คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : สังคมของพวกเรา

แฟ้มภาพ

แม้โลกจะยังคงกลัดกลุ้มกับการระบาดของโรคโควิด-19 แต่สำหรับประเทศไทยนั้นมีเวลาได้คิดในการก้าวเดินต่อไปข้างหน้าแล้ว

เมื่อการควบคุมการระบาดของโรคได้ผล ไทยก็ต้องมาคิดกันล่ะว่า ก้าวต่อไปทางเศรษฐกิจและสังคมจะทำกันอย่างไร

ในช่วงเวลานี้จึงเป็นห้วงเวลาที่ทุกภาคส่วนต้องคิด คิด และก็คิด

ช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนที่โลกจะพ้นวิกฤต จึงเป็นโอกาสให้หลายไอเดียบรรเจิดขึ้น

Advertisement

หนึ่งในไอเดียที่นำเสนอ มีไอเดียของ สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม รวมอยู่ด้วย

อาจารย์สุวิทย์ถ่ายทอดแนวคิดลงในหนังสือชื่อ “โลกเปลี่ยน คนปรับ หลุดจากกับดัก ขยับสู่ความยั่งยืน”

เป็นการมองโลกและคนหลังยุคโควิด-19

Advertisement

มองในแง่เศรษฐกิจ อาจารย์สุวิทย์ตอกย้ำโมเดล BCG Economy ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหลังโควิด

B คือ Bioeconomy เศรษฐกิจชีวภาพ C คือ Circular เศรษฐกิจหมุนเวียน และ G คือ Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว

โมเดลดังกล่าวหลายคนคงทราบข้อมูลและเห็นตามข่าวสารเป็นระยะแล้ว

นอกจากนี้ อาจารย์สุวิทย์ยังเสนอไอเดียปรับเปลี่ยนคนและสังคมหลังยุคโควิด-19 ด้วย

ถือเป็นไอเดียที่มองโลกในแง่ดี

เป็นไอเดียที่มองว่า หลังยุคโควิด-19 สังคมจะมีการเปลี่ยนแปลง

เปลี่ยนจาก “สังคมของพวกกู” ไปเป็น “สังคมของพวกเรา”

สภาพสังคมของพวกกู เต็มไปด้วยแนวคิด “ตัวกูของกู” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ทำให้โลกไร้สมดุล

เมื่อมนุษย์กับมนุษย์ไร้สมดุล ก่อเกิดเป็นปัญหาเหลื่อมล้ำ

เมื่อมนุษย์กับธรรมชาติไร้สมดุล ก่อเกิดเป็นปัญหาความไม่ยั่งยืน

ความไร้สมดุลทำให้โลกเกิดความเสี่ยง และเกิดวิกฤตเชิงซ้อน วิกฤตซ้ำซาก

จึงเชิญชวนให้ร่วมแรงร่วมใจกันเปลี่ยนแปลงสภาพของสังคม

จาก “สังคมของพวกกู” ไปเป็น “สังคมของพวกเรา”

สภาพสังคมใหม่จะเกิดขึ้นหลังโควิด

สภาพสังคมหลังโควิดจะเปิดโอกาสให้ข้อมูลไหลเข้าออกจากบุคคล หรือองค์กร

วัฒนธรรมองค์กรในยุคต่อไปจะเคลื่อนด้วยระบบเปิด คือ เป็นองค์กรที่มีทั้ง Free to Take และ Free To Share

ไอเดียนี้หากเกิดขึ้นจริง จะลบล้างวัฒนธรรมเดิมที่มุ่งปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา

แต่จะเกิดวัฒนธรรมการแบ่งปันที่ทำให้เกิดการสร้างโอกาสใหม่

การเปิดกว้าง การแบ่งปัน และการร่วมมือกัน จะนำไปสู่ต้นทุนการทำธุรกรรมที่ลดลง

การแบ่งปัน และร่วมมือ จะกำเนิด “ทรัพยากรเชิงคุณธรรม” ที่ใช้ได้แบบไม่มีวันหมด

และนำไปสู่การเชื่อมโยงผู้คนต่างชนชั้น ต่างชาติพันธุ์ ต่างวัฒนธรรม

หนังสือเล่มเดียวกันนี้ มองว่า “สังคมของพวกเรา” จะเกิดขึ้นได้ ทุกภาคส่วนต้องมี “สัญญาประชาคมชุดใหม่”

ต้องทำให้สังคมเป็นสังคมที่ “Clean&Clear” เป็นสังคมที่ “Free&Fair” และเป็นสังคมที่ “Care&Share”

สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องมี “พันธสัญญา 7 ข้อ” คอยค้ำจุนไว้

เริ่มจากมี “สังคมนิติธรรม” คือ ปกครองโดยกฎหมาย หรือ Rule of Law

มี “สังคมธรรมาธิปไตย” ที่ใช้มาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมมากกว่ามาตรฐานทางกฎหมาย

มี “สังคมเปิด” ที่ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรและสิทธิประโยชน์ต่างๆ

มี “สังคมแห่งโอกาส” ที่ส่งเสริมให้มีการเลื่อนไหลในชนชั้นอย่างอิสระ ปรับเปลี่ยนสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมไปตามความรู้ ความสามารถ ศักยภาพ บนหลักคิดของความเท่าเทียม

มี “สังคมเติมพลังประชาชน” ที่เติมอำนาจ เสริมศักยภาพของประชาชน

มี “สังคมแห่งความพอเพียง” ที่คนเมื่อ “ขาด” ต้องรู้จัก “เติม” เมื่อ “พอ” ต้องรู้จัก “หยุด” เมื่อ “เกิน” ต้องรู้จัก “ปัน”

และมี “สังคมพหุวัฒนธรรม” ที่ยอมรับและเคารพความหลากหลายของชาติพันธุ์ อัตลักษณ์ คุณค่า และความเชื่อที่แตกต่าง

สำหรับประเทศไทย อาจารย์สุวิทย์เสนอว่า ต้องมียุทธศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนแนวทาง 3 ประการ

หนึ่ง สร้างความเข้มแข็งจากภายใน

สอง เดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สาม น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งพัฒนาที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ ต้องปรับสมดุลเชิงโครงสร้าง 4 มิติ คือ “ปรับสมดุลระหว่างรัฐกับชาติ” เพื่อให้การพัฒนารัฐผ่านกระบวนการพัฒนาระบบราชการ และการพัฒนาชาติผ่านกระบวนการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ขับเคลื่อนไปในทางเดียวกัน

“ปรับสมดุลในการพัฒนา” จากการเน้นสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เป็นการสร้างความสมดุลด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และภูมิปัญญามนุษย์ไปพร้อมๆ กัน

“ปรับสมดุลในการปกครอง” ให้เกิดสังคม “Clean&Clear” “Free&Fair” และ “Care&Share”

และ “ปรับสมดุลเชิงวัฒนธรรม” เพื่อรองรับความหลากหลาย

ทั้งหมดนี้เพื่อปรับไทยให้เป็น “สังคมของพวกเรา”

หากทุกอย่างเป็นไปตามนี้ได้ก็คงจะดี เพียงแต่ด้วยสถานการณ์ของไทย จะบันดาลให้เกิด “สังคมของพวกเรา” ได้แค่ไหน

ลองกลับไปพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่จะทำให้เกิด “สังคมของพวกเรา” กันอีกครั้ง แล้วคงมีคำตอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image