คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : สงครามความอร่อย

ภาพโดย Free-Photos จาก Pixabay

ช่วงนี้ธุรกิจการเงินคึกคักอย่างยิ่งในแง่การเปิดตัวบริการรูปแบบใหม่ที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน นำโดย 2 ธนาคารใหญ่ เปิดเกมด้วย “เอสซีบี” “ฟู้ดดิลิเวอรี” แพลตฟอร์ม ชื่อ “โรบินฮู้ด” ที่จะเผยโฉมกรกฎาคมนี้

ตามด้วย “โซเชียล แชทบอท” ของเคแบงก์ พัฒนาโดย KBTG บริษัทเทคโนโลยีในเครือ แม้ไม่ได้จำกัดแค่เรื่องอาหารการกิน แต่ที่มาของ “เพนพอยต์” จนนำไปสู่ “ขุนทอง-เหรัญญิก 4.0” มาจากปัญหาเรื่องการหารบิล และทวงเงินเมื่อนัดสังสรรค์ในกลุ่มเพื่อน

ล่าสุด KBTG ขยับอีกรอบด้วยการเปิดตัวแพลตฟอร์มสั่งอาหารครบวงจร Eatable (อีทเทเบิล) ซึ่งต่างไปจาก

“โรบินฮู้ด” ของเอสซีบี คือไม่ได้เน้น “ฟู้ดดิลิเวอรี” แต่มองไปถึงการให้ลูกค้าสั่งอาหารทานในร้านได้ด้วยผ่านเมนูออนไลน์ไร้สัมผัส (Contactless)

Advertisement

ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคทั้ง NOW และ NEW NORMAL แถมมองไปถึงปลายปีที่จะต่อยอดไปให้บริการนักท่องเที่ยวจีนสั่งอาหารในไทย

นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวว่า ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมหาศาลจากวิกฤตโควิด-19 คือธุรกิจร้านอาหาร ปัจจุบันแม้จะกลับมาเปิดได้แล้วแต่ในแง่ยอดขายก็ยังติดลบถึง 70% เทียบปีที่แล้ว

“ร้านต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เช่น ไปนั่งที่ร้านแต่ไม่อยากสัมผัสเมนู ขณะที่มาตรการเรื่องความปลอดภัยทำให้ร้านอาหารมีโต๊ะน้อยลงจึงต้องการความเร็วเพื่อให้มีรายได้คุ้มกับค่าใช้จ่าย”

Advertisement

เป็นโจทย์ใหม่ของภาคธุรกิจที่มาพร้อมวิกฤตโควิด-19 แม้แต่ร้านกาแฟแบรนด์ดัง “สตาร์บัค” ที่เคยวางตนเองเป็น Third Place ยังต้องปรับโพสิชั่นไปสู่ Save Place เน้นเรื่องความปลอดภัย

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าปีนี้ธุรกิจร้านอาหารจะมีมูลค่า 3.8 แสนล้านบาท หดตัวเกือบ 10% จากปีที่ผ่านมา เนื่องจากลูกค้าระมัดระวังตัวในการออกไปทานอาหารนอกบ้านจากปัญหาการระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคบางส่วนเปลี่ยนไปใช้บริการ “ดิลิเวอรี” มากขึ้น ส่งผลให้ร้านอาหารยุคใหม่ต้องผสมผสานการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้า

“โลกสมัยใหม่อยู่ที่ว่าจะเรียนรู้และปรับตัวได้เร็วแค่ไหน เคแบงก์เป็นนัมเบอร์วันด้านเอสเอ็มอี คำถามที่มักมีคนถามผมเสมอคือก่อนจะทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ขั้นแรกต้องทำไง การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นสำหรับเอสเอ็มอีต้องทำอย่างไร”

การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม “Eatable” คือคำตอบ เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำ “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น” ขั้นแรก ให้กับธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤตโควิด-19

“เดิมโปรดักส์นี้ทำเกือบเสร็จจะเปิดตัว เมษายน แต่พอมีโควิดเปลี่ยนทุกอย่าง ทีมงานต้องปรับกันใหม่จากเดิมเน้นตอบโจทย์การทานอาหารนอกบ้านก็ทำเพิ่มเติมให้สามารถสั่งทานในร้านได้ด้วย เป็นระบบสั่งอาหารออนไลน์รูปแบบใหม่ครบวงจร ไม่ว่าจะทานที่ร้านหรือต้องการให้จัดส่งให้ คือได้หมดทั้ง Dine-in Dine-Out และ Delivery”

สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้คือ ต้องใช้งานง่ายด้วย ทั้งสำหรับลูกค้าและผู้ประกอบการร้านอาหาร จึงไม่ต้องโหลดแอพพ์หรือหาซื้ออุปกรณ์ใหม่ให้ยุ่งยาก และจะเชื่อมเข้าสู่บริการรับชำระเงินแบบออนไลน์ได้ในเดือนกันยายนนี้ ทำให้ “สั่งครบจ่ายจบได้” ในช่องทางเดียว

ผู้บริหาร KBTG มองว่าจะเป็นทางออกในการช่วยแก้ไขปัญหาและความยุ่งยากที่ธุรกิจร้านอาหารต้องเผชิญได้ ถือเป็นการต่อยอดนโยบายของธนาคารกสิกรไทยที่ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้รอดพ้นจากพิษวิกฤตโควิด-19 ไปได้ด้วยกันจึงไม่มีการจัดเก็บค่าส่วนแบ่ง และคิดค่าธรรมเนียมใดๆ ในการใช้งานใดๆ

“ปลายปีนี้ เรายังจะมีการเปิดตัวมินิโปรแกรมชื่อ ไคไท่เตี่ยนไช่ ซึ่งเป็นบริการสั่งอาหารสำหรับนักท่องเที่ยวจีนผ่านแอพพ์วีแชทด้วย”

ในฟากของผู้บริโภค เมื่อต้องการทานอาหารในร้านที่เข้าร่วมโครงการกับ Eatable กรณีสั่งทานที่ร้านก็ทำได้โดยสแกน “คิวอาร์โค้ด” ที่ติดบนโต๊ะ หรือเปิดลิงก์ที่ Eatable สร้างให้เพื่อสั่งอาหารผ่านเมนูออนไลน์แบบไร้สัมผัส (Contactless)

นอกจากมีความปลอดภัยแล้วยังทำให้ไม่ต้องรอให้พนักงานมารับออเดอร์ โดยเลือกทานในร้านทันทีหรือสั่งอาหารล่วงหน้าก็ได้ หากมีสมาชิกหลายคน และอยู่คนละที่ยังแยกกันสั่งแล้วมารวมโต๊ะกันได้ หรือจะรับกลับบ้านโดยกำหนดเวลาในการรับอาหารได้ทำให้ไม่ต้องรอหน้าร้านนานๆ

ส่วนบริการ “ดิลิเวอรี” ก็ทำได้ด้วยการกดลิงก์ที่ร้านอาหารลงไว้ในทุกๆ ช่องทางแล้วสั่งอาหารผ่านเมนูออนไลน์ได้เลย มีให้เลือกส่งหลายรูปแบบจะเป็นคนของร้านไปส่งเองหรือให้ร้านอาหารเลือกผู้ให้บริการจัดส่งที่คุ้มที่สุดก็ได้

Eatable มีระบบช่วยแนะนำส่วนลด และค่าจัดส่งที่เหมาะสมให้ร้านอาหารใช้อ้างอิงเพื่อให้ส่วนลดค่าบริการจัดส่งแก่ลูกค้าที่สั่งอาหารโดยตรงกับร้านได้ด้วย

“ดิจิทัล” ไม่เพียงทำให้ธุรกิจก้าวข้ามพรมแดนไปสู่ธุรกิจใหม่และนำเสนอสิ่งใหม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้นเท่านั้น การแข่งขันยังนำมาซึ่งทางเลือกที่หลากหลายสำหรับผู้บริโภคด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image