คอลัมน์ แปดหมื่นหกพันก้าว : ตะเกียบ 3 ชาติ

มองเผินๆ หลายคนอาจไม่ได้ทันสังเกตว่า อุปกรณ์มื้ออาหารสำคัญอย่าง “ตะเกียบ” ที่ใช้กันในชาติหลักๆ อย่าง จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลี นั้น มีความแตกต่างกัน

เป็นความแตกต่างที่มีที่ไปทางประวัติศาสตร์ สะท้อนให้เห็นถึง “วัฒนธรรมการกิน” ดั้งเดิมของ 3 ชาติ ผ่านอุปกรณ์การคีบอาหารนี้

ถ้าย้อนไปถึงการใช้ตะเกียบครั้งแรกมีตั้งแต่ ศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล ตะเกียบยุคแรกมีหลายรูปทรง หลายวัสดุ ตามแต่ละท้องถิ่นจะสร้างขึ้นมา

กระนั้นเมื่อลงไปดูในรายละเอียด เราไม่สามารถเหมารวมได้ว่า ตะเกียบไหนๆ ก็เหมือนกันอีกต่อไป แท้จริงแล้วตะเกียบที่แต่ละชาติใช้ ต่างก็มีรายละเอียดเล็กๆ ซ่อนอยู่ อย่างตะเกียบญี่ปุ่นนั้น หากสังเกตจะเห็นว่ามีลักษณะปลายจะค่อยๆ เล็กเรียว ส่วนตะเกียบจีน จะมีความยาวกว่าตะเกียบญี่ปุ่น และปลายกลมไม่เรียวเท่าของญี่ปุ่น ขณะที่ฟากตะเกียบของเกาหลีเรามักจะเห็นว่าเป็นตะเกียบที่เป็นโลหะและหลายครั้งจะเห็นรูปทรงออกแนวแบน

Advertisement

หนังสือ Chopsticks A Cultural history เขียนโดย “เอ็ดเวิร์ด หวัง” นักประวัติศาสตร์วัฒนธรรมเอเชีย เล่าไว้ได้น่าสนใจถึงนัยยะของการใช้ “ตะเกียบ” ใน 3 ชาติ

เริ่มจากจีน ชนชาติที่มีวัฒนธรรมการกินแบบ “แบ่งปัน” บนโต๊ะ มีกับข้าวมาวางไว้ตรงกลาง และใช้ตะเกียบคีบกินร่วมกัน รูปแบบการกินแบบนี้มาพร้อมกับช่วงศตวรรษที่ 10 ที่จีนเริ่มใช้โต๊ะและเก้าอี้นั่งกินข้าวร่วมกัน

ลักษณะการกินร่วมกันนี้เป็นคำตอบว่า “ตะเกียบจีน” จึงมีความยาวกว่าญี่ปุ่นและเกาหลี เพราะเราจะได้ยื่นมือใช้ตะเกียบคีบอาหารจากกับข้าวจานที่อยู่ไกลหน่อยได้สะดวกนั่นเอง อีกทั้งยังช่วยให้การกินอาหารจำพวกต้มซุปเวลาคีบแล้วน้ำร้อนจากหม้อไม่กระเด็นใส่มือด้วย

Advertisement

มาที่ “ตะเกียบญี่ปุ่น” ที่ปลายเรียวแหลม เพราะคนญี่ปุ่นนิยมกินปลาในทุกมื้อ ตะเกียบแบบนี้ช่วยให้แกะเนื้อปลาหลบก้างปลาได้ง่ายขึ้น และรูปแบบการกินคนญี่ปุ่นนิยมกินแบบเซตอาหารของใครของมัน ดังนั้นการใช้งานก็จะแตกต่างจาก “ตะเกียบจีน” ข้างต้น

ขณะเดียวกันอีกเหตุผลหนึ่งที่นักประวัติศาสตร์อธิบายคือ คนญี่ปุ่นในอดีตเชื่อว่าเมื่อปากได้สัมผัสกับตะเกียบ ก็เปรียบเหมือนจิตวิญญาณของเราได้สัมผัสกับตะเกียบเช่นกัน แน่นอนว่าการใช้ตะเกียบของญี่ปุ่นจึงเป็นเรื่องส่วนตัวสูง

ปิดท้ายที่ “ตะเกียบเกาหลี” แตกต่างในแง่ของ “วัสดุ” ใครเป็นติ่งซีรีส์เกาหลีคงจะเห็นประจำว่า ช้อนและตะเกียบเกาหลีมักจะทำด้วยโลหะ “เอ็ดเวิร์ด หวัง” อธิบายว่า ย้อนไปเมื่อศตวรรษที่ 7 ชาวเกาหลีใช้ตะเกียบที่ทำจากโลหะเงิน เพราะเชื่อว่าจะช่วยป้องกันพิษจากสารหนูในอาหารได้ อีกทั้งตะเกียบเงินยังนิยมใช้กับการชิมอาหารในวังป้องกันการถูกลอบวางยาพิษนั่นเอง

กระนั้นตะเกียบเงินถือว่ามีราคา และไม่ใช่ชาวเกาหลียุคนั้นจะใช้กันได้โดยทั่วไป ทำให้มีการปรับเปลี่ยนไปใช้โลหะประเภทอื่นผลิตตะเกียบแทน

เป็นเรื่องโดยย่อของตะเกียบ ที่สะท้อนให้เห็นรากเหง้าของวัฒนธรรมการกินในแต่ละชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image