คอลัมน์ หิวหรืออิ่มก็ยิ้มพอกัน : สารเคมีใน ‘เนื้อสัตว์’

ช่วงที่ผ่านมามีเรื่องราวหนึ่งที่สะกิด “ต่อมน่าสังเวช” ที่ทำให้เกิดความรู้สึกเศร้าใจต่อพฤติกรรมการอยู่ร่วมโลกเดียวกันของมนุษย์

เรื่องราวของประเทศมหาอำนาจที่ดิ้นรนหาทางให้ประเทศด้อยพัฒนา และประเทศกำลังพัฒนาซื้อเนื้อสัตว์ที่ผลิตจากฟาร์มในประเทศมหาอำนาจ

ฟาร์มเหล่านี้เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่เจ้าของร่ำรวยมหาศาลจากการผลิตเนื้อสัตว์ป้อนตลาดมายาวนาน ทั้งในประเทศตัวเองและต่างประเทศ

ถึงวันนี้ เนื้อสัตว์จากฟาร์มเหล่านี้ไม่สามารถหาตลาดในประเทศพัฒนาแล้วได้ ไม่เว้นแม้แต่ตลาดในประเทศมหาอำนาจนั้นเอง

Advertisement

สาเหตุเนื่องมาจากวงการอนามัยทั่วโลกรับรู้ผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ว่า เนื้อสัตว์ที่ผลิตจากฟาร์มเหล่านี้เป็น “อันตราย” หากนำไปกิน

เนื้อสัตว์จากฟาร์มเหล่านี้ปะปนด้วยสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ สะสมสิ่งที่เป็นพิษไว้ในทางกายจนเป็นสาเหตุให้เกิดโรคร้ายสารพัด อันตรายเสียยิ่งกว่า “เชื้อโรค”

ที่เป็นเช่นนี้เพราะฟาร์มเหล่านี้คิดแต่เรื่องธุรกิจที่มียอดขายและกำไรเป็นเป้าหมาย โดยไม่สนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนที่ซื้อไปกิน

Advertisement

เมื่อมีการทดลองกันด้วยวิธีวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้วพบว่า เนื้อสัตว์จากฟาร์มเหล่านี้เต็มไปด้วยสารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกาย โดยวงการอนามัยทั่วโลกกระตุ้นให้ตื่นตัวที่จะระมัดระวัง

ประเทศพัฒนาแล้วที่รัฐบาลมีหน้าที่ต้องดูแลประชาชน เพราะประชาชนเป็นผู้เลือกผู้บริหารประเทศ จึงสั่งห้ามนำเข้า และจำหน่าย

ป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง

พอเป็นแบบนี้นายทุนเจ้าของธุรกิจฟาร์มก็เดือดร้อน เพราะผลิตมาแล้วขายไม่ได้

หนทางของนายทุนที่ไร้สำนึกในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์เหล่านี้คือ ผลัดกันให้ผู้มีอำนาจประเทศตัว พยายามขายเนื้อสัตว์อันตรายเหล่านี้ไปให้ประเทศด้อยพัฒนา หรือประเทศกำลังพัฒนาที่ ผู้นำของประเทศเล็กๆ เหล่านั้นจำเป็นที่จะต้องอาศัยการแสดงว่ายอมรับจากประเทศมหาอำนาจเพื่อความรู้สึกว่ามีศักดิ์ศรีขึ้นมาบ้างในประชาคมโลก หรือเพื่อแลกเปลี่ยนกับสิทธิประโยชน์บางอย่าง เช่น “สิทธิในการซื้ออาวุธมหาอำนาจที่ถูกตัดไป”

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เอา “ความปลอดภัยในชีวิต ความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชน” ไปแลกเช่นนี้ ไม่ต่างอะไรกับความพ่ายแพ้สงคราม

เมื่อพูดถึงความมั่นคงในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความคิดแรกส่วนใหญ่จะเห็นในเรื่อง “ความมั่นคงจากการรักษาพรมแดน” สิ่งที่จะกระทบต่อความมั่นคงคือ “ดินแดนถูกบุกรุก”

และการซื้ออาวุธที่ทันสมัย เพื่ออวดแสนยานุภาพ คือ “ภารกิจหลักของการรักษาความมั่นคง”

ส่วน “ความมั่นคง” ที่ได้จาก “ความรู้สึกปลอดภัยของประชาชน” ไม่เป็น “อันตราย” จาก “การคุกคามชีวิตและสุขภาพประชาชน” ซึ่งเป็นความมั่นคงในอีกมิติหนึ่ง

ซึ่งจะว่าไปแล้ว “การมีชีวิตอยู่ด้วยความมั่นใจว่าจะปลอดภัยของประชาชน” นั้นน่าจะเป็นความมั่นคงที่แท้จริงมากกว่าเสียด้วยซ้ำ

เพียงแต่การมองเห็นความมั่นคงใน “ความปลอดภัยของประชาชน” เป็นเรื่องที่เกินกว่าสายตาที่เคยชินกับความมั่นคงในมิติอื่น

ประเทศไหนผู้นำมีสายตามองเห็นความมั่นคงในมิติใด

ดูได้จากการจัดสรรงบประมาณเพื่อบริหารประเทศ

ระหว่าง “งบซื้ออาวุธ” กับ “งบคุ้มครองผู้บริโภค”

ดูว่าผู้นำประเทศนั้นให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image