น้องหนูรู้เรื่อง QR Code แล้วนะจ๊ะ คอลัมน์ โลกสองวัย

วันนี้ 5 ธันวาคม เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พสกนิกรไทยขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ ตราบนานเท่านาน

ทั้งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชานุญาตให้ขยายการเข้าชมพระเมรุมาศออกไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 เพื่อพสกนิกรไทยที่ยังไม่มีโอกาสชมพระเมรุมาศ จะได้มีโอกาสเข้าชมและถวายความเคารพ ชื่นชมสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์และงดงามหาที่เปรียบมิได้

วันนี้คนไทยจะมีโอกาสเข้าสู่มิติใหม่ในการชำระเงินจากเงินสดสู่ระบบ QR Code ซึ่งธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเริ่มเปิดให้บริการชำระเงินรูปแบบนี้ เพื่อก้าวสู่ยุคการ “สแกน” เพื่อจ่าย และใกล้จะหมดยุคพกพาเงินสดติดกระเป๋าเพื่อจ่ายเงินสดหรือบัตรมาชำระเงินอีกต่อไป

น้องหนูคงรู้จักระบบ QR Code มาบ้างแล้ว

Advertisement

QR Code ย่อมาจาก Quick Response Code คือระบบรหัสเส้นเรียงตัวเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส พัฒนาจากบาร์โค้ดที่เป็นแถบสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวนอนซึ่งเห็นกันจนชินตาในใบเก็บเงินค่าต่างๆ เช่นใบเสร็จเก็บเงินค่าไฟฟ้า

คิวอาร์โค้ดทันสมัยกว่าบาร์โค้ด ใส่รหัสเฉพาะได้หลายหน่วยและอ่านง่าย เพียงใช้โทรศัพท์มือถือที่มีฟังก์ชั่น หรือแอพพลิเคชั่นส่องไปที่รหัสนั้น ระบบจะตอบสนองทันที ไม่ว่าจะลิงก์เว็บไซต์ แอดไลน์ ล่าสุด เทคโนโลยีนำคิวอาร์โค้ดเข้าสู่ระบบการชำระเงิน หรือคิวอาร์เพย์เมนต์เรียบร้อยแล้ว

การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดของธนาคารที่พัฒนาขณะนี้ แบ่งกว้างๆ ออกเป็น 2 ประเภท คือ ชำระเงินภายในประเทศ จำพวกพร้อมเพย์ บัตรเดบิต และชำระเงินต่างประเทศที่ผ่านบัตรเครดิต ที่มีระบบชำระเงินต่างประเทศ อาทิ วีซ่า มาสเตอร์การ์ด ยูเนียนเพย์

Advertisement

เราเริ่มใช้คิวอาร์โค้ดมาตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม คือ คิวอาร์เพย์เมนต์ในประเทศ เรียกง่ายๆ ว่า “คิวอาร์พร้อมเพย์ (QR Promptpay)” เป็นการหักบัญชีแบบพร้อมเพย์ผ่านโทรศัพท์มือถือ

คิวอาร์พร้อมเพย์กำจัดจุดอ่อนการชำระเงินคิวอาร์โค้ดในอดีตที่จ่ายได้เฉพาะธนาคารเดียวกัน แต่จากนี้ไม่ว่าผู้จ่ายมีบัญชีธนาคารใด หรือร้านค้ามีบัญชีธนาคารใด เป็นเรื่องส่วนบุคคลไม่บังคับ ชำระเงินให้กันและกันได้แน่นอน

วันนี้ ธนาคารส่วนใหญ่มีบริการคิวอาร์พร้อมเพย์ฝังในโมบายแบงกิ้งครบถ้วนแล้ว

คนไทยได้รับข่าวการชำระเงินแบบคิวอาร์โค้ดได้ชัดเจนในประเทศจีน ซึ่งใช้ระบบนี้เกือบทั่วประเทศ แม้แต่แผงลอยข้างถนนรับชำระเงินผ่านวอลเล็ตจาก 2 ยักษ์ใหญ่คือ อาลีเพย์และวีแชทเพย์ ซึ่งการชำระเงินทั้งสองค่ายเริ่มคืบคลานเข้ามาสู่ประเทศไทยแล้ว ดังเห็นได้จากนักท่องเที่ยวจีนซื้อสินค้าที่จตุจักรผ่านคิวอาร์โค้ด หรือแม้ในร้านสะดวกซื้อมีการเปิดรับเงินผ่านระบบนี้

การใช้จ่ายด้วยระบบคิวอาร์โค้ดเงินไม่ได้หายไปไหน แต่ต้องระวังการใช้จ่ายเกินตัว ขณะที่การใช้จ่ายเงินในรูปแบบนี้ปลอดภัยและง่ายกว่าใช้เงินสด การใช้โทรศัพท์มือถือที่เป็นโมบายแบงกิ้งต้องเข้ารหัสหลายชั้น แต่การพกพาเงินสดไว้ในกระเป๋า หากทำหล่นหาย หรือถูกฉกชิง การสูญหายเป็นไปง่ายดาย

วันนี้น้องหนูคุ้นเคยกับเทคโนโลยีเต็มที่ แทบว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ขณะที่ดิจิทัลแบงกิ้งมีบทบาทมากขึ้น มียอดการใช้งานเติบโตเป็นเท่าตัวในแต่ละปี ความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี บวกระบบความปลอดภัยดิจิทัลที่แบงก์ป้องกันให้น่าจะสร้างสังคมลดการใช้เงินสดหมดไปในไม่ช้า

เทคโนโลยีการชำระเงินคงไม่หยุดพัฒนาเพียงคิวอาร์โค้ด หากยังพัฒนาไปได้ไกลตราบเท่าที่เทคโนโลยีก้าวล้ำไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง เช่น กระทรวงการคลังฉีกภาพการเป็นหน่วยงานราชการคร่ำครึด้วยการใช้ระบบชำระเงินแบบสแกนใบหน้า ล้ำหน้าไปแล้ว

วันนี้ ในต่างประเทศ Amazon Go เป็นห้างที่ไม่ใช้เงินสด ดังที่ทราบดีแล้วว่า หยิบสินค้าแล้วเดินออกจากห้าง ระบบอัตโนมัติจะคำนวณราคาสินค้าแล้วไปหักเงินในบัญชีของเราเรียบร้อย

แต่แม้ไม่มีเงินสด ต้องมีสติคิดก่อนใช้ป้องกันตัวเองไว้ก่อน (นำเนื้อหามาจาก ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image