คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง : สามหมื่นกีบรักษาทุกโรค ระบบประกันสุขภาพใหม่ลาว

การสาธารณสุขเพื่อรักษาสุขภาพอนามัยของประชาชนเป็นภาระหน้าที่ของรัฐในแทบทุกประเทศทั่วโลก นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ “30 บาท รักษาทุกโรค” ของไทย ซึ่งมีที่มาจากแนวคิดของ นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ และนำมาใช้งานได้ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี พ.ศ.2545 (ค.ศ.2002) นับเป็นความสำเร็จของนโยบายด้านสุขภาพที่ได้รับการยอมรับทั้งสหประชาชาติและธนาคารโลกนับถือว่าเป็นต้นแบบตัวอย่างนโยบายด้านสุขภาพของรัฐที่ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล สร้างโอกาสในชีวิต

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แม้ว่าจะเป็นประเทศสังคมนิยมที่ใช้หลักมาร์กซ์-เลนิน ในการบริหารประเทศ แต่ระบบการสาธารณสุขและการรักษาพยาบาลนั้นแตกต่างจากประเทศสังคมนิยมเข้มข้นอย่างคิวบาที่ให้รักษาฟรี โดยเฉพาะหลังการปฏิรูปเศรษฐกิจแบบ “จินตนาการใหม่” ทำให้การสาธารณสุขของลาวจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายสูง โดยโรงพยาบาลของรัฐนั้น แม้จะไม่คิดค่าบริการของแพทย์หรือพยาบาล แต่ก็ยังมีค่ายา ค่าอุปกรณ์การแพทย์ ค่าผ่าตัด รวมถึงค่าล่วงเวลาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการรักษา รวมถึงการขาดแคลนบุคลากรและอุปกรณ์ต่างๆ ทำให้การสาธารณสุขและการแพทย์ของลาวอยู่ในภาวะย่ำแย่ ชาวลาวที่มีเงินเพียงพอก็จะข้ามมารักษายังโรงพยาบาลของฝั่งไทยทั้งโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนเพราะเชื่อในคุณภาพการรักษาที่สูงกว่า

รัฐบาลลาวของ นายกฯทองลุน สีสุลิด รับทราบถึงปัญหาด้านการสาธารณสุขและการเข้าถึงแพทย์ของประชาชนลาว จึงได้ออกนโยบายใหม่ในปี 2016 คือนโยบายสามสิบพันกีบปิ้นปัวทุกพะยาด (หรือสามหมื่นกีบรักษาทุกโรค สามหมื่นกีบมีค่าประมาณ 120 บาท) โดยเริ่มต้นจากการทดลองปฏิบัติใน 4 แขวง ได้แก่ หลวงน้ำทา เซกอง ไซสมบูนและอัดตะปือ ใช้งบประมาณ 66,000 ล้านกีบ (ประมาณ 2,640 ล้านบาท) ได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ ในวันที่ 26 กันยายน 2017 จึงได้อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมอีก 180,000 ล้านกีบ (ประมาณ 720 ล้านบาท) เพื่อขยายโครงการเป็นทั่วประเทศให้ครอบคลุมทั่วถึงทั้งหมดภายในต้นปี 2018

การรักษาดังกล่าวครอบคลุมโรคเกือบทั้งหมด ยกเว้นโรคที่ต้องใช้การรักษาอย่างต่อเนื่องและใช้การรักษาขนาดใหญ่มีค่าใช้จ่ายสูง ได้แก่ โรคมะเร็ง การผ่าตัดกระดูกสันหลัง การฟอกไต โรคมาลาเรีย ซึ่งงบประมาณในระยะแรกยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติเพิ่มเติมจากสภาแห่งชาติ

Advertisement

ทำให้การเข้าถึงการรักษาพยาบาลของประชาชนลาวต่อจากนี้ ทำได้โดยการนำเอาบัตรประชาชน สำเนาสำมะโนครัว (ทะเบียนบ้าน) หรือใบรับรองที่นายบ้านออกให้ไปเข้ารับการรักษาที่สุขศาลาหรือโรงพยาบาลในเขตที่ตนอาศัยเพื่อรับสิทธิการรักษาจากกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยจ่ายเงินตามลำดับได้แก่ สุขศาลา 5,000 กีบ (20 บาท) โรงพยาบาลในฐานะผู้ป่วยนอก 20,000 กีบ (80 บาท) และโรงพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน 30,000 กีบ (120 บาท) ต่อครั้ง และหากสุขศาลาหรือโรงพยาบาลในท้องถิ่นขีดความสามารถในการรักษาไม่เพียงพอ ก็จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่ใหญ่กว่าโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

ในกรณีเกิดเหตุป่วยฉุกเฉิน หรืออุบัติเหตุ สามารถเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลแห่งใดก็ได้ที่ใกล้สถานที่เกิดเหตุ แต่ต้องแจ้งเรื่องต่อสถานพยาบาลในเมืองหรือแขวงที่ตนอยู่อาศัยเพื่อรับรองและโอนย้ายข้อมูลมาให้โรงพยาบาลที่รักษาอยู่ภายใน 48 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเข้าถึงแพทย์ยังแยกออกจากปัญหาคุณภาพในการรักษา ระบบสาธารณสุขลาวยังต้องการงบประมาณและความใส่ใจด้านการศึกษาอีกมากเพื่อปรับปรุงโครงสร้างการรักษาและคุณภาพในองค์รวม หากต้องการให้สุขภาพของประชาชนอยู่ในมือของผู้ปฏิบัติงานสาธารณสุขที่เชื่อถือได้และเป็นมิตรต่อประชาชนต่างจากเดิม

Advertisement

นโยบายรักษาพยาบาลสามหมื่นกีบรักษาทุกโรคนี้ นับว่าเป็นการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขขั้นพื้นฐานของลาว โดยรัฐบาลได้ใช้เงินทุนจากภาษีที่เก็บได้มากขึ้นเนื่องจากการกวดขันภาษีศุลกากรและภาษีถนนและรถยนต์นำมาจัดตั้งปฏิบัติให้ได้ผลในลำดับต่อไป โดยอาจเรียนรู้และแก้ไขปัญหาจากที่ประเทศไทยเคยประสบมาแล้วเพื่อจัดการระบบและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนของ สปป.ลาวอย่างยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image