ช่องทาง? คอลัมน์ แปดหมื่นหกพันก้าว

วงการสื่อทั่วโลกก้าวมาสู่ยุค “ดิสรัพ” Disrupt หรือการถูกคั่นถูกแหวกโมเดลเก่าๆ มาระยะใหญ่แล้ว จากกระดาษสู่ออนไลน์ และยุคโซเชียลมีเดีย เรียกว่า แค่พักหายใจโลกของการเสพสื่อก็เปลี่ยนไวเท่าพริบตา

แม้แต่คนทำสื่อยังมองถึงอนาคตการปรับตัวของแพลตฟอร์มกระดาษสู่ยุคการอ่านบนจอคอมพ์ จอสกรีน

กระนั้นมีประเด็นเล็กๆ ผุดขึ้นมาในแวดวงสื่อนอกว่า อันที่จริงมี “ช่องว่าง” บางอย่างที่เนื้อหาในการนำเสนอบนสื่อดั้งเดิมอย่างหนังสือพิมพ์ และนิตยสารยังมีกลุ่มผู้สนใจยอมควักเงินซื้อ

นั่นคือ ผลิตคอนเทนต์ให้คนอ่าน “สมควร” ที่จะควักเงินจ่าย

มีการอ้างอิงข้อมูลจาก ABC figures ชี้ว่า นิตยสารข่าวและเรื่องราวในกระแสข่าวในสหราชอาณาจักร กำลังเป็นที่นิยมซื้ออ่านมากกว่านิตยสารจำพวกกอสซิปดารา และนิตยสารแฟชั่น ซึ่งกลุ่มหลังนี้ยังอยู่ในภาวะสู้ทนอย่างหนักในโลกของกระดาษ

Advertisement

สถิติบ่งบอกว่า นับตั้งแต่สหราชอาณาจักรมีประเด็นการออกจากสหภาพยุโรป หรือเบร็กซิท ไปจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ และเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศ พบว่าแนวโน้มคนอ่านสนใจอ่าน “ข้อมูล” และ “ข้อเท็จจริง” ของข่าวฮาร์ดนิวส์เหล่านี้เพื่อทำความเข้าใจเชิงลึกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผลกระทบทางเศรษฐกิจ”

แน่นอนว่า ข้อมูลเหล่านี้มีผลต่อปากท้องของชีวิตด้วยนั่นเอง

พบว่านิตยสารข่าวที่ผู้คนควักเงินเพื่อซื้ออ่านข่าวเชิงลึกกลับมียอดขายเพิ่มขึ้น “ดิ อีโคโนมิสต์” และ “เดอะ สเปคเตเตอร์” มียอดขายตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน หรือสองไตรมาสของปีླྀ เทียบกับสองไตรมาสของปีཷ ปรากฏว่า “นิตยสารข่าว” ทั้งสองหัวมียอดขายดีขึ้น สวนทาง “นิตยสารดารา แฟชั่น เซเลบ” ซึ่งแพลตฟอร์มออนไลน์มีผลกระทบกับคอนเทนต์กลุ่มหลังมากกว่า

Advertisement

หนึ่งในเหตุผลคือ บรรดาเซเลบทั้งหลายใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียโปรโมตตัวเองและสื่อสารกับแฟนคลับโดยตรง ทำให้นิตยสารกอสซิป นิตยสารดาราบันเทิงยิ่งขายยากขึ้น และใครจะรอหนึ่งสัปดาห์เพื่อมาอ่านนิตยสารแนวนี้ คลิกเข้าโซเชียลมีเดีย วิดีโอบล็อก เว็บไซต์ก็มีสารพัดให้อ่านฟรีอยู่ตรงหน้า

“จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในตลาดนี้ วันนี้คอนเทนต์ออนไลน์มีจำนวนมาก และก็ยังอยู่ในยุคของข่าวปลอม ทั้งหนังสือพิมพ์และแมกกาซีนกำลังหาคำตอบกับสิ่งนี้ ถ้าคุณสามารถตีพิมพ์งานเขียนที่มีคุณภาพและเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากกว่าคอนเทนต์ในออนไลน์ได้ ผู้คนก็พร้อมจ่ายเงินซื้ออ่าน” เฟรเซอร์ เนลสัน บรรณาธิการของนิตยสารข่าวสายอนุรักษ์ เดอะ สเปคเตเตอร์ นิตยสารด้านการเมือง วัฒนธรรม และการต่างประเทศให้ความเห็นไว้

อย่างไรก็ตามถือเป็นการแสดงความเห็นจากมุมเดียว ท่ามกลางสื่อหัวต่างๆ ที่พยายามฝ่าฟันและสร้าง “สมดุล” ระหว่างสื่อสิ่งพิมพ์กับสื่อดิจิทัล ตั้งแต่การตัดสินใจที่จะโพสต์ทุกคอนเทนต์ให้อ่านฟรีบนโลกออนไลน์ หรือจะเลือกเก็บเงินค่าอ่านบางคอนเทนต์

เป็นอีกหนึ่งมุมมองที่ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด…นอกจากการผลิตคอนเทนต์ที่ดีแล้ว ในแง่รูปแบบการขายของโลกสื่อสมัยใหม่เองก็เป็นเรื่องไม่ง่ายเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image