คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง : ประชากรลด เด็กหด อีสานจะทำอย่างไร

สังคมผู้สูงอายุ ไม่ใช่แค่คำตอบสวยๆ ของ มารีญา ในการประกวดนางงามจักรวาลที่ผ่านมาเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงกับสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคอีสานที่จำนวนประชากรลดลงมากกว่าภาคอื่น โดยจากการสำรวจสำมะโนประชากรรอบปี 2553 พบว่าประชากรลดลงถึงร้อยละ 1.2 ในขณะที่ภาคอื่นคงที่หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

จากสถิติการสำรวจจำนวนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ในปี พ.ศ.2559 โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนผู้สูงอายุแบ่งเป็นชาย 1,412,512 คน หญิง 1,705,251 คน รวม 3,117,763 คน คิดเป็นร้อยละ 14.21 ของประชากรทั้งภาค 21,945,392 คน ในขณะเดียวกัน จำนวนเด็กที่เข้าเรียนก็ลดน้อยถอยลงอย่างมาก จากสำมะโนประชากรปี 2553 เทียบกับปี 2543 เห็นว่า เด็กเกิดใหม่ลดลงถึง 240,000 คน และเยาวชนวัยเรียนอายุไม่เกิน 25 ปี ของภาคอีสาน ลดลงรวมกันมากถึง 600,000 คน

ถ้าคิดว่าการบริโภคและต้นทุนในการเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่เกิดจนเรียนจบชั้นปริญญาตรีหนึ่งคน ใช้เงินอย่างต่ำประมาณ 5 ล้านบาท เท่ากับว่าการใช้จ่ายในระบบจะหายไปจากภาคอีสานถึง 3 ล้านล้านบาท ในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งการหายไปดังกล่าวนอกจากจะกระทบต่อการบริโภคและการค้าขายแล้ว ยังกระทบต่อการหาทรัพยากรบุคคลมาทำงาน ประกอบอาชีพ และเลี้ยงดูผู้สูงอายุที่นับวันจะมากขึ้นเช่นกัน ตลาดที่เล็กลงหมายความว่าโอกาสในการก่อร่างสร้างตัว ทำงาน ก็ลดลงตามไปด้วย ในขณะที่ทุนใหญ่ระดับชาติครอบงำตลาดเดิม ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางฐานะสะสมมากขึ้นตามลำดับ

นอกจากนี้ จำนวนประชากรวัยทำงานที่ลดลง จะส่งผลต่อภาษีในท้องถิ่น ซึ่งใช้ในการบำรุงรักษาและดูแลชุมชนจะลดน้อยถอยลงตามไปเช่นกัน

Advertisement

กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากจำนวนเด็กและวัยรุ่นในอีสานที่ลดลงมากอันดับต้นๆ คือกลุ่มสถานศึกษา ในระยะสิบปีที่ผ่านมา กระแสการ

กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและเงินกู้กองทุนเพื่อการศึกษา (กยศ.) ช่วยเสริมโอกาสการศึกษาให้กับประชาชนในชนบท ก่อให้เกิดโรงเรียนพาณิชย์ เทคนิค วิทยาลัย และสถานศึกษาเฉพาะต่างๆ ในอีสานจำนวนมาก แต่เมื่อประชากรเด็กและวัยรุ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง สถานศึกษาเหล่านั้นต้องแย่งตัวผู้เรียนด้วยอุปกรณ์การเรียนต่างๆ ในราคาแพง พร้อมกับขึ้นค่าเรียนเพื่อรักษาผลประกอบการไปด้วย การเข้าถึงการศึกษาชั้นสูงจึงยิ่งลำบากมากขึ้น

ในขณะที่เราพบปัญหาการมีลูกก่อนวัยเรียนหรือ “ท้องไม่พร้อม” มาก แต่จำนวนเด็กที่เกิดจากครอบครัวที่มีศักยภาพกลับน้อยลงหรือ “พร้อมไม่ท้อง” จึงหาโอกาสและความสมดุลได้ยากยิ่ง

Advertisement

การแก้ไขปัญหาประชากรสูงอายุนี้อาจหาทางออกได้สามทาง คือ การเร่งรณรงค์ให้มีลูกมากขึ้น และมีลูกอย่างมีคุณภาพโดยอาศัยการอุดหนุนจากรัฐ เช่นเดียวกับที่รัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ทำในช่วงก่อนสงครามโลก การรับเอาชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยอย่างมีคุณภาพแปลงสัญชาติเป็นไทยให้ถูกกฎหมายได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแรงงานต่างด้าวชาวลาว กัมพูชา พม่า และไทใหญ่ ที่สะสมทุนและส่งลูกหลานเรียนในไทย เช่นเดียวกับคนรุ่นพ่อแม่ชาวจีนและเวียดนามอพยพทำมาก่อนในอดีต และการเร่งใช้หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์เข้าทำงานในอุตสาหกรรม ซึ่งทั้งสามทางนี้ต้องมีแนวนโยบายที่เด่นชัดและเร่งปฏิบัติอย่างด่วน

ในส่วนของภาคอีสานซึ่งพบปัญหาท้องไม่พร้อม และการส่งลูกให้ญาติผู้ใหญ่วัยชราเลี้ยงดูค่อนข้างสูง อาจแก้ไขขั้นต้นด้วยการสนับสนุนทุนในการเลี้ยงดูเด็กและเยาวชน ทุนการศึกษา เพื่อพัฒนาเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่ไม่พร้อมให้มีคุณภาพมากขึ้น พร้อมจะเป็นคนดีของสังคมในลำดับแรก

ทั้งภาครัฐและเอกชนจึงควรร่วมกันใส่ใจปัญหาเชิงประชากรนี้ในทุกระดับก่อนที่จะเข้าสู่จำนวนวิกฤต คือภายใน 20 ปีข้างหน้าที่อัตราส่วนวัยทำงานกับวัยชราจะลดลงสร้างภาระให้กับระบบสังคมจนสายเกินไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image