คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง : เขตเศรษฐกิจพิเศษอีสาน แผนที่ไม่เกิดขึ้นจริง

ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2558 ซึ่งเป็นวันที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามประกาศใช้คำสั่ง คสช.ที่ 17/2558 กำหนดแนวเขตที่ดินที่จะใช้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพิกถอนเขตที่ดินสาธารณสมบัติอันประชาชนใช้ร่วมกัน เขตปฏิรูปที่ดิน แนวเขตป่าสงวน และเขตป่าไม้ถาวร ที่เสื่อมสภาพทรุดโทรม กลายเป็นทุ่งนาและชุมชนมาก่อนแล้วใน 6 จังหวัด ได้แก่ ตาก มุกดาหาร สงขลา สระแก้ว ตราด และหนองคาย ให้เป็นที่ราชพัสดุ และต่อมายังมีการแก้ไขเพิ่มเติม ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2559 เพิ่มเติมพื้นที่จังหวัดนครพนมและกาญจนบุรี มีแผนจะพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อรองรับการลงทุนของธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุนจากประเทศจีน

จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ปรากฏความคืบหน้าเคลื่อนไหวใดๆ ในพื้นที่ดังกล่าว

การกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษ จำเป็นต้องอาศัยกรอบกฎหมายเป็นพื้นฐาน แต่ลำพังการกำหนดกรอบกฎหมายเพียงอย่างเดียว ย่อมไม่สามารถสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษให้สำเร็จตามเป้าหมายได้

ความสำเร็จของเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศจีนอันเป็นตัวอย่างของเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศต่างๆ ที่พยายามเลียนแบบ เกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่างการกำหนดยุทธศาสตร์และอำนวยความสะดวกของภาครัฐ, การดึงดูดนักลงทุนภาคเอกชน, แรงงานที่มีคุณภาพ และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจไปพร้อมกัน

Advertisement

เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของจีน อย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษปากแม่น้ำไข่มุก (เสิ่นเจิ้น-จูไห่-กว่างโจว) นั้นเพียบพร้อมด้วยปัจจัยสำคัญหลัก อันได้แก่ ท่าเรือน้ำลึก ระบบโครงข่ายถนนทางด่วนและรถไฟความเร็วสูง โรงงานไฟฟ้าและเขื่อน กรอบกฎหมายที่ให้อิสระด้านการเงินและภาษี การใกล้ชิดกับแหล่งทุนฮ่องกง-มาเก๊า และแรงงานวัยรุ่นจำนวนมากที่พร้อมศึกษาและเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อรับกับอุตสาหกรรมไฮเทค

ในขณะที่ปัจจัยพื้นฐานของพื้นที่ที่ประกาศเวนคืนเพื่อวางแผนให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย โดยเฉพาะในภาคอีสานนั้นยังขาดแคลนแทบทุกปัจจัย ระบบการขนส่งทางรางยังหยุดชะงัก ไม่ว่าจะเป็นรถไฟรางคู่หรือรถไฟความเร็วสูง ในส่วนของนครพนมและมุกดาหารที่มีแผนสร้างรถไฟต่อเชื่อมไปถึงจากแยกบ้านไผ่ที่ขอนแก่น ก็ไม่มีทีท่าว่าจะได้ก่อสร้างในเร็ววัน

โครงการที่คืบหน้ามากที่สุดคือการขยายถนนระหว่างจังหวัดและระหว่างอำเภอให้เป็นสี่เลน แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมถึงพื้นที่ที่ประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว

Advertisement

ส่วนด้านไฟฟ้า ประปา ชลประทาน และการจัดการขยะ ก็ไม่มีความคืบหน้าและการวางแผนรองรับอุตสาหกรรมเกิดขึ้นแต่อย่างใด

ต้นปี พ.ศ.2560 รัฐบาลได้เปลี่ยนแนวนโยบายด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จากพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั่วประเทศ กลายเป็นการส่งเสริมเขตระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ EEC ซึ่งก็เป็นแนวทางเดิมที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยอีสเทิร์นซีบอร์ดของ รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ หลังยุคพลาซาแอคคอร์ด ซึ่งยังได้รับการลงทุนอย่างต่อเนื่องจากทั้งภาคธุรกิจของญี่ปุ่นเป็นหลัก มีเกาหลี ไต้หวันและจีน เป็นส่วนเสริม เนื่องจากพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกมีสาธารณูปโภคครบครันทั้งสนามบิน ท่าเรือ รถไฟ มอเตอร์เวย์ โรงไฟฟ้า น้ำมัน ประปาและท่อส่งก๊าซ

การโรดโชว์และประชาสัมพันธ์ของภาครัฐได้ทิ้งนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เคยประกาศไว้โดยสิ้นเชิง และคนก็พลอยลืมเรื่องนี้ตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี ผลทางกฎหมายของการยกเลิกพื้นที่สาธารณสมบัติและป่าชุมชนต่างๆ ที่เคยให้ประชาชนใช้ร่วมกันให้กลายเป็นที่ราชพัสดุได้เกิดขึ้นแล้วทันทีภายหลังประกาศลงราชกิจจานุเบกษา และยังส่งผลกระทบต่อผู้ที่เคยใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวต่อเนื่อง ทั้งที่ อ.แม่สอด จ.ตาก, อ.อาจสามารถ จ.นครพนม และ อ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย ที่เป็นคดีกรณีบุกรุกที่ราชพัสดุ และคดีออกเอกสารสิทธิมิชอบหลังประกาศดังกล่าว

ทำให้เกิดสงสัยว่า เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ตนเองไม่สามารถทำให้เกิดผลสำเร็จได้ แต่กลับทิ้งผลร้ายทางกฎหมายที่หลงเหลืออยู่โดยไม่แก้ไข ควรต้องรับผิดชอบอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image