ดูนกตากาล็อก (3) คอลัมน์ ประสานักดูนก

นกกระเต็นลายไข่มุก

เมื่อประชุมวิชาการ ศึกษาดูงานบ้านเขา 4 วันแล้ว ก็ถึงเวลาเที่ยวต่อ

ทริปนี้เป็นครั้งแรกที่ไปดูนกฟิลิปปินส์ มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์สูง ขนาดติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศที่มีจำนวนนกถิ่นเดียว มากที่สุดในโลก ถึง 34% จากจำนวนนกทั้งหมด 673 ชนิด มีนกถิ่นเดียวหรือนกเฉพาะถิ่น ที่ไม่พบในประเทศอื่นๆ ถึง 234 ชนิด ถ้าอยากเห็น อยากชื่นชมในธรรมชาติ ด้วยตาตนเองก็ต้องไปให้ถึงบ้านของนกชนิดนั้นๆ เป็นที่มาของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่ก่อเกิดรายได้ให้ท้องถิ่นและชุมชนจำนวนมหาศาล เพราะนักดูนกมีอยู่ทุกทวีป และจำนวนไม่น้อยบันทึกจำนวนชนิดของนกที่เคยพบเห็น เรียกว่า *life list* หรือ *world list* เมื่อต้องการจะเห็นนกถิ่นเดียว ที่ไม่มีทางได้เห็นในประเทศบ้านเกิดของตนเอง ก็ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลมาเที่ยวบ้านอื่นเมืองไกลแบบนี้แหละครับ

ทริปนี้มีเวลา 9 วัน หากถามว่าทำไมถึงเลือก *เกาะมินดาเนา* เป็นแห่งแรกของทริปดูนกตากาล็อก คำตอบแรกสุดที่หลายๆ คนคงเลือกเป็นเหตุผล คือ *นกอินทรีกินลิง* หรือ*นกอินทรีฟิลิปปินส์* ยิ่งส่วนตัวหลงรักนกนักล่าเป็นพิเศษ ขนาดทำวิจัยก็เน้นนกกลุ่มนี้มาชั่วชีวิต ยิ่งต้องเป็นความฝันอันดับต้นๆ ในฐานะนักดูนก นอกจากนั้น ในจำนวน 234 ชนิด บนเกาะมินดาเนามีนกถิ่นเดียวที่ไม่พบบนเกาะอื่นๆ ของประเทศถึง 32 ชนิด อาทิ นกกระเต็น นกเอี้ยง และนกเงือก

“เกาะมินดาเนา” เป็นเกาะขนาดใหญ่ทางทิศใต้ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ รองจากเกาะลูซอน แต่สถานการณ์ทางการอนุรักษ์ไม่ต่างกัน ป่าดิบชื้นถูกคุกคามจากน้ำมือมนุษย์ที่ต้องดำรงชีวิต เมื่อมีต้นทุนน้อย ก็หันไปหาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่รอบตัว หารายได้จากการตัดไม้ ซึ่งโสตหนึ่งเป็นสาเหตุหลักของการทำลายป่า แต่อีกโสตหนึ่ง เมื่อชีวิตต้องดำเนินต่อไป ชาวบ้านเหล่านี้ต้องดิ้นรน เพื่อเอาตัวรอด ดังนั้น หากรัฐไม่มีท่าที หรือช่องทางประสานผลประโยชน์และควบคุมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติให้สมดุล ยั่งยืน ผลกระทบที่ตามก็อย่างที่เรารับรู้กันมามาก ว่าป่าไม้ย่อมหดหายไปเรื่อยๆ

Advertisement

บนเกาะมินดาเนา ในอดีต ที่เมืองบิสลิก มีบริษัทที่รัฐให้สัมปทานเอกชนทำไม้อย่างยั่งยืน คือตัดแล้วต้องปลูกเพิ่ม ขึ้นมาทดแทน เรียกสั้นๆ ว่า PICOP ย่อมาจาก the Paper Industries Corporation of the Philippines ในอดีตก็ดำเนินไปด้วยดี แต่ต่อมาบริษัทกำไรหดหาย ยกเลิกกิจการ ชาวบ้านรอบพื้นที่เมื่อมีประชากรมากขึ้นก็บุกรุกเข้าไปตัดไม้ตามใจชอบ หาได้ปฏิบัติตามระเบียบของทางรัฐไม่ ในขณะที่พื้นที่ป่า PICOP นับเป็นป่าดิบชื้นที่ราบต่ำอันอุดมสมบูรณ์ด้วยนกป่ามากมาย รวมถึงนกถิ่นเดียวมากกว่า 100 ชนิด!

เมื่อนักดูนกเดินดูนกอยู่บนถนนลูกรังที่เคยเป็นช่องทางขนถ่ายซุงไม้ออกมา จะได้ยินเสียงเลื่อยไฟฟ้าดังขึ้นตลอดเวลา ยิ่งได้ยิน ยิ่งช้ำใจ เพราะนั่นหมายถึงบ้านของนกป่า หดหายไปเรื่อยๆ ป่าจะกลายเป็นหย่อมเล็กๆ ที่ตัดขาดจากกันมากขึ้น และชนิดพันธุ์ที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะขาดแคลนไม้ใหญ่ เพราะถูกตัดไปใช้ประโยชน์ ทั้งสร้างบ้าน แปรสภาพไว้ขาย

มากที่สุด คือ นกเงือกที่วิถีชีวิตต้องพึ่งพาโพรงไม้ในต้นไม้ใหญ่สูง 20-30 เมตร มี 2 ชนิด ล้วนเป็นนกถิ่นเดียว คือ *นกเงือกสีน้ำตาลแดง* ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดกับนกกกในบ้านเรา ทั้งรูปลักษณ์ และเสียงร้อง และ*นกแก๊กมินดาเนา Mindanao Taricitc Hornbill* ซึ่งแตกสาแหรกมาจากนกแก๊กในบ้านเราเหมือนกัน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image