ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ : คอลัมน์เดินไปในเงาฝัน

ในที่สุด “ทแกล้วทหาร 3 เกลอ” หรือ “The Three Musketeers” ในชื่อภาษาอังกฤษ หรือ “Les Trois Mousquetaires” ในชื่อต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสก็ถูกแปลออกมาอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับครั้งนี้เปลี่ยนชื่อจาก “ทแกล้วทหาร 3 เกลอ” เป็นชื่อภาษาไทยว่า “ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ” โดยมี “อเล็กซองด์ร์ ดูมาส์” เป็นผู้เขียน ส่วนผู้แปลคือ “อาจารย์วัลยา วิวัฒน์ศร” ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาศาสตร์

“อาจารย์วัลยา” บอกว่า การแปลครั้งนี้ใช้เวลาถึง 2 ปี แต่เป็น 2 ปีที่เพลิดเพลินเจริญใจอย่างมาก แม้จะแวะข้างทางบางครั้ง แต่กระนั้น ผู้แปลก็มีความสุข และสนุกสนานทุกครั้งที่แปลออกมา

คงจะจริงเพราะเนื้อหาของนวนิยายเรื่อง “ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ” เกี่ยวข้องกับตัวละครที่มีบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ ผสมผสานไปกับตัวละครตามจินตนาการสมมุติของผู้ประพันธ์ที่สร้างขึ้นมา

Advertisement

จึงทำให้เรื่องมีเสน่ห์

น่าติดตาม

ทั้งยังเต็มไปด้วยเรื่องราวการต่อสู้ การผจญภัย อีกทั้งเล่ห์ร้าย และเล่ห์รัก จนทำให้เราอาจพลัดหลงเข้าไปอยู่ในประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสยุคนั้นได้

Advertisement

ไม่เช่นนั้น “ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ” คงไม่ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด, ละคร และภาพยนตร์ชุดที่นำออกฉายทางโทรทัศน์อย่างต่อเนื่องในหลายประเทศทั่วโลก

“สุพจน์ แจ้งเร็ว” บรรณาธิการหนังสือเล่มนี้กล่าวในแทนคำนำสำนักพิมพ์บอกว่า…ดาร์ตาญังเป็นบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ เขาเข้ารับราชการสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 และอยู่ต่อมาจนถึงสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
จนได้รับตำแหน่งสูงสุดทางทหาร

วันที่เขาได้รับตำแหน่งสุดท้าย เป็นวันที่เขาต้องเสียชีวิตลงในสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับฮอลันดา อย่างไรก็ตาม ดาร์ตาญังในนวนิยาย ซึ่งคนทั่วไปรู้จักมากกว่าดาร์ตาญังตัวจริงนั้น ต้องนับว่าเป็นฝีมือของดูมาส์โดยแท้ เพราะสามารถสร้างเรื่องอิงประวัติศาสตร์อย่างแนบเนียน และสนุกสนานจับใจผู้อ่าน

นอกจากนั้น “สุพจน์” ยังกล่าวถึง “อาจารย์วัลยา” ในแทนคำนำสำนักพิมพ์เช่นกัน ดังความตอนหนึ่งว่า…สำหรับฉบับแปลของอาจารย์วัลยา วิวัฒน์ศร ที่ปรากฏอยู่นี้ เป็นฉบับแปลล่าสุดในพากย์ไทย

ก่อนหน้านี้อาจารย์วัลยาแปลงานจากภาษาฝรั่งเศสมาแล้วหลายเรื่อง และทุกเรื่องได้รับการต้อนรับที่ดีจากนักอ่าน ดังนั้น การคิดที่จะแปลเรื่อง Les Trois Mousquetaires ออกมาใหม่ให้สมบูรณ์ที่สุด เป็นงานที่ผู้แปล หรือไม่ว่าใครก็ตามจะต้องปลงใจแลกกับความเหนื่อยยากยาวนาน

แต่อาจารย์วัลยาเลือกที่จะตกลงปลงใจเช่นนั้น

แล้วงานก็เริ่มขึ้น

จนสุดท้ายสำเร็จลงได้อย่างสมกับคุณค่า เวลา และแรงงานที่ลงไป

การแปลครั้งนี้ อาจารย์วัลยาเลือกจะใช้ชื่อว่า “ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ” ข้ออธิบายคือเรื่องทั้งหมดนั้น ดาร์ตาญังคือตัวละครเอกของเรื่อง เป็นประวัติการผจญภัยของดาร์ตาญัง

คำว่า “สามทหารเสือ” หรืออื่นๆ ที่แปลมาจากภาษาเดิม หรือภาษาอังกฤษก็ตาม เป็นเสมอด้วยเพียงชื่อ “ตอน” หรือ “ภาค” หนึ่งของเรื่องเท่านั้น

กล่าวคือเป็นตอนที่ดาร์ตาญังร่วมผจญภัยกับทหารเสือทั้งสาม กระทั่งแยกย้ายกันไปในตอนท้าย

หลังจากนี้ ดูมาส์ยังเขียน “ตอน” หรือ “ภาค” ที่ว่าด้วย “สิบปีให้หลัง” และ “ยี่สิบปีให้หลัง” ตามมาอีก จึงอาจกล่าวได้ว่าสำนวนแปลของอาจารย์วัลยา จึงเป็นฉบับแปล ฉบับแรกที่มีการแปลอย่างสมบูรณ์ ตั้งแต่ประโยคแรกจนถึงประโยคสุดท้ายจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส

ถามต่อมาว่าแล้วใครแปลงานชุดนี้ก่อนหน้าอาจารย์วัลยา ?

คำตอบเท่าที่ค้นพบเจอ และ “สุพจน์” นำมาบอกเล่าด้วยคือในส่วนของประวัติการแปลเรื่องนี้เป็นภาษาไทย เรายังไม่อาจสอบค้นจนระบุรายละเอียดได้ในที่นี้

แต่เข้าใจว่าน่าจะมีหลายสำนวน

ซึ่ง “สันตสิริ” (อาจารย์สงบ สวนสิริ) เคยเล่าไว้ในถ้อยแถลง สำหรับเรื่องทแกล้วทหารสามเกลอ ฉบับพิมพ์ของสำนักพิมพ์ก้าวหน้าปี 2507 กล่าวว่า…อมตะนิยายของอาเล็กซางดร์ ดือมาส์ (ชื่อการพิมพ์สมัยนั้น) อันมีชื่อในพากย์อังกฤษว่า The Three Musketeers นี้ เดิมมีผู้แปลไว้ แต่ไม่จบ

ให้ชื่อภาษาไทยว่า “ทแกล้วทหารสามเกลอ” แล้วต่อมาเรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นเป็นภาพยนตร์ไม่น้อยกว่าสองครั้ง ครั้งที่จำกันได้ติดหูติดตาคือแสดงโดยดักลาส แฟร์แบงค์ส (พ่อ) และทางโรงภาพยนตร์ได้ใช้ชื่อตามชื่อหนังสือว่า…ทแกล้วทหารสามเกลอ

แต่กระนั้นก็ไม่ทราบอยู่ดีว่าใครเป็นผู้แปล

จนมาเจอบัตรรายการหนังสือหอสมุดกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีชื่อหนังสือ “ทแกล้วทหารสามเกลอ” ของอเล็กซานเดอร์ ดูมาส์ แปลโดยศิวากร พิมพ์ที่โรงพิมพ์ศิลป์ชัย เมื่อปี 2495

ในบัตรรายการระบุว่าหนังสือเล่มนี้มีความยาวเพียง 39 หน้ากระดาษ แต่กระนั้น หนังสือเล่มนี้ไม่รู้ไปอยู่ที่ไหน จึงทำให้ขณะนี้ก็ยังไม่ทราบว่า “ศิวากร” เป็นใคร

สำหรับฉบับพิมพ์ของสำนักพิมพ์ก้าวหน้าระบุว่าทแกล้วทหารสามเกลอผู้แปลคนแรกคือ “เลอสรร ธรรมพิชา” ปัจจุบันอยู่ออสเตรเลีย แต่ก็แปลไม่จบ จนทำให้ “สันตสิริ” ต้องแปลต่อเป็นคนที่สอง แต่ก็แปลไม่จบอีก
กระทั่ง “เสริม บุณยรัตพันธ์” แปลต่อเป็นคนที่สามจนจบเรื่อง ซึ่งถือเป็นการแปลตามต้นฉบับภาษาอังกฤษ

ดังนั้น การที่ “อาจารย์วัลยา” แปลจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส จึงเป็นการแปลที่สมบูรณ์ที่สุดตั้งแต่มีการแปลนวนิยายอมตะระดับโลกเรื่องนี้

สำคัญไปกว่านั้น “อเล็กซองด์ร์ ดูมาส์” ยังถูกยกย่องในระดับเดียวกับนักประพันธ์นามอุโฆษจากฝรั่งเศสอีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็นอูโก, โซลา, วอลแตร์, รุสโซ และมาลโรซ์

เพราะหลังจากครบรอบ 200 ปี แห่งชาตกาลของเขา อดีตประธานาธิบดีฌาคส์ ซีรัค แห่งประเทศฝรั่งเศสได้ให้เกียรติเขา ด้วยการนำร่างไปบรรจุในมหาวิหารป็องเต-อง เคียงคู่กับนักประพันธ์ทั้ง 5 นาม

ซึ่งถือเป็นเกียรติยศสูงสุดสำหรับนักประพันธ์คนหนึ่งของโลก

ที่เคยมีค่าเขียนหนังสือบรรทัดละ 3 ฟรังก์ เมื่อ 200 กว่าปีผ่านมา

ทั้งยังเคยได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งปารีส

แล้วเพราะเหตุใด ? ทำไม ? จึงมิหาซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านโดยพลัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image