แท็งก์ความคิด : ฟื้นฟูการอ่าน

แท็งก์ความคิด : ฟื้นฟูการอ่าน

วันที่ 11-12 กันยายน รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

ในนโยบายทั้งหมด อยากได้ยินนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมการอ่าน

เพราะหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลขาดการส่งเสริม ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง

Advertisement

ทั้งๆ ที่การอ่านมีความสำคัญต่อความก้าวหน้าของประชาชนและประเทศชาติ

และการส่งเสริมการอ่าน ถือเป็นหน้าที่สำคัญของทุกภาคส่วน รวมทั้งรัฐบาล

แต่ดูเหมือนว่าที่ผ่านมาภารกิจนี้ขาดการสนับสนุน

Advertisement

ทั้งๆ ที่หลายรัฐบาลส่งเสริมมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 ได้แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา

กล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษา โดยยึดหลัก สร้างชาติ สร้างคน สร้างงาน

ช่วงนั้นรัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้

ปี 2546 กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้เป็นปีแห่งการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้

ปี 2547 รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) เพื่อเป็นแหล่งบริการองค์ความรู้ให้แก่ประชาชน

ปี 2548 รัฐบาลทักษิณแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 มีนาคม

ระบุถึงการอ่านว่า 1.รัฐบาลจะส่งเสริมนิสัยรักการอ่านหนังสืออย่างจริงจังตั้งแต่เด็กจนตลอดชีวิต เพื่อรองรับสังคมเศรษฐกิจบนฐานความรู้

2.เร่งสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ในระบบและนอกระบบ ในห้องเรียนและนอกห้องเรียน

เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง เป็นสังคมที่คนมีความสุข สนุกสนานกับการหาประสบการณ์และความรู้

รัฐบาลจะร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อสร้างแหล่งบริการองค์ความรู้ให้กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศอย่างสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น

และดำเนินการเชื่อมเครือข่ายความรู้ของทุกโรงเรียนเข้าสู่เครือข่ายอินเตอร์เน็ต

สภาพการณ์ดังกล่าว ทำให้ข่าวสารและองค์ความรู้กระจายจากส่วนกลางไปท้องถิ่นโดยผ่านกลไกของภาคเอกชน

ความรู้จากผู้ผลิตหนังสือ ส่งไปยังเอเยนต์ในจังหวัดต่างๆ

เอเยนต์แต่ละแห่งว่าจ้างสายส่งนำหนังสือไปวางที่แผงหนังสือทั้งในเมืองและหมู่บ้าน

ขณะที่ กศน. ซึ่งขณะนี้เป็นกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งที่อ่านหนังสือหมู่บ้านเพื่อส่งเสริมการอ่าน

ณ ห้วงเวลานั้น องค์ความรู้หมุนเวียนไปทั่วประเทศ คนที่มีเงินกับคนไม่มีเงิน มีโอกาสได้รับข่าวสารและความรู้เท่ากัน

แต่ภายหลังมีการเปลี่ยนนโยบายด้านงบประมาณ

มีการโอนงบประมาณสนับสนุนที่อ่านหนังสือหมู่บ้านไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ปรากฏว่า ท้องถิ่นติดปัญหาเพราะคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจับจ้อง จนไม่กล้าซื้อ เกรงจะผิดกฎระเบียบ

ทำให้ที่อ่านหนังสือหมู่บ้านไม่ได้รับการสนับสนุนเหมือนแต่เก่าก่อน

ปี 2559 กศน.ของบประมาณสนับสนุนที่อ่านหนังสือหมู่บ้านในโครงการ บ้านหนังสืออัจฉริยะ เพื่อหล่อเลี้ยงที่อ่านหนังสือหมู่บ้าน

ตอนนั้นที่อ่านหนังสือเหลืออยู่ 4.1 หมื่นแห่ง จากเดิมที่มีเกือบแสนแห่งทั่วประเทศ

แต่งบประมาณก็ไม่ผ่านอีก โดยอ้างว่าเป็นงบซ้ำซ้อนกับที่ให้ท้องถิ่นไปจัดการแล้ว

ที่อ่านหนังสือหมู่บ้านจึงขาดแคลนหนังสือ และค่อยๆ หดหายไป

ปี 2565 ที่อ่านหนังสือหมู่บ้านเปลี่ยนเป็นบ้านหนังสือชุมชน มีจำนวนลดลงเหลือ 2.4 หมื่นแห่ง

ผู้ดูแลบ้านหนังสือชุมชนเป็นอาสาสมัคร

หนังสือในบ้านหนังสือชุมชนใช้วิธีรับบริจาค

ด้านภาคเอกชนถูกเทคโนโลยีดิสรัปต์ เส้นเลือดที่ส่งความรู้จากส่วนกลางสู่ท้องถิ่นถูกตัดขาด

ในพื้นที่จึงมีหนังสือไม่มาก ขณะที่หลายพื้นที่ระบบออนไลน์ไม่ครอบคลุม

บุคลากรที่ส่งเสริมการอ่าน ไม่มีอุปกรณ์ชักชวนให้คนอ่านหนังสือ

นานเข้าเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำทางความรู้

คนมีเงินเข้าถึงหนังสือได้ดีกว่า คนในเมืองมีโอกาสมากกว่า

ทั้งๆ ที่คนมีความสำคัญ ความรู้ของคนก็มีความสำคัญ

แต่เรากำลังเกิดความเหลื่อมล้ำทางความรู้ขึ้น

การเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้วยหนังสือทั้งที่เป็นเล่มๆ และเป็นออนไลน์ล้วนสำคัญ

จำเป็นที่รัฐบาลต้องส่งเสริมสนับสนุน

ทั้งส่งเสริมการอ่าน ส่งเสริมอาชีพ และเพิ่มพูนทักษะ

วันที่ 11-12 กันยายน คงได้ฟังนโยบายของรัฐบาลทั้งหมด

น่าจะได้ยินนโยบายส่งเสริมการอ่าน การเรียนรู้ และพัฒนาคนด้วย

ถ้ารัฐบาลทำให้คนเข้มแข็ง ทำให้แรงงานมีทักษะเป็นที่ต้องการ เรื่องค่าแรงก็ไร้ปัญหา

ถ้าทั่วแผ่นดิน มีองค์ความรู้ ท้องถิ่นก็เข้มแข็ง

ถ้าท้องถิ่นเข้มแข็ง ส่วนกลางก็จะมีโอกาสหันไปพัฒนาด้านอื่นๆ

แม้ปัจจุบัน รัฐบาลมีเรื่องราวมากมายที่ต้องกระทำ

แต่หากเริ่มต้นฟื้นฟูการอ่าน และส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง

4 ปีหลังจากนี้คงได้เห็นการเปลี่ยนแปลง สมเจตจำนงประชาชนที่ออกไปเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image