สุจิตต์ วงษ์เทศ : สำเนียง เหน่อ สมัยอยุธยา มาจากลาวล้านนา-ล้านช้าง

สำเนียง เหน่อ สมัยอยุธยา มาจากลาวล้านนา-ล้านช้าง เหน่อ คือ สำเนียงลาว
หญิงชายชาวบ้านสมัยอยุธยายังมีเค้าประเพณีลาวลุ่มน้ำโขง (จิตรกรรมฝาผนังวัดเขียน อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง จากหนังสือวัดเขียน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2542)

สำเนียง เหน่อ สมัยอยุธยา มาจากลาวล้านนา-ล้านช้าง โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ 

เหน่อ คือ สำเนียงลาวของคนโบราณลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งเคยเป็นสำเนียงหลวงสมัยอยุธยา แต่ รมต. ว่าการกระทรวงอุดมศึกษาฯ (อว.) ไม่ยอมรับและไม่ประทับใจว่าคนสมัยอยุธยาพูดจาสำเนียง เหน่อ ทั้งนี้เป็นรายงานจากผู้สื่อข่าวที่ไปร่วมกิจกรรม อว. พาเที่ยว แล้วมีเสวนาที่วัดย่านอ่างทอง (อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา) เมื่อสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ดังนั้นจะขอเล่าความเป็นมาพร้อมหลักฐานเรื่องสำเนียง เหน่อ สมัยอยุธยา โดยสรุปอย่างง่ายๆ ดังนี้

1.ภาษาไทยสมัยอยุธยามีต้นตอรากเหง้าจากภาษาไท-ไต (หรือไท-กะได) ใน โซเมีย ทางตอนใต้ของจีน บริเวณพรมแดนจีน-เวียดนาม หลักแหล่งของจ้วง-ผู้ไท แล้วแผ่ตามเส้นทางการค้าดินแดนภายในถึงลุ่มน้ำโขง จากนั้นลงลุ่มน้ำเจ้าพระยาราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือตั้งแต่เรือน พ.ศ.500

2.ภาษาไท-ไตลุ่มน้ำโขงถูกเรียกว่าภาษาลาว มี 2 กลุ่ม ได้แก่ ลาวล้านช้าง-เวียงจันท์ กับลาวล้านนา-โยนก ภาษาลาวทั้ง 2 กลุ่มแผ่ลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา แล้วผสมกลมกลืนกับตระกูลภาษามอญ-เขมรที่มีอยู่ก่อนนานแล้ว

3.คนสมัยอยุธยาพูดภาษาไทยสำเนียงลาวลุ่มน้ำโขงปนกับสำเนียงมอญ-เขมร พบหลักฐานและร่องรอยหลายอย่างดังนี้
(1.) เจรจาโขนสำเนียงลาวลุ่มน้ำโขง สมัยอยุธยาเจ้านายตรัสภาษาไทยสำเนียงลาวลุ่มน้ำโขง (ปนมอญ-เขมร) ดังนั้นเจรจาโขนต้องทำด้วยสำเนียงหลวงของราชสำนัก แล้วสืบเนื่องตกทอดถึงปัจจุบันเพราะเป็นจารีตศักดิ์สิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงมิได้ ถ้าอยากฟังเค้าเก่าแก่แท้จริงต้องฟังสำเนียงพากย์และเจรจาของหนังใหญ่วัดขนอน (อ.โพธาราม จ.ราชบุรี) ส่วนเจรจาโขนแบบกรมศิลปากรทุกวันนี้ถูกปรุงแต่งจริตพิสดารด้วยคีตศิลป์สมัยกรุงเทพฯ

Advertisement

(2.) การละเล่น ขับซอ ตามประเพณีล้านช้างกับล้านนา พบในราชสำนักอยุธยา (อยู่ในอนิรุทธคำฉันท์) แล้วยังพบในวิถีชีวิตประจำวันของสามัญชน (อยู่ในบันทึกของลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศส) ประเพณี ขับซอ ในอยุธยาต่อไปข้างหน้าจะมีพัฒนาการเป็น ขับเสภา สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

(3.) อักขรวิธีตามสำเนียงลาวลุ่มน้ำโขง พบในสมุดข่อยบทละครนอกมี 19 เรื่อง เก็บไว้ในหอสมุดแห่งชาติ ล้วนลงวรรณยุกต์ตามหูที่ได้ยินสำเนียงพูดในชีวิตประจำวันเป็นแบบลาวลุ่มน้ำโขง ดังนั้นวรรณยุกต์ในสมุดข่อยสมัยอยุธยาไม่ตรงกับสำเนียงพูดคนบางกอกสมัยปัจจุบัน (หนังสือขุนช้างขุนแผนฉบับพิมพ์สมัยปัจจุบันยังหลงหูหลงตาสะกดคำว่า สวมกอด ระหว่างหญิงชายคนรักด้วยสำเนียงดั้งเดิมว่า ส้วมกอด)

4.สำเนียงพูดแบบสมัยอยุธยา สืบทอดทั่วไปในท้องถิ่นปัจจุบัน โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่นนอกตัวเมือง แต่มีส่วนหนึ่งพูดสำเนียงมาตรฐานแบบกรุงเทพฯ ด้วยอำนาจระบบโรงเรียนและสื่อหลากหลาย (วิทยุ, โทรทัศน์, โทรศัพท์, โซเชียล ฯลฯ) ท้องถิ่นที่ยังมีสำเนียงพูดแบบสมัยอยุธยาพบตามแหล่งต่างๆ ดังนี้

Advertisement

(1.) กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ลุ่มน้ำน้อย ชาวบ้านทั่วไปพูดสำเนียงดั้งเดิม บางทีเรียกยานคาง, เหน่อ ฯลฯ

(2.) กลุ่มลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง-เพชรบุรี พูดสำเนียงดั้งเดิมบางทีเรียก เหน่อสุพรรณ, เหน่อเมืองเพชร กรณี เหน่อสุพรรณ มี 2 พวก ได้แก่ เหน่อดั้งเดิม หลายร้อยหลายพันปีมาแล้วอยู่ตามหมู่บ้านไกลๆ ตามท้องไร่ท้องนา และเหน่อรุ่นใหม่ ตั้งแต่สมัย ร.3 เข้ามาตั้งหลักแหล่งเพิ่มเติมถูกกวาดต้อนมาจากหลวงพระบาง, เวียงจันท์, เมืองพวน เป็นต้น

(3.) กลุ่มโคราช, ระยอง, จันทรบุรี, ตราด เป็นสำเนียงหลวงสมัยอยุธยาที่แผ่ไปในหัวเมืองต่างๆ โดยเฉพาะโคราชหรือเมืองนครราชสีมาเป็นศูนย์กลางหลักของลุ่มน้ำมูลซึ่งใกล้ชิดราชสำนักอยุธยา จึงมีวัฒนธรรมอย่างเดียวกับลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ สำเนียงโคราชอย่างเดียวกับสำเนียงหลวงอยุธยา คือสำเนียงลาวปนมอญ-เขมร, เพลงโคราช ฉันทลักษณ์เดียวกับเพลงฉ่อย, เพลงปรบไก่ เป็นต้น จากนั้นสำเนียงอย่างนี้แผ่ไปถึงหัวเมืองชายทะเลตะวันออก โดยเฉพาะระยอง, จันทบุรี, ตราด

สำเนียงมาตรฐานปัจจุบัน
หลังกรุงแตก พ.ศ.2310 ราชธานีย้ายจากอยุธยาไปอยู่กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันคนไทยพูดสำเนียงบางกอกเป็นสำเนียงมาตรฐาน (หรือสำเนียงหลวง) ตั้งแต่สมัยหลังสถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานีของกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ.2325

บางกอกเป็นชุมชนบ้านเมืองใหญ่ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น พบหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีจำนวนมากกระจัดกระจายสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม (ปัจจุบันเรียกคลองบางกอกใหญ่-คลองบางกอกน้อย) หลักฐานสำคัญเป็นวรรณกรรมเรียกกำสรวลสมุทร (เดิมถูกครอบงำให้เรียกผิดๆ ว่ากำสรวลศรีปราชญ์) พรรณนาชุมชนบ้านเรือน, วัดวาอาราม, และตลาด จนถึงเรือกสวนผลหมากผลไม้ในบางกอก แต่เมื่อราว 500 ปีมาแล้ว หรือเมื่อเรือน พ.ศ.2000

ชาวบางกอกสมัยอยุธยาส่วนมากพูดสำเนียงบางกอก ซึ่งเป็นสำเนียงลาวลุ่มน้ำโขง (เหมือนอยุธยา) แต่ปนสำเนียงนานาชาติโดยเฉพาะสำเนียงจีน (แต่บอกไม่ได้ว่าจีนไหน? แต้จิ๋ว, กวางตุ้ง, ฮกเกี้ยน? เพราะชุมชนจีนมีกระจัดกระจายตามแม่น้ำลำคลอง โดยเฉพาะบริเวณพระบรมมหาราชวังกรุงเทพฯ แต่เดิมสมัยอยุธยาเป็นย่านคนจีน พบเอกสารเรียก บางจีน)

จึงชวนให้เชื่อว่าสำเนียงบางกอกไม่ต่างกันมากกับสำเนียงหลวงอยุธยา แต่ไม่ตรงทั้งหมดกับสำเนียงหลวงอยุธยา เพราะสมัยนั้นนับว่าอยู่ห่างไกลกันมาก (เส้นทางคมนาคมหลักคือแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งคดโค้งคดเคี้ยวมากกว่าปัจจุบัน) สำเนียงบางกอกถูกคนในอยุธยาราชธานีเหยียดเป็นสำเนียงบ้านนอก

เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก คนอยุธยาส่วนมากหนีไปอยู่ที่ต่างๆ และส่วนหนึ่งถูกกวาดต้อนเป็นเชลยไปพม่า นอกนั้นมีไม่มากโยกย้ายไปอยู่บางกอก จึงไม่มีผลให้คนบางกอกซึ่งเป็นคนดั้งเดิมพูดด้วยสำเนียงหลวงอยุธยาที่ไม่ใช่สำเนียงบางกอกมาแต่เดิม มีแต่สำเนียงบางกอกปน เจ๊ก มากขึ้น เพราะนับแต่กรุงเทพฯ เป็นราชธานีจะพบมาว่าคนจีนอพยพจากแต้จิ๋วเข้ามาตั้งหลักแหล่งมากขึ้นจนกลายเป็นประชากรสำคัญ นอกนั้นเป็นคนที่ถูกกวาดต้อนจากที่ต่างๆ เช่น จากเขมร, ลาว, มลายูปัตตานี เป็นต้น

สำเนียงมาตรฐานของกรุงเทพฯ คือสำเนียงบางกอกแต่เดิม เมื่อนานไปก็ยิ่งแตกต่างห่างจากสำเนียงหลวงอยุธยาที่มีต้นตอจากสำเนียงลาวลุ่มน้ำโขง ดังนั้นเมื่อ ผู้ดี บางกอกได้ยินสำเนียงลาวตกค้างอยู่ในท้องถิ่นห่างไกลจึงเรียกสำเนียงนั้นว่า เหน่อ หลักฐานสำคัญอยู่ในโคลงนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ (แผ่นดิน ร.3) เมื่อนั่งเรือถึงเมืองสุพรรณ พบมีลาวถูกกวาดต้อนมาอยู่สองฝั่งแม่น้ำท่าจีนพูดจากันด้วยเสียง เหน่อ ว่า ลาวอยู่รู้เสียงสนอง เหน่อช้า [หลังจากนั้นยังพบในกลอนนิราศปถวี ของหลวงจักรปาณี (ฤกษ) เมื่อพรรณนาถึงลาวลุ่มน้ำป่าสักที่เสาไห้]

นับแต่นั้นสำเนียงหลวงสมัยอยุธยาถูกเรียก สำเนียงเหน่อ เพราะคำว่าเหน่อ หมายถึงเสียงพูดที่เพี้ยน หรือไม่ตรงตามสำเนียงที่ถูกถือเป็นมาตรฐาน ขณะเดียวกันได้รู้จาก ผู้ดี กรุงรัตนโกสินทร์ว่า สำเนียงเหน่อแท้จริงคือสำเนียงลาว ทั้งหมดสอดคล้องเข้ากันได้กับหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีและมานุษยวิทยา

ปัญหาอยู่ที่ครูบาอาจารย์ในระดับประถม, มัธยม, และอุดมศึกษาของไทยทำใจรับไม่ได้ เพราะเคยเหยียดและด่าลาวไว้มาก ทุกวันนี้ยังไม่เลิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image