แท็งก์ความคิด : กระจก-ตะเกียง

กระจก-ตะเกียง

กระจก-ตะเกียง

หนังสือพิมพ์มติชน และ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ร่วมกันจัดทำโพล
ครั้งใหม่

ครั้งก่อนจัดขึ้นก่อนวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม

ครั้งนี้จัดขึ้นหลังรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน แถลงนโยบายรัฐบาลและเริ่มบริหารประเทศ

Advertisement

โพลที่จะสำรวจความคิดเห็นประชาชนนั้นมีคำถามง่ายๆ

ปัญหาที่รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ไขคืออะไร

เลือกระหว่างการเมือง กับเศรษฐกิจปากท้อง

Advertisement

ตอบคำถามกันทางออนไลน์ เพื่อมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง

หลังจากที่เราได้มีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยการเลือกตั้งมาแล้ว ตอนนี้มาลำดับปัญหาที่อยากให้รัฐบาลแก้ไข

การเมือง กับ เศรษฐกิจ อยากให้ทำอะไรก่อนหลัง

ตอบกันได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม ผลจากการตอบโพลจะนำเสนอต่อไปให้ทราบในภาพรวม

ในวันแถลงข่าวการจัดทำโพลมติชนและเดลินิวส์ครั้งนี้ มีผู้หลักผู้ใหญ่ของหนังสือพิมพ์ทั้ง 2 ฉบับ ไปร่วมฉายภาพความตั้งใจ

นางประพิณ รุจิรวงศ์ กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ บอกถึงจุดมุ่งหมายในการจับมือกันทำโพลอีกครั้ง

บอกว่า ในวันที่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เข้ามาบริหารประเทศ เราควรทำโพลสอบถามประชาชน

รัฐบาลเศรษฐา “ควรแก้ไขปัญหาอะไร”

ถือเป็นการสะท้อนเสียงประชาชนให้รัฐบาลรับรู้

ขณะที่ นายปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ บอกว่า โพลที่เดลินิวส์จับมือกับมติชนจะทำให้รัฐบาลได้ยินเสียงเรียกร้องที่มาโดยธรรมชาติเปิดกว้างทุกระดับ

เป็นพื้นที่สาธารณะที่ชวนกันมาสะท้อนสิ่งที่อยากบอกรัฐบาล

ด้าน น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการบริษัทมติชน ขยายความการทำโพลครั้งนี้ว่า วาระสำคัญของแคมเปญ มี 3 คีย์เวิร์ด คือ 1.รัฐบาล 2.ปัญหา และ 3.ประชาชน

ทั้งสามสิ่งต้องสะท้อนกันไปมา

รัฐบาลต้องฟังเสียงประชาชนถึงจะแก้ไขปัญหาได้ และประชาชนต้องสะท้อนปัญหาอย่างถูกจุด

หน้าที่การสะท้อนปัญหาครั้งนี้ มติชนและเดลินิวส์ร่วมมือกันสร้างพื้นที่สะท้อนความเห็นจากประชาชนไปสู่ผู้นำและรัฐบาลใหม่

ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีใครทราบว่าผลโพลจะออกมาอย่างไร

ยังไม่รู้ว่าประชาชนจะโหวตเน้นที่ให้แก้ปัญหาการเมืองหรือปัญหาเศรษฐกิจก่อนหลัง จนกว่าจะได้เห็นผลโพล แล้วทุกอย่างจะนำไปสู่การแก้ปัญหา

สำหรับการโหวตโพลครั้งนี้ คือ การกระตุ้นให้คนไทยมีส่วนร่วมทางการเมือง

เลือกตั้งไปแล้ว สิทธิและเสียงของประชาชนยังอยู่ ถ้าเรามีส่วนร่วมในการสะท้อนความคิดเห็นกลับไปสู่รัฐบาล

รัฐบาลที่ดีก็จะรับฟังเสียงประชาชนแล้วนำปัญหาไปแก้ไข

ด้าน นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) พูดประเด็นหลักๆ 3 ประเด็น

หนึ่ง จากประสบการณ์ทำโพลครั้งก่อน มีจุดเด่น คือ ทำให้เห็นข้อมูลเชิงลึก

ทราบอายุ เพศสภาพ พื้นที่หรือจังหวัดของผู้ตอบ

เมื่อมาทำโพลครั้งนี้ ทำให้ทราบรายละเอียดของปัญหา และมองเห็นลักษณะเฉพาะต่างๆ ได้คมชัด

สอง โพลก่อนหน้านี้เหมือนกับการทำประชามติ แต่โพลครั้งนี้ทำคล้ายกับประชาพิจารณ์

คำตอบโพลครั้งนี้จะหลากหลาย จึงได้ดึงทีมนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และด้านรัฐศาสตร์มาช่วยเสริมความเข้ม

และ สาม ผลโพลอาจทำให้เห็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ

โดยเฉพาะความเห็นจากประชาชนนอกทำเนียบรัฐบาลและสภาเขาต้องการอะไรกันแน่

ส่วน ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ อดีตคณบดี วิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้มีบทบาทในการวิเคราะห์ผลโพล ได้ชี้ปรากฏการณ์การทำโพลครั้งนี้

อาจารย์อัครพงษ์มองว่า การทำโพลของมติชนกับเดลินิวส์ เป็นการทำหน้าที่สื่อ

ทั้งในฐานะที่เป็น Mirror หรือ กระจก และในบทบาทที่เป็น Lamp หรือ ตะเกียง

โพลที่จะทำในอีกไม่กี่สัปดาห์ คือปรากฏการณ์ของสื่อที่ทำหน้าที่

ในทรรศนะของอาจารย์อัครพงษ์ มองว่า ผลโพลที่ออกมาจะเป็น “ตะเกียง” ส่องแสงให้รัฐบาลมองเห็นปัญหาที่ประชาชนคับข้องแล้วนำไปแก้ไข

อาจารย์อัครพงษ์มองว่า นี่แหละคืออีกภารกิจของสื่อมวลชน

ภารกิจจะเป็น “กระจก” สะท้อนภาพการทำงานของรัฐบาลแล้ว

ยังต้องเป็น “ตะเกียง” ส่องทางให้แลเห็นปัญหาของประชาชนที่อยากให้รัฐบาลแก้

สอดรับกับ 3 คีย์เวิร์ด นั่นคือ รัฐบาล ปัญหา และประชาชน ที่ต้องสะท้อนกันไปมา

ก่อเกิดเป็นความสัมพันธ์ตามวิถีประชาธิปไตย

รัฐบาลที่มาจากประชาชน ต้องฟังเสียงประชาชน

และร่วมมือกับประชาชนฝ่าทุกมรสุมไปด้วยกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image