คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง : เงินดิจิทัลกับพรมแดนที่เลือนลางลง

ในยุคที่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตพัฒนาขึ้นด้วยความเร่งรวดเร็วสูง เทคโนโลยีธุรกรรมทางการเงินก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตามไปด้วย เนื่องจากการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือในทางการเงินทำให้ความผิดพลาดลดน้อยลง โอกาสทุจริตและฉ้อโกงก็ลดน้อยลง ทั้งยังลดต้นทุนทางการเงินให้กับทั้งสถาบันการเงินและผู้บริโภคที่ใช้บริการได้อีกด้วย

สภาพการใช้เทคโนโลยีทางการเงินของภาคเอกชนจึงพัฒนาอย่างรวดเร็วฉับไวข้ามพรมแดนประเทศ ตัวอย่างเช่น การใช้แอพพลิเคชั่น Alipay หรือ Wechatpay ของนักท่องเที่ยวจีนในร้านสะดวกซื้อทั้งในไทยและลาว ร้านสะดวกซื้อขนาดใหญ่อย่าง 7-11 และแฟมิลี่มาร์ทร่วมกับธนาคารพาณิชย์เปิดให้ใช้เครื่องรับจ่ายเงินผ่านแอพพ์ดังกล่าว ถึงขั้นที่ร้านค้าของไทยเองตามแหล่งท่องเที่ยวก็เริ่มรับค่าสินค้าและบริการผ่านแอพพลิเคชั่นทางการเงินเหล่านี้ด้วยเช่นกัน โดยแต่ละร้านค้ามี QR Code เพื่อให้ลูกค้าเลือกจ่ายเงินค่าสินค้าได้ตามสะดวก

เทคโนโลยีทางการเงิน หรือ Fintech ดังกล่าว ทำให้พรมแดนของความเป็นประเทศเลือนลางไป เพราะปกติการท่องเที่ยวหรือทำธุรกิจ ธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ จำเป็นต้องแลกเปลี่ยนเงินตราจากเงินสดของประเทศต้นทางเป็นเงินสดอีกสกุลของประเทศปลายทางเสียก่อน แต่เมื่อใช้แอพพลิเคชั่นทางการเงินเหล่านี้ ทำให้ผู้จ่ายเงินสามารถใช้เงินของตนเองจากบัญชีของธนาคารในประเทศของตนเองเพื่อจ่ายเงินให้แก่ผู้รับโดยตรงไม่ต้องผ่านขั้นตอนการแลกเปลี่ยนเงินตราในเบื้องหน้า โดยบริษัทเทคโนโลยีทางการเงินจะไปคิดค่าธรรมเนียมและตกลงเคลื่อนย้ายตัวเลขเงินตราในเบื้องหลังแทน โดยผู้รับและจ่ายเงินไม่ต้องใช้เงินสดสกุลที่แตกต่างกันอีกต่อไป

ยิ่งไปกว่านั้น เทคโนโลยีการเงินที่ใช้สกุลเงินแบบเข้ารหัส (Cryptocurrency) อย่าง Bitcoin (BTC) หรือ Ethereum (ETC) ยิ่งทำให้อำนาจของรัฐในการออกเงินตราเลือนลงไปอีก เนื่องจากสกุลเงินดังกล่าวอาศัยความน่าเชื่อถือของระบบเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ในการแจกแจงรหัสของเงินที่ใช้แทนการหนุนหลังของระบบอำนาจรัฐ หรือทองคำเป็นทุนสำรองแบบเดิม เมื่อนำมาประกอบกัน การใช้จ่ายที่อยู่ในระบบดิจิทัลจึงสะดวก ง่ายดาย และไม่จำเป็นต้องลำบากและเสี่ยงต่อการแลกเงินจำนวนมากข้ามประเทศ

อย่างไรก็ดี การใช้เงินดิจิทัลผ่านเทคโนโลยีและแอพพลิเคชั่นดังกล่าว ทำให้กิจการหลายประเภทต้องล้มเลิก หรือเหลือน้อยลง เช่น กิจการแลกเปลี่ยนเงินตรา กิจการตัวกลางซื้อขายสินค้า อีกทั้งยังเป็นอันตรายต่อการควบคุมการไหลเวียนของเงินตราในระดับประเทศ เนื่องจากการจัดการนำเงินเข้าออกของประเทศต่างๆ นั้น ที่ผ่านมาใช้มาตรการทางศุลกากรเพื่อจำกัดเงินสดโดยตรง แต่เมื่อเป็นเงินดิจิทัลแล้ว ก็ไม่สามารถทราบได้ว่าแต่ละคนนำเงินเข้าผ่านพรมแดนประเทศจำนวนเท่าใด และจะใช้จ่ายในประเทศนั้นๆ เท่าใด เนื่องจากธุรกรรมทั้งหมดเกิดขึ้นผ่านแอพพลิเคชั่นที่มีฐานข้อมูลในต่างประเทศ และเขตอำนาจทางกฎหมายของประเทศปลายทางอาจเอื้อมไม่ถึง

Advertisement

ตัวอย่างเช่น เมื่อนักท่องเที่ยวชาวจีนแผ่นดินใหญ่ขับรถเดินทางผ่านถนนสาย A12 มายังอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และซื้อสินค้าต่างๆ ตามรายทาง รวมถึงเครื่องประดับอัญมณีที่มีราคาสูงด้วยแอพพลิเคชั่น Alipay จากบัญชีของเขาในสกุลเงินหยวน แม่ค้าอัญมณีชาวพม่าก็เอาเงินที่ได้รับผ่าน Alipay ในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตนไปซื้อสินค้าเกษตรจากเกษตรกรชาวเขาชนเผ่าในลาวผ่าน Alipay เช่นกัน ก่อนที่เกษตรกรชาวเขาจะมาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคใน 7-11 ด้วยแอพพ์ Alipay จะเห็นได้ว่า เส้นทางการเงินดังกล่าวข้ามผ่านพรมแดน 4 ประเทศกับคนหลากเชื้อชาติ โดยที่เงินตราที่แท้จริงยังอยู่ในประเทศจีนเท่านั้น ไม่ได้ไหลผ่านประเทศอื่นๆ เลยแม้แต่น้อย และจะรับรู้เพียงขั้นสุดท้ายที่เงินถูกแปรเป็นเงินสดสกุลบาทโดยร้านค้าเข้าระบบของ 7-11 แล้วเท่านั้น

การปรับตัวของภาครัฐเพื่อรับรู้และดูแลกำกับกฎหมายให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจึงเป็นเรื่องสำคัญ หาไม่แล้ว พรมแดนที่เลือนลางเพราะระบบธุรกรรมทางการเงินของเอกชน อาจเป็นปัญหาต่ออำนาจทางการเมืองและทางการเงินของประเทศในไม่ช้านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image