ลอยทุกข์ลอยโศก : คอลัมน์ โลกสองวัย

ประเพณีการลอยกระทงมีบันทึกให้อ่านกันหลายความคิด จะเป็นวัฒนธรรม ประเพณีของไทย หรือของใคร รวมถึงมีในท้องถิ่นอุษาคเนย์มานานเท่าใดแล้ว กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากรควรศึกษาค้นคว้าไว้ใหม่

อะไรที่ไม่ใช่ไทยแท้แต่โบราณ ว่ากันตามข้อมูลหลักฐานที่มี ณ ปัจจุบันวันนี้ หากจะมีหลักฐานใหม่ที่เชื่อถือได้ ให้ปรับเปลี่ยนแก้ไขไปตามยุคสมัย ในที่สุดยุวชนรุ่นหลังจะได้เรียนรู้ว่า “อะไรคืออะไร”

เมื่อวันนี้การลอยกระทงเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง เป็นความเชื่อ เป็นความสนุกสนาน และเป็นศรัทธาของคนหนุ่มคนสาวที่พร้อมกันอธิษฐานจิต เป็นเรื่องของความรักระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย ก็ให้เป็นไปตามนั้น เพราะความเชื่อและศรัทธาในความรักย่อมเป็นเรื่องที่ดีงามเสมอ

ความเชื่อเรื่องการขอขมาลาโทษพระแม่คงคา แม่น้ำลำคลองที่เป็นชีวิตของคนไทยมาช้านาน โดยเฉพาะคนไทยที่ผูกพันกับแม่น้ำลำคลอง ใช้น้ำในแม่น้ำลำคลองหล่อเลี้ยงชีวิต ใช้ชะล้างตั้งแต่ร่างกายถึงเคหสถาน และสถานที่สาธารณะให้สะอาดหมดจด ย่อมเห็นคุณประโยชน์ของน้ำจากในแม่น้ำลำคลอง

Advertisement

เมื่อถึงวันเวลาหนึ่ง คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 จึงมีการขอขมาลาโทษ และแสดงความขอบคุณกันปีละครั้งหนึ่ง ความผูกพันของมนุษย์กับแม่น้ำลำคลองที่เกิดขึ้นจนเป็นการลอยกระทง ลอยทุกข์ลอยโศก ลอยทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่ดีงามให้ไปกับแม่น้ำลำคลอง

รวมถึงเพื่อให้เจ้าแม่คงคาดลใจให้สองหนุ่มสาวรักกัน อยู่เป็นครอบครัวเดียวกัน ให้เด็กและน้องหนูอธิษฐานถึงเรื่องการเรียนให้ประสบความสำเร็จ ไม่น่าจะเป็นเรื่องงมงายแต่ประการใด หากเราให้น้องหนูเรียนรู้เรื่องของประวัติศาสตร์ เรื่องของศาสนา เรื่องของวัฒนธรรมประเพณีที่มีมาแต่ดั้งเดิม เมื่อถึงวันนี้ ความหมายอาจแปรเปลี่ยนไปเป็นอื่น ดังนั้น การค้นคว้าวิจัยของนักวิชาการในแต่ละรุ่นแต่ละคนจึงมีความสำคัญที่ฝ่ายข้าราชการ โดยเฉพาะกรมศิลปากรควรเอาใจใส่และดูแลแก้ไขให้เป็นไปตามยุคสมัย ไม่ใช่ยังเป็นคนไทยที่อพยพมาจากเทือกเขาอัลไต

ข่าววันถวายพระเพลิงพระบรมศพ คืน 26 ตุลาคม ระหว่างควันไฟลอยออกจากปล่องพระเมรุมาศ มีผู้คนเห็นนกกระยางฝูงหนึ่ง นับได้ 9 ตัว บินวนเวียนเหนือพระเมรุมาศขณะถวายพระเพลิง “ไลน์” รายงานว่าเป็นความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นให้พสกนิกรเห็น

Advertisement

นกกระยาง ในภาษาญี่ปุ่น เรียกว่า “ตันโจ” ตามนิทานโบราณญี่ปุ่นกล่าวว่า นกกระยางเป็นพาหนะพาดวงวิญญาณเดินทางไปสวรรค์ ปกตินกกระยางจะไม่บินในเวลากลางคืน

วันที่ 26 ตุลาคม เป็นวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศ

สนามหลวง ตั้งแต่เช้าตรู พระราชพิธีทางศาสนา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงประกอบพิธีธรรม พนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งหลายอัญเชิญพระบรมโกศจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปสู่พระเมรุมาศ

ตั้งแต่คืนก่อน ถึงตลอดวันคืน 26 ตุลาคม 2560 มีผู้เข้าร่วมพิธีวางดอกไม้จันทน์ทุกจังหวัด ทุกอำเภอ รวมทั้งสิ้น 878 แห่ง ผู้ร่วมพิธี 16,160,884 คน ในกรุงเทพมหานครมีผู้ร่วมพิธี 2,965,856 คน

ทั้งประเทศมีผู้ร่วมพิธี 19,126,740 คน

นับตั้งแต่พสกนิกรเข้าไปต่อปลายแถวเพื่อเข้าไปร่วมวางดอกไม้จันทน์ถวายพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ถึงพานรองรับดอกไม้จันทน์ใช้เวลานานนับชั่วโมง

นับตั้งแต่เช้ามืดที่ประชาชนต่างไปยืนเข้าแถวค่อยๆ เคลื่อนเข้าสู่สถานวางดอกไม้จันทน์ กว่าจะวางดอกไม้จันทน์และกลับออกมาได้ใช้เวลาน้อยที่สุด 2 ชั่วโมง ยาวนานที่สุด 6 ชั่วโมง

โดยเฉพาะพระเมรุมาศจำลองใกล้กับสนามหลวง ช่วงเย็น หลังจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวางดอกไว้จันทน์เรียบร้อยแล้ว และเสด็จพระราชดำเนินกลับ ปรากฏฝนซึ่งเมฆลอยหนาอ้อยอิ่งตั้งแต่ยามบ่าย แปรเป็นฝนตกกระหน่ำลงมากระทั่งพสกนิกรเปียกปอนไปหมด แต่ไม่มีคำว่าย่อท้ออย่างใด

น้ำตาและน้ำฝนผสมกันเป็นหยาดน้ำตาแห่งความอาลัยที่สุดทั้งน้ำตาฟ้าและน้ำตาคนไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image