งานพระเมรุ : คอลัมน์เดินไปในเงาฝัน

ต้องยอมรับความจริงว่าความรู้ทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับพระเมรุมาศต่างมีความสลับซับซ้อน เนื่องจากพระเมรุมาศเกี่ยวข้องกับศาสตร์หลายแขนง

ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ ประณีตศิลป์ และราชประเพณีโบราณสมัยต่างๆ

ดังนั้น การที่สำนักพิมพ์มติชนพิมพ์หนังสือ “งานพระเมรุ” ที่มี “ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ” เป็นบรรณาธิการ ทั้งยังเป็นอาจารย์ภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

จึงทำให้เกิดความน่าสนใจขึ้นมาทันที

Advertisement

และยิ่งน่าสนใจยิ่งขึ้น เพราะหนังสือเล่มนี้เชิญชวนสถาปนิก นักประวัติศาสตร์ นักภาษาศาสตร์ และนักวิจัยหลายแขนงมาร่วมกันเขียนบทความเรื่องต่างๆ

ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่พระเมรุ สถาปัตยกรรมสุดท้ายของชีวิตบนดินแดนสุดท้ายของฮินดูชนแห่งหมู่เกาะอินโดนีเซีย, งานพระเมรุ พระราชพิธีสะท้อนทิพภาวะแห่งองค์พระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยา, พระเมรุจากอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์, พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ราชันผู้ไร้พระเมรุมาศ

มหรสพสมโภช และการละเล่นในงานพระเมรุ สู่งานจิตรกรรมฝาผนังงานพระบรมศพพระพุทธเจ้าในจิตรกรรมสมัยรัตนโกสินทร์, บันทึกประวัติศาสตร์ในโลกจินตนาการ พระเมรุในจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และอื่นๆ

Advertisement

“ดร.เกรียงไกร” เขียนในบรรณาธิการแถลง บอกว่า…ผู้นำเสนอบทความต่างๆ มีความสนใจแตกต่างกัน ตามฐานทางความคิด และมีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่แตกต่างกันไป

แต่ยืนอยู่บนกรอบกว้างๆ ใน 2 ประเด็นด้วยกันคือ พื้นที่ ซึ่งกล่าวถึงพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเรื่องทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับงานพระเมรุในประเด็นต่างๆ แต่ละบทความที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้จึงมีประเด็น และมีข้อสรุปเป็นของตัวเอง

ไม่ได้มุ่งหมายให้เนื้อหามีความเฉพาะเจาะจงไปถึงเรื่องการพระราชพิธีที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่ยังสร้างประเด็นที่กว้างขวางออกไปถึงสังคม วัฒนธรรมในภาพรวม

ฉะนั้น เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น จึงขอหยิบความบางท่อนของแต่ละเรื่องมาเล่าสู่กันฟัง เหมือนดั่งเรื่อง “งานพระเมรุ พระราชพิธีสะท้อนทิพยภาวะแห่งองค์พระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยา” ที่มี “ดร.วรพร ภู่พงศ์พันธุ์” เป็นผู้เขียน บอกว่า…ปัจจัยที่สะท้อนทิพยภาวะของกษัตริย์ที่เห็นชัดเจนที่สุดประการหนึ่งคืองานพระราชพิธีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์พระมหากษัตริย์ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีโสกันต์ และงานพระเมรุมาศ

งานพระเมรุเป็นพระราชพิธีที่มีความสำคัญ ที่แสดงให้เห็นถึงทิพยภาวะและความเป็นสมมุติเทพของพระมหากษัตริย์เป็นอย่างดี กอปรกับเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ผู้ที่ดำรงสถานภาพของการเป็นสมมุติเทพโดยตรง ผลลัพธ์ที่แสดงออกมาในสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และพิธีการที่เกี่ยวเนื่องจึงมีความอลังการและมีขั้นตอนที่ละเอียด และใช้เวลาในการจัดงานมากกว่างานศพของคนธรรมดาหลายเท่าตัว

นอกจากนั้น “ดร.วรพร” ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การแสดงออกถึงทิพยภาวะของพระมหากษัตริย์ยังพบได้จากริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศแห่พระบรมศพด้วย เริ่มต้นจากการใช้ราชรถ ดังในเอกสารเรื่องจดหมายการพระศพสมเด็จพระรูป วัดพุทไธศวรรย์ กรุงเก่าเรียกว่าพระมหาพิไชยราชรถกฤษฎาทาน

ราชรถดังกล่าวได้ประดิษฐานพระบุษบกห้ายอดที่แสดงนัยถึงเขาพระสุเมรุและทวีปทั้งสี่เช่นเดียวกับพระเมรุ ลักษณะของพระมหาพิชัยราชรถในสมัยอยุธยาคงมีลักษณะใกล้เคียงกับพระมหาพิชัยราชรถแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและบุคคลอื่นๆ ในช่วงเวลานั้นเป็นผู้ที่เกิดทันเมื่อครั้งบ้านเมืองยังดีในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

ฉะนั้น จึงมีการถ่ายแบบมรดกทางวัฒนธรรมต่างๆ จากกรุงศรีอยุธยามาสู่ราชธานีใหม่ ณ กรุงรัตนโกสินทร์ และพระมหาพิชัยราชรถก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย ดังนั้น การอัญเชิญพระบรมโกศจากพระบรมมหาราชวังมายังพระเมรุ ด้วยรูปทรงของราชรถที่มีลักษณะเชื่อมโยงกับเขาพระสุเมรุ

กล่าวคือ บุษบกด้านบนทำหน้าที่ประดิษฐานพระบรมศพ และยังมีความหมายที่สะท้อนให้เห็นถึงพระวิมานบนยอดเขาพระสุเมรุ การใช้พระราชพาหนะดังกล่าวจึงเป็นเสมือนกับการประกาศว่าพระวรกายของพระมหากษัตริย์ผู้ล่วงลับที่ถูกอัญเชิญมานั้นมีสถานะเป็นประหนึ่งเทพที่สถิตอยู่บนเขาพระสุเมรุที่เป็นหลักจักรวาลและอาณาจักร และกำลังจะกลับไปสู่เขาพระสุเมรุอีกครั้งหนึ่งนั่นเอง

ขณะที่อีกบทความหนึ่ง เรื่อง “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ราชันผู้ไร้พระเมรุมาศ” โดยมี “วีรวัลย์ งามสันติกุล” และ “นิรินธน์ ภู่คำ” เป็นผู้เขียน บอกว่า…เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงจัดการตามที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสสั่งไว้ว่า…ถ้าพระองค์สวรรคตลงเมื่อไร ให้ทรงพระภูษาแดง และทรงผ้าสะพักขาวผืนเดียว

“เอาลงหีบ แล้วให้รีบถวายพระเพลิงพระบรมศพให้เร็วเท่าที่จะทำได้ และไม่ให้รับเกียรติยศอย่างใดๆจนอย่างเดียว ทั้งในต่างประเทศ และทางไทยเอาซอไวโอลินไปเล่นเพลงที่พระองค์โปรดคันเดียวในเวลาที่กำลังถวายพระเพลิงเพื่อแทนการประโคม และถ้าหลวงพิบูลฯยังมีอำนาจอยู่ตราบใด ก็ไม่ให้นำพระบรมอัฐิกลับมาบ้านเมืองเป็นอันขาด”

หลังการเสด็จสวรรคตและถวายพระเพลิงพระบรมศพนั้น ประเทศไทยอยู่ในภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ประกอบกับสถานการณ์การเมืองภายในยังไม่มั่นคงนัก นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีความคิดที่จะอัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับสู่ประเทศไทย และมีความพยายามดำเนินการเพื่อประสานรอยร้าวกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

“วีรวัลย์”และ “นิรินธน์” เขียนบอกเรื่องนี้ว่า นายปรีดีมีความคิดที่จะอัญเชิญสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯเป็นประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คณะใหม่ แต่ความพยายามของนายปรีดีล้มเหลว เนื่องจากการรัฐประหารโดยพลโทผิน ชุณหะวัณ ในเดือนพฤศจิกายน 2490 ส่งผลให้นายปรีดีต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ

จนกระทั่งในปี 2491 รัฐบาลภายใต้การบริหารของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นสมควรให้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเชิญเสด็จสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี กลับสู่ประเทศไทย เพื่อนำพระบรมอัฐิประดิษฐานร่วมกับสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราช และให้ขนานพระปรมาภิไธยตามพระราชอิสริยยศเมื่อครั้งเป็นพระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระบรมราชินี

ทั้งสองบทความเป็นตัวอย่างหนึ่งของอีกหลายบทความที่น่าสนใจในหนังสือเล่มนี้

ทั้งยังมีรายละเอียดอีกมาก

ที่สำคัญ ยังมีภาพประกอบโบราณ และภาพที่ถ่ายขึ้นมาใหม่อีกจำนวนหนึ่ง

จึงอยากแนะนำให้หาซื้อไปอ่านดู

รับรองคุณจะต้องชอบอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image