คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : ท้องถิ่นลดเหลื่อมล้ำ

สถาบันพระปกเกล้ากำลังกำหนดให้มีรางวัลพระปกเกล้า ประเภทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ “ลดความเหลื่อมล้ำ” ขึ้นมาอีกประภทหนึ่ง

เพิ่มขึ้นมาหลังจากประสบความสำเร็จจากรางวัลพระปกเกล้า 3 ประเภท ก่อนหน้าที่จัดประกวดติดต่อกันมาหลายปีแล้ว

ดั่งที่ทราบกันว่า รางวัลพระปกเกล้ามีขึ้นเพื่อมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลงานโดดเด่น

หนึ่ง โดดเด่นด้านการมีส่วนร่วม หนึ่ง โดดเด่นด้านส่งเสริมเครือข่าย อีกหนึ่ง โดดเด่นด้านเสริมสร้างสมานฉันท์

Advertisement

ส่วนรางวัลพระปกเกล้าประเภท “ลดความเหลื่อมล้ำ” จะมาแทนประเภทสมานฉันท์ต่อไป

แต่ปีที่ผ่านมา มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สมัครเข้าประกวดในประเภทสมานฉันท์แล้วไม่ได้รับการพิจารณาเนื่องจากต้องเว้นวรรคไปเพราะสถานการณ์โควิด-19

คณะกรรมการรางวัลจึงนำเอาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สมัครเข้าประกวดประเภทสมานฉันท์มาแล้ว ไปพิจารณาในปีหน้า

Advertisement

ในปีหน้า จึงรับสมัครรางวัลพระปกเกล้า ประเภทมีส่วนร่วม ประเภทเครือข่าย และประเภทใหม่ คือ ลดความเหลื่อมล้ำ เท่านั้น

ไม่เปิดรับสมัครประเภทสมานฉันท์แล้ว

นี่เป็นกระแสข่าวล่าสุดของรางวัลพระปกเกล้าที่ทราบมา ส่วนรายละเอียดจะเป็นเช่นไร ต้องติดตามการประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

แต่เพียงแค่ทราบว่า สถาบันพระปกเกล้ามีความคิดที่จะกำหนดให้มีรางวัลพระปกเกล้าประเภทลดเหลื่อมล้ำขึ้นมาก็รู้สึกตื่นเต้น

มั่นใจว่าในพื้นที่ทั่วประเทศ มีหลายท้องถิ่นที่สามารถ “ลดความเหลื่อมล้ำ” ได้

หลายท้องถิ่นเหล่านั้นน่าจะมีชิ้นงาน “ลดความเหลื่อมล้ำ” ที่โดดเด่น

ดังนั้น หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านั้นได้รับการเชิดชูเกียรติที่สามารถลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ตัวเองได้ ย่อมเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน

สำหรับการลดความเหลื่อมล้ำนี้ หากใครติดตามการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้าเมื่อปี 2562 คงทราบว่ามีการตั้งวงเสวนาเรื่องนี้กัน

พลิกกลับไปดูงานดังกล่าวพบว่า มีหนังสือที่แจกในงาน ชื่อ “ก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำ:ความท้าทายของสังคมไทย”

พลิกดูเนื้อหาพบว่า ประเทศเรามีความเหลื่อมล้ำหลายมิติ

บทความหลายบทความในเล่มชี้ให้เห็นความเหลื่อมล้ำและสาเหตุ

ยกตัวอย่าง บทความ อาจารย์เอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานกรรมการในคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม

สะท้อนความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

แผนพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นรายได้ ขาดการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพของประชากรนั้นเป็นปัญหา

ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เชื่อมโยงกับการจัดการศึกษา

เชื่อมโยงกับระบบสาธารณสุข หลักประกันทางสังคม ค่านิยมและวัฒนธรรมของสังคมไทย

รวมทั้งความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

ในมุมมองของอาจารย์เอ็นนูเห็นว่า สาเหตุของความเหลื่อมล้ำเกิดจากหลายสาเหตุ

หนึ่ง โครงสร้างเศรษฐกิจไม่สมดุล สอง การบริหารราชการแผ่นดินขาดประสิทธิภาพ สาม การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นล่าช้า สี่ ขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ

สาเหตุเหล่านั้นสามารถแก้ไขได้ถ้ารู้วิธีและจริงจังเอาใจใส่

นอกจากบทความของอาจารย์เอ็นนูแล้ว ยังมีบทความของอาจารย์อีกหลายคน

ทุกคนเสนอปัญหา บ่งบอกสาเหตุของปัญหา และแนะนำแนวทางการแก้ปัญหา

อ่านทั้งหมดแล้วมองเห็นความเหลื่อมล้ำ รับทราบสาเหตุ และเห็นแนวทางที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวไปพร้อมๆ กัน

ความเหลื่อมล้ำนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่จะหวังพึ่งส่วนกลางอย่างเดียวคงไม่ประสบผล

ไอเดียที่สนับสนุนให้ท้องถิ่นเป็นผู้ลงมือทำเพื่อความเหลื่อมล้ำอย่างมีประสิทธิภาพกว่าจึงน่าสนใจ

หากท้องถิ่นใดให้ความสำคัญ รู้วิธีการดำเนินการ และมีผลสัมฤทธิ์

ท้องถิ่นนั้นสามารถลดความเหลื่อมล้ำลงไปได้

คนในท้องถิ่นนั้นย่อมมีความสุข

ในปีนี้ปีหน้ารัฐบาลอนุญาตให้เลือกตั้งท้องถิ่นได้ ดีเดย์ประเภทองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. 76 จังหวัด เป็นประเภทแรก

กกต.กำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 20 ธันวาคม

หลังจากนั้นทุก 60 วัน จะทยอยเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทอื่นๆ จนครบ

จังหวะนี้ถือเป็นโอกาสของท้องถิ่นที่จะได้แสดงฝีมือ

การลดความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องหนึ่งที่หากท้องถิ่นทำได้ ประชาชนในท้องถิ่นจะมีความสุข

การที่รางวัลพระปกเกล้าให้ความสำคัญต่อการจัดการความเหลื่อมล้ำให้น้อยลงจึงน่าสนับสนุน

เชื่อว่าปีหน้าหากมีรางวัลประเภทนี้เกิดขึ้น คงมีโอกาสได้เห็นท้องถิ่นโชว์การลดความเหลื่อมล้ำ

ยิ่งมีท้องถิ่นที่ทำได้สำเร็จหลายท้องถิ่น ยิ่งช่วยลดปัญหาในภาพรวมแก่ส่วนกลาง

ความสำเร็จในเรื่องนี้ จะช่วยเรื่องภาพลักษณ์ของท้องถิ่นด้วย

เพราะความสำเร็จที่เกิด จะทำให้รัฐบาลเปลี่ยนมุมมอง

จากที่เคยมองท้องถิ่นว่ามีแต่เรื่องทุจริต

จะได้เปลี่ยนไปเห็นภาพของการพัฒนา และความสามารถในดำรงอยู่ได้ด้วยการการพึ่งพาตัวเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image