คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : มุมมองผู้บริโภคหลังโควิด-19

REUTERS/Ann Wang

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลลามไปทั่ว แม้สถานการณ์ในบ้านเราจะเริ่มคลี่คลายแต่ในหลายประเทศยังไม่ดีขึ้นนัก และส่งผลต่อหลายสิ่งที่จะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิมได้อีก

การปรับตัวเพื่อให้อยู่ให้ได้กับความจริงที่ว่าความไม่แน่นอนยังคงเป็นความแน่นอนจึงเกิดขึ้นทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว องค์กร และประเทศ

บริษัทวิจัยระดับโลก PwC ได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคทั่วโลกทางออนไลน์ 2 ครั้ง ทั้งก่อนและหลังสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19

โดยครั้งแรกรวบรวมความคิดเห็นของผู้บริโภค 19,098 ราย จาก 27 ประเทศ และ 74 เมือง ระหว่างสิงหาคม-กันยายน 2562

Advertisement

ครั้งที่ 2 จากผู้บริโภค 4,447 ราย ใน 9 ประเทศ และ 35 เมือง ระหว่างเมษายน และพฤษภาคม 2563

รายงาน Global Consumer Insights Survey ของ PwC ตอกย้ำชัดเจนว่า แนวโน้มและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่แล้วก่อนการมาถึงของโควิด-19 ได้เร่งความเร็วขึ้นไปอีก ทำให้บริษัทและผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกที่สัมผัสกับผู้บริโภคโดยตรงต้องพลิกแนวทางการทำธุรกิจกันใหม่

การสำรวจความคิดเห็นทั้ง 2 ครั้ง เน้นไปที่ลักษณะและพฤติกรรมในการซื้อของผู้บริโภคในเมือง และแสดงให้เห็นว่าการดิสรัปชั่นที่เกิดขึ้นทั่วโลกเข้ามาเร่งให้เกิดวิถีชีวิตแบบดิจิทัลได้อย่างไร

Advertisement

ผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลกอาศัยอยู่ในเมือง และการกระจุกตัวกันได้ก่อให้เกิดยุคใหม่แห่งการบริโภคทั่วโลก นั่นคือ “เมือง” ได้กลายเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ผลสำรวจระบุว่าการแพร่ระบาดและมาตรการเว้นระยะทางสังคมเข้ามาพลิกแนวทางในการทำงาน รับประทานอาหาร ติดต่อสื่อสาร และดูแลสุขภาพของผู้บริโภคในระดับรากฐาน เพราะกระทบทุกแง่มุมของชีวิต รวมถึงแนวทางการซื้อของกินของใช้ด้วย

แม้การซื้อของที่ร้านจะยังเป็นช่องทางหลักในใจแต่กว่า 1 ใน 3 (35%) เปลี่ยนไปซื้ออาหารออนไลน์ และ 86% ในกลุ่มผู้ซื้อออนไลน์มีแผนซื้อของออนไลน์ต่อไป

ในสินค้านอกกลุ่มอาหาร ก่อนโควิด-19 การซื้อที่ร้านยังเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมมากกว่าออนไลน์ โดยผู้บริโภค 47% ซื้อของที่ร้านทุกวันหรือสัปดาห์ละครั้ง เมื่อเทียบกับการซื้อของผ่านมือถือ (30%) คอมพิวเตอร์ (28%) และผู้ช่วยเสมือนจริงที่สั่งการด้วยเสียง (15%)

แต่หลังโควิด-19 การซื้อออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมาก เป็นการซื้อผ่านมือถือ 45% คอมพิวเตอร์ 41% แท็บเล็ต 33% โดยแนวโน้มดังกล่าวปรากฏชัดเจนในจีนและประเทศแถบตะวันออกกลาง

ผู้ตอบแบบสำรวจ 60% ในจีน และ 58% ในตะวันออกกลางเริ่มซื้อของผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้น

59% ของผู้ตอบแบบสำรวจในกลุ่มมิลเลนเนียล และ 57% ของกลุ่มที่มีบุตรใส่ใจต่อความเป็นอยู่ที่ดีมากกว่ากลุ่มอื่น โดยให้ความสำคัญกับการดูแลตนเองมากขึ้น

51% ของผู้บริโภคในเมืองเห็นด้วยหรือเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า โควิด-19 ทำให้ตนใส่ใจกับการดูแลสุขภาพจิต และความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น รวมถึงสุขภาพกายและการทานอาหาร

หลังโควิด ผู้อยู่อาศัยในเมืองมองว่าความปลอดภัยและความมั่นคง และบริการดูแลสุขภาพ มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตพอๆ กับโอกาสในการจ้างงาน

49% มองว่าความปลอดภัยและความมั่นคงสำคัญ ขณะที่ 45% มองว่าบริการดูแลสุขภาพมีความสำคัญ เมื่อเทียบกับการจ้างงานที่มีผู้ให้ความสำคัญอยู่ที่ 45%

ผลการศึกษายังแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคใส่ใจแนวคิดความยั่งยืนและหน้าที่ของพลเมืองอย่างชัดเจน ในการสำรวจก่อนเกิดการแพร่ระบาด 45% ระบุว่าตนเลี่ยงการใช้พลาสติกเมื่อใดก็ตามที่เป็นไปได้

43% คาดหวังให้ธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และ 41% คาดหวังให้ผู้ค้าปลีกเลิกใช้ถุงและบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับสินค้าเน่าเสียง่าย

ที่น่าสนใจ คือ เมื่อถามผู้บริโภคว่าใครคือผู้ที่ต้องออกมารับผิดชอบมากที่สุดในการส่งเสริมพฤติกรรมความยั่งยืนในเมือง 20% ตอบว่า “ตนเอง” อีก 15% ตอบว่า “ผู้ผลิตหรือเจ้าของโรงงานผลิต”

เมื่อถามเกี่ยวกับความสมัครใจในการแบ่งปันข้อมูล 49% ยินดีแบ่งปันข้อมูลหากจะช่วยพัฒนาเมืองของตนให้ดีขึ้น

“สตีฟ บาร์” หัวหน้าฝ่ายตลาดผู้บริโภคสากลประจำ PwC US กล่าวว่า แม้แนวโน้มบางอย่างอยู่ในช่วงขาขึ้นมาสักระยะแล้ว แต่ผลการศึกษาพบว่าการแพร่ระบาดส่งผลให้ผู้บริโภคมองหาความโปร่งใส ความยั่งยืน และความสะดวกสบายมากขึ้น

โดยบริษัทที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุด คือบริษัทที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภค มีการลงทุนเพื่อส่งเสริมเส้นทางการซื้อของลูกค้าอย่างครบวงจร แนบเนียน และต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค

“ออซ ออซเทิร์ค” หัวหน้าฝ่ายให้คำปรึกษาด้านตลาดผู้บริโภคสากลประจำ PwC UK เสริมว่า ตลอด 11 ปีที่ได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคทั่วโลกยังไม่เคยพบการบรรจบกันของความโปร่งใส ความยั่งยืน และจิตสำนึกทางสังคมที่ชัดเจนเช่นนี้มาก่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image