‘อิสระภาพ’ ที่เป็นไปได้ : คอลัมน์เริงโลกด้วยจิตรื่น

เมื่อมีเรื่องราวหนึ่งใดเกิดขึ้น และปรารถนาให้ทุกผู้ที่ได้สัมผัส เข้าถึงความเป็น “หนึ่งเดียว” ไม่มีความแตกต่างให้ในสิ่งที่รับรู้

หนทางเดียวที่จะเป็นไปเช่นนั้นคือ

ทุกคนต่างมองโดยไม่ผ่านทัศนคติของตัว เห็นตรงๆ ไปที่เรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้น

ด้วยไม่ว่าใครก็ตามหากมองเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้น ผ่านทัศนคติของตัวเอง ไม่มีทางที่จะเห็นเป็นอย่างเดียวกับใครได้

Advertisement

ทุกเรื่องราวที่เห็น ผลจะเป็นไปตามการปรุงแต่งของเครื่องส่งและเครื่องรับเสมอ

เครื่องส่งคือเรื่องราวที่ได้เห็น เครื่องรับคือทัศนคติของแต่ละคน

ทรรศนะคือความคิดต่อเรื่องหนึ่งใดย่อมถูกย้อมทัศนคติที่อยู่ในใจของแต่ละคน

Advertisement

ทำให้เรื่องเดียวกันนั้น บางคนชอบ บางคนไม่ชอบ บางคนเฉยๆ แยกย่อยเป็นชอบมากชอยน้อย ไม่ชอบมากไม่ชอบน้อย และระดับความชอบไม่ชอบ หรือเฉยๆ นั้นเอง จะทำให้การบอกเล่าในสิ่งที่ได้เห็นแตกต่างกัน

แต่ที่เห็นที่ประสพที่สัมผัสสัมพันธ์เป็นเครื่องเดียวกันทุกอย่าง

กลับไม่มีใครอธิบายได้เหมือนกันเป็น “หนึ่งเดียว”

บางคนชักชวนให้ชื่นชม บางคนชี้นำให้เกลียดชัง

หนทางเดียวที่จะสู่ความเป็น “หนึ่งเดียว” คือ ทุกคนมองอย่าง “ไร้ทัศนคติ”

แค่มอง แค่เห็นโดยไม่เอาความคิด หรือทัศนคติของตัวเข้าไปปรุงแต่ง

ทว่าสภาวะเช่นนั้นคล้ายกับเกิดไม่ได้เลย

แต่ละคนผ่านการสะสมทัศนคติอันหลากหลายมายาวนาน คุ้นชินกันการมองเรื่องราวต่างๆ แล้วตัดสินเอาตามทัศนคติของตัว เรื่องนี้ดี เรื่องนี้เลว เรื่องนั้นเป็นความสุข เรื่องนั้นเป็นความทุกข์ เรื่องโน้นมีประโยชน์มาก ประโยชน์น้อย มีโทษมากโทษน้อย

เป็นบวก เป็นลบกันไปตามทัศนคติ

เรื่องดีงามของคนหนึ่งจึงเป็นเรื่องแย่อย่างที่สุดของอีกคน หรือหลายๆ คนได้เสมอ

ดังนั้นการฝันว่าคนในสังคมจะเป็น “หนึ่งเดียว” คือไม่มีความคิดที่แตกต่างกัน เป็นเรื่องที่เป็นจริงได้ยาก หรือจะเรียกว่าเป็นไปไม่ได้ย่อมไม่ผิด

เว้นเสียแต่ว่ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาชำระล้างทัศนคติในทุกเรื่องราวให้สูญสิ้นไปจากจิตของมนุษย์ทุกคน แต่เพราะประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติยังไม่เคยพานพบว่ามีสิ่งนั้นอุบัติขึ้น

ด้วยเหตุนี้เองหากจะสรุปว่า ธรรมชาติของมนุษย์คือความแตกต่าง แม้จะไม่ตรงเสียทีเดียวก็เป็นอย่างนั้นมาตลอดทั้งที่มีมนุษย์ก่อเกิด

ภาระที่น่าจะดีกว่าสร้าง “ความเป็นหนึ่งเดียว” จึงน่าจะคือการฝึกฝนให้มนุษย์อยู่อย่างยอมรับความแตกต่างของเพื่อนร่วมสังคม

ให้สิทธิในคตวามแตกต่างของเพื่อนมนุษย์

ความอึดอัดคับข้องของมนุษย์เกิดขึ้นเพราะถูกเพื่อนร่วมสังคมบังคับให้ไม่เป็นตัวของตัวเอง ให้เป็นเหมือนคนอื่น เหมือนๆ กัน ชอบในสิ่งเหมือนๆ กัน เกลียดในสิ่งที่คล้ายๆ กัน

ซึ่งเป็นการฝืนความเป็นจริงแห่งความเคยชินในทัศนคติของแต่ละคน

การอำนาจที่เหนือกว่า ไม่ว่าจะเป็นอำนาจที่สร้างขึ้นมาด้วยอะไรก็ตาม บังคับให้คนเหมือนกันเป็นการสร้างความขัดแย้ง

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในใจของคนนั้น คนนี้ คนโน้น เนื่องด้วยทัศนคติส่วนตัวไม่เป็นไปอย่างที่ผู้มีอำนาจบังคับให้เป็น

ความขัดแย้งในใจของแต่ละคน จะขยายเป็นความขัดแย้งของสังคม

ก่อเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย

จริงอยู่อิสรภาพสูงสุดของมนุษย์อาจจะได้รับการชี้แนะว่า “ไร้ทัศนคติ ไร้ตัวตน” เป็นทั้งหนทาง และสภาวะที่เข้าถึงอิสรภาพที่แท้จริง

แต่ความเป็นจริงที่รับรู้กันมาตลอดการดำรงอยู่ของมนุษย์คือ

ไม่เคยมีสักยุคสมัยเดียวที่มนุษย์ทุกผู้ทุกคนจะอยู่ร่วมกันอย่าง “ไร้ทัศนคติส่วนตัว” ได้

ดังนั้น การยอมรับความแตกต่าง แม้ไม่ใช่อิสระภาพสูงสุด แต่เป็นอิสระภาพที่เป็นไปได้ที่สุดของมนุษยชาติ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image