ขณะที่อาจารย์บัณฑิตเชื่อว่าผลงานทางวิชาการที่สร้างประโยชน์ต่อสังคมไทย คือ ปัจจัยหลักที่ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็น 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของโลกด้านวิชาการ

ผลที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ

น่าภูมิใจเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนจากความคิดและฝีมือคนไทย

การใช้วิชาการหรือนวัตกรรมเพื่อสังคม ทำให้ระยะห่างระหว่าง “วิชาการ” กับ “มวลชน” ลดลง

ยิ่งวงการมหาวิทยาลัยโลกเทคะแนนให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยติด 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกด้านวิชาการ เพราะเหตุนี้

ยิ่งตอกย้ำว่า โลกอยากได้ “วิชาการ” ที่ตอบสนองสังคม

เป็น “วิชาการ” ที่สัมผัสได้ และมีเป้าหมายเพื่อตอบสนองประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image