สุจิตต์ วงษ์เทศ : สำเพ็ง ‘ไชน่าทาวน์’ ตลาดเก่าสุดในกรุงเทพฯ

ร้านขายเพชร ข้างวัดเกาะ ตลาดสำเพ็งสมัย ร.5 ปัจจุบันร้านค้าและถนนสายนี้ยังมีเค้าเหลืออยู่ไม่น้อยที่เหมาะแก่การทอดน่องท่องเที่ยว (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

สำเพ็งที่ชาวบ้านทั่วไปรู้จักปัจจุบันเริ่มจากสะพานหัน (พาหุรัด) วัดจักรวรรดิ (วัดสามปลื้ม) จนถึงวัดสัมพันธวงศ์ (วัดเกาะ) มีทางเดินแคบๆ ผ่ากลางระหว่างร้านรวงสองข้าง ลึกขนานไปตามแนวถนนเยาวราช

แต่กำเนิดของสำเพ็งดั้งเดิมอยู่ทางวัดปทุมคงคา (วัดสำเพ็ง) ? วัดสัมพันธวงศ์ (วัดเกาะ) ต่อมาสมัยหลังมีคนนิยมซื้อขาย จึงขยายพื้นที่ยาวถึงสะพานหัน-พาหุรัด (“วัดปทุมคงคา” เป็นชื่อสมัยหลัง แต่สมัยดั้งเดิมชื่อ “วัดสำเพ็ง” คือพยานว่าเป็นศูนย์กลางชุมชน “สำเพ็ง” สมัยก่อนกรุงเทพฯ)

สอดคล้องกับ นิราศจันทบุรี-กรุงเทพฯ ของ หลวงบุรุษประชาภิรมย์ (กี้ บุณยัษฐิติ) แต่งต้นแผ่นดิน ร.5 พ.ศ. 2418 พรรณนาว่านั่งเรือเลียบชายฝั่งทะเลตะวันออกจากจันทบุรี ผ่านปากน้ำ เข้ากรุงเทพฯ จอดเรือท่าตลาดน้อย แล้วขึ้นบกเที่ยวตลาดสำเพ็ง

๏ วันหนึ่งออกซอกตลาดลีลาศเลี้ยว ชวนกันเที่ยวตามสนุกเป็นสุขา

Advertisement

ตลาดน้อยค่อยจรัลพ้นนั้นมา เข้าพระอาวาสจังหวัดวัดสำเพ็ง

1. สมัยอยุธยา-ธนบุรี “สำเพ็ง” เป็นชุมชนในปริมณฑลของเมืองบางกอก ซึ่งผู้นำน่าจะเป็นขุนนางมอญมีบรรดาศักดิ์ โดยตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณปัจจุบันเรียกวัดปทุมคงคา (วัดสำเพ็ง), วัดสัมพันธวงศ์ (วัดเกาะ)

2. สมัยรัตนโกสินทร์ แผ่นดิน ร.1 ย้ายชุมชนคนจีนบางจีนจากย่านก่อนสร้างวังหลวงไปอยู่สำเพ็ง ต่อมาสุนทรภู่บอกไว้ในนิราศเมืองแกลง ว่า พ้นวัดจักรวรรดิ (วัดสามปลื้ม) เข้าเขต “สำเพ็ง” มีเก๋งจีนริมแม่น้ำและเรือนแพค้าขาย ส่วนบนบกมี “นางจ้าง” (สมัยอยุธยา เรียก “หญิงละครโสเภณี” บริการ “รับจ้างชำเราแก่บุรุษ”) อยู่ในตรอกซอกซอยคอยร้องรำทำเพลงเชิญชวนชายใช้บริการ ว่า “มีซุ้มซอกตรอกนางจ้างประจาน”

Advertisement

ตลาด หมายถึงพื้นที่แลกเปลี่ยนซื้อขายของคนหลากหลายชาติพันธุ์ เป็นแหล่งมีชีวิตและความเคลื่อนไหวของชุมชนและบ้านเมือง (ความเป็นเมืองนอกจากมีใจเมือง หรือสะดือเมืองอยู่ลานกลางบ้าน ยังต้องมีตลาด)

คำว่า ตลาด น่าเชื่อว่ากลายคำจาก “จรหลาด” พบในกำสรวลสมุทรโคลงดั้น แต่งสมัยอยุธยาตอนต้น เรือน พ.ศ. 2000 กล่าวถึงตลาดผลไม้และผักหญ้า มีคนหนาแน่นซื้อขายอยู่แม่น้ำ (สายเก่า) ย่านบางระมาด (ปัจจุบันอยู่คลองชักพระ-คลองบางกอกน้อย กรุงเทพฯ) ครั้นหลังสมัย ร.1 เรียกตลาดสำเพ็ง

‘สำเพ็ง’ ภาษามอญโบราณ

สำเพ็ง สืบเนื่องชุมชนคนดั้งเดิมในตระกูลมอญ-เขมร ตั้งแต่สมัยอยุธยา, ธนบุรี

ชื่อ “สำเพ็ง” เป็นภาษามอญโบราณ (ต่อมาพม่ายืมไปใช้เป็นบรรดาศักดิ์ของราชการ) แปลว่า มหาอำมาตย์ พบในจารึกภาษามอญ (จ. ลพบุรี อายุราวเรือน พ.ศ. 1100 กับ 1645) จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายไว้ในหนังสือความเป็นมาของคำสยามฯ (ต้นฉบับเขียนในคุกลาดยาว ระหว่าง พ.ศ. 2501-2507 แต่เพิ่งพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2519 หน้า 47-52 โดยอ้างถึง Halliday. R., Blagden C. O., Wilkin Jeanne. Les inscriptions m?n du Siam, ?dit?es et traduites. In: Bulletin de l’Ecole fran?aise d’Extr?me-Orient. Tome 30, 1930. pp. 81-105)

ข้อความคลาดเคลื่อนใน “โฉมหน้าศักดินาไทย” จิตร ภูมิศักดิ์ ใช้นาม “สมสมัย ศรีศูทรพรรณ” เรียบเรียงเรื่อง “โฉมหน้าศักดินาไทย” พิมพ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2500 ความโดยสรุปว่าสำเพ็งเป็นคำภาษาเขมร แปลว่าหญิงโสเภณี สมัยอยุธยามีย่านสำเพ็งเป็นย่านโสเภณี เมื่อย้ายไปอยู่กรุงเทพฯ ก็ยืมไปเรียกย่านโสเภณีว่าสำเพ็ง (เชิงอรรถอธิบายว่าสำเพ็งเป็นภาษาเขมร แปลว่า หญิงโสเภณี จากหนังสือ โฉมหน้าศักดินาไทย โดย สมสมัย ศรีศูทรพรรณ สำนักพิมพ์ศรีปัญญา พิมพ์ครั้งที่สิบ พ.ศ. 2543 หน้า 256)

เมื่อได้ตรวจสอบเอกสารเก่าแล้ว ได้ความคลาดเคลื่อน ดังนี้

1. จดหมายเหตุลาลูแบร์ แผ่นดินพระนารายณ์ ไม่พบคำว่า “สำเพ็ง”

2. “พรรณนาภูมิสถานพระนครศรีอยุธยา” เป็น “เอกสารจากหอหลวง” แผ่นดินพระเจ้าอุทุมพร (บางทีเรียก “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม”) ระบุชัดเจนว่า “ตลาดบ้านจีน ปากคลองขุนละครไชย มีหญิงละครโสเภณี ตั้งโรงอยู่ท้ายตลาด 4 โรง รับจ้างทำชำเราแก่บุรุษ…” ไม่พบคำว่า “สำเพ็ง”

3. พจนานุกรมภาษาเขมร ไม่พบคำว่า “สำเพ็ง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image