‘ศตวรรษที่ 21 แล้ว วาทยกรยังยืนหยัดมั่นคง’ : คอลัมน์อาศรมมิวสิก

ช่วงเวลาราว 1 เดือน นับแต่กลางเดือนพฤศจิกายน จนถึงกลางเดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมานี้ วงออเคสตราคู่ขวัญ (คู่แข่ง) ของเมืองไทยทั้งสองวงคือ RBSO (Royal Bangkok Symphony Orchestra) และ TPO (Thailand Philharmonic Orchestra) จัดการแสดงคอนเสิร์ตในลักษณะกึ่งประชันกันอย่างสนุกสนานแบบไม่ได้ตั้งใจ รายการเพลงที่ต่างก็กำหนดกันไว้ล่วงหน้าโดยมิได้นัดหมาย มีเพลงเอกของรายการที่เลือกมาตรงกันบรรเลงห่างกันเพียงไม่กี่วัน หรือคอนเสิร์ตบางรายการที่บรรเลงในวันและเวลาเดียวกัน (นี่ก็มิได้นัดหมายหรือสับรางหลีกทางกันเลย) ว่าไปก็เป็นนิมิตหมายอันดีที่วงออเคสตราประจำเมืองทั้งสองวงต่างก็มุ่งมั่นทำงานดนตรีอย่างทุ่มเทแข็งขัน ตามแนวทางเดินที่แตกต่างกันในรายละเอียด แต่ส่งผลดีกับวงการดนตรีบ้านเรา แม้จะขาดแรงสนับสนุนจากภาครัฐ (ทุกยุคสมัย) ที่น่าจะจริงจังมากกว่านี้ และแรงสนับสนุนจากบรรดาแฟนเพลงที่ว่ากันไปแล้วก็น่าจะอบอุ่นกว่านี้เช่นเดียวกัน (เมื่อเทียบกับวงการฟุตบอล, กีฬาหรือวงการเพลงป๊อป)

คอนเสิร์ตแบบกึ่งประชันของทั้งสองวงในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมานี้ มีเรื่องราว, ประเด็นที่น่าศึกษาเรียนรู้มากมาย โดยเฉพาะเรื่องบทบาทและความสำคัญของวาทยกร ที่พอจะสรุปภาพบางอย่างในรอบ 1 เดือนมานี้ว่า คนที่ทำงานในตำแหน่งนี้มีความสำคัญและความสัมพันธ์กับความสำเร็จของวงออเคสตราอย่างไร?

เริ่มแรกขอกล่าวถึงคอนเสิร์ตของวง RBSO ในค่ำวันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน 2560 ที่หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยเสียก่อน งานนี้อำนวยเพลงโดย มิเชล ทิลคิน (Michel Tilkin) ผู้อำนวยเพลงที่ผันตัวจากนักเป่าทรอมโบนในวงออเคสตรามาเป็นวาทยกร เขาพิสูจน์ให้เห็นว่าวาทยกรที่เคยผ่านประสบการณ์เป็นนักดนตรีในวงออเคสตรามาอย่างยาวนานนั้นมีความได้เปรียบอย่างไร เขาทำให้บทโหมโรง “ฝันกลางคืนฤดูร้อน” (A Midsummer Night’s Dream) ของเมนเดลส์โซห์น (Felix Mendelssohn) ที่เปิดรายการฉายแววจินตนาการนิทานเด็กได้อย่างไร

งานนี้ทางวงได้มีโอกาสร่วมงานกับ บอริส เบลคิน (Boris Belkin) ศิลปินเดี่ยวไวโอลินรุ่นใหญ่ (และผู้ทรงอิทธิพลคนสำคัญในวงการไวโอลินศึกษา) ชาวรัสเซียมาเป็นศิลปินเดี่ยวในบทเพลงไวโอลินคอนแชร์โต ของ ฌอง ซิเบลิอุส (Jean Sibelius) มันคือคำตอบที่ชัดเจนว่านอกจากบทบาทศิลปินเดี่ยวรุ่นใหญ่ของโลกยุคปัจจุบันแล้ว เขามีคุณูปการในด้านการศึกษาอย่างไร? มันคือแบบอย่างที่ดีเยี่ยมสำหรับเยาวชนไวโอลินว่า แม้จะเป็นการแสดงเดี่ยวขั้นสูงสุดในระดับบทเพลงคอนแชร์โต แต่บรรดาสิ่งที่เป็นระเบียบ, แม่ไม้พื้นฐานทั้งหลายนั้น บอริส เบลคิน รักษาไว้ได้อย่างสะอาดสะอ้านชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการพรมนิ้วรัวเสียง (Trill), การสีสายคู่ (Double Stop), เสียงหวีดหวิว (Harmonic)…ฯลฯ และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือความพิถีพิถันกับน้ำเสียงในทุกๆ พยางค์ที่ชัดเจน

Advertisement

เมื่อมองในภาพรวมมันคือการแสดงแนวคิดที่ว่า เมื่อศิลปินสามารถรักษาองค์ประกอบพื้นฐานทั้งหลายได้อย่างเป็นระบบระเบียบลงตัวพอเหมาะแล้ว ศิลปะจะฉายแววด้วยตัวของมันเอง โดยแทบจะไม่ต้องไปปรุงแต่งอะไรเพิ่มเติมให้มากเรื่อง บอริส เบลคิน เสมือนพ่อครัวที่ไม่ต้องปรุงแต่งอาหารด้วยเครื่องปรุงรสต่างๆมากมาย แต่เขาสามารถทำให้อาหารออกรสชาติด้วยการแสดงรสชาติทางธรรมชาติดั้งเดิมในวัตถุดิบนั้นๆ ที่มีอยู่ในตัวของมันเอง

ซิมโฟนีหมายเลข 5 ของไชคอฟสกีที่ปิดท้ายรายการนั้น มิเชล ทิลคิน สามารถสร้างความหมายที่สองในบทเพลงนี้ได้เป็นผลสำเร็จ (ทั้งๆ ที่ไชคอฟสกีมิได้จงใจให้เป็นแบบนั้นก็ตาม) เขาสามารถสร้างจินตนาการแห่งป่าเขาลำเนาไพรในบทเพลงได้อย่างชัดเจน เขาวาดภาพแต่งแต้มสีสันกับดนตรีบริสุทธิ์นี้จนแทบจะได้กลิ่นอายเมฆหมอกอันหนวเย็น ในบ้านพักที่ไชคอฟสกีใช้แต่งเพลงนี้ที่เมือง “คลิน” (Klin) ความสำเร็จในการตีความที่ทำให้เราเห็นความหมายใหม่ของบทเพลงนี้ว่า มันคือซิมโฟนีแห่งท้องทุ่ง (Pastoral Symphony)ของไชคอฟสกีที่เต็มไปด้วยเมฆหมอกและความลึกลับแห่งป่าเขาลำเนาไพร (แม้ว่าไชคอฟสกีจะมิได้เขียนบรรยายกำกับไว้ก็ตามที)

RBSO และ TPO บรรเลงคอนเสิร์ตในวันและเวลาเดียวกัน ในค่ำวันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม 2560 (โชคดีที่ TPO บรรเลงรายการบทเพลงเดียวกันซ้ำรอบสองในวันรุ่งขึ้น จึงสามารถแบ่งเวลาไปดูได้ทั้งสองรายการ) ทางวง RBSO นำเอาศิลปินที่เป็นแม่เหล็กระดับดาราใหญอย่าง “วาเลนตินา ลิซิทซา” (Valentina Lisitsa) จากค่ายแผ่นเสียง Decca มาบรรเลงเดี่ยวเปียโนคอนแชร์โตหมายเลข 2 ของ เซอร์เกย์ รัคมานินอฟ (Sergei Rachmaninoff) ซึ่งนับว่าไม่ผิดหวังทีเดียวกับความคาดหวังในชื่อเสียงระดับดาราใหญ่ของเธอ

Advertisement

วาเลนตินาเป็นสาวใหญ่ที่มีรูปร่างค่อนข้างสูงใหญ่ ลำแขนที่มองดูว่ายาวกว่าคนโดยทั่วๆ ไป ศิลปะการบรรเลงเปียโนของเธออยู่ในระดับที่น่าศึกษาเรียนรู้ แต่คงไม่น่าเลียนแบบตามไปเสียทุกอย่าง ลีลาการบรรเลง และ “ดนตรี” ของเธอเป็นไปในแบบสำนักรัสเซียต้นตำรับจริงๆ เรี่ยวแรงและพลังจากมือและแขนของเธอเป็นเรื่องที่น่าทึ่ง แม้จะมองดูว่าเธอไม่ได้ออกแรงมากเลย วิธีการตีความดนตรีที่เน้นความแตกต่างทางอารมณ์, สีสันและจังหวะอย่างสุดขั้ว ของแนวทำนองหลัก (Main Theme) และแนวทำนองรอง (2nd Theme) อย่างเห็นได้ชัดเจนในท่อนแรกและท่อนสุดท้าย

แนวทำนองหลักที่เร็วมากแบบสำนักรัสเซีย เร็วจนแทบจะฟังว่าเป็นการบรรเลงแบบรวบรัด (แต่ยังสัมผัสได้ถึงความแม่นยำครบถ้วน) และแนวทำนองรองที่เธอเน้นลักษณะเพลงร้อง (Lyrical) ที่เต็มไปด้วยความยืดหยุ่นของจังหวะ (Rubato) จนราวกับเป็นการ “บอดจังหวะ” มันเป็นความยืดหยุ่นอย่างหมิ่นเหม่, ท้าทายจนเข้าไปใกล้จวนเจียนว่าจะเสียรูปทรงทางดนตรี เธอแสดงความแตกต่างอย่างสุดขั้วนี้ ราวกับจะเป็นลักษณะ “อารมณ์สองขั้วทางศิลปะ” (Bipolar Art) ราวกับรถแข่งที่วิ่งด้วยความเร็วสูง (ในแนวทำนองหลัก) และเบรกอย่างกะทันหัน (ในแนวทำนองรอง)

คำว่าอารมณ์สองขั้วอาจเป็นเรื่องน่ากลัวเมื่อโยงกับอาการป่วยทางจิตของมนุษย์ แต่วาเลนตินาพิสูจน์ให้เราเห็นว่าเมื่อมันถูกนำมาใช้กับศิลปะดนตรี โดยเฉพาะกับดนตรีในสกุลโรแมนติกแล้ว มันกลับกลายเป็นเสน่ห์ที่เต็มไปด้วยสีสัน, ความมีชีวิตชีวาที่น่าตื่นเต้น

ชาร์ลส์ โอลิเวียริ มันโร (Charles Olivieri Munroe) เป็นวาทยกรที่มาควบคุมวง RBSO ในครั้งนี้ เขากำกับการบรรเลงบทเพลงซิมโฟนีหมายเลข 1 ของไชคอฟสกีที่มีชื่อว่า “Winter Dreams” แบบสะอาดสะอ้านและตรงไป-ตรงมาในแบบฉบับอันชัดเจนของตัวเขาตามแบบที่เราเคยรู้จักเขามาหลายครั้ง ราวกับเป็นการตอกย้ำว่าเขาเป็นวาทยกรในกลุ่ม “วัตถุวิสัย” (Objective) ที่ไม่เชื่อและไม่เลื่อมใสในบรรดาความหมายแฝงหรือความหมายรองใดๆ ในทางดนตรี สิ่งนี้ชัดเจนจนไม่ใช่ข้อด้อยหากแต่เป็นแนวทางที่แน่ชัดใน “ทางดนตรี” ของเขา

ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับเขาหรือไม่ก็ตาม ความเป็นเลิศในระบบระเบียบทำให้เขาก้าวพ้นจากการถกเถียงโต้แย้งในประเด็นแบบนี้

คอนเสิร์ตของวง TPO ในบ่ายวันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม 2560 ภายใต้การอำนวยเพลงโดย “เทอเจ มิคเคลเซ็น” (Terje Mikkelsen) เริ่มต้นด้วยปัญหาใหญ่แบบคาดไม่ถึงเมื่อศิลปินเดี่ยวไวโอลินตามกำหนดเดิมเกิดป่วยกะทันหัน ต้องมีการเปลี่ยนตัวศิลปินเดี่ยวและบทเพลงคอนแชร์โตอย่างกระชั้นชิดภายในเวลาเพียงไม่กี่วันก่อนการแสดงจริง หากแต่มันกลับกลายเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้อย่างแทบไม่น่าเชื่อ

“มวยแทน” อย่าง “แจ๊ค ลีเบ็ค” (Jack Liebeck) ศิลปินเดี่ยว ไวโอลินชาวอังกฤษผู้มีผลงานบันทึกเสียงกับบริษัทแผ่นเสียงใหญ่แห่งอังกฤษคือ “Hyperion” ได้ทำให้บทเพลงไวโอลินคอนแชร์โต หมายเลข 1 ของมักซ์ บรูค (Max Bruch) กลายเป็นหมุดหมายใหม่ที่ต้องบันทึกไว้เพื่อความทรงจำ แม้ว่านี่คือ “ม้าสงครามแก่” (Old War Horse = เพลงคลาสสิกที่บรรเลงและฟังกันซ้ำแล้วซ้ำอีก) ตัวสำคัญของวงการ

เฉพาะในเมืองไทยเราเองก็ได้รับการนำออกมาบรรเลงสดหลายครั้งเต็มที และสองครั้งสำคัญที่คู่ควรกับคำว่าประวัติศาสตร์ก็คือการบรรเลงของ “ซาราห์ ชาง” (Sarah Chang) กับ RBSO เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2553 ที่เต็มไปด้วยพลังอันร้อนแรง, เจิดจ้า, หลากหลายด้วยจินตนาการ และการบรรเลงของ “วาดิม เรปิน” (Vadim Repin) กับวง Prague Symphony Orchestra ในวันที่ 14 ตุลาคม 2558 แต่กลับไปในทางตรงกันข้ามซึ่งแสนจะคลาสสิก, ละเมียด, ละเอียดอ่อนฟังดูเต็มไปด้วยความคิดเชิงปรัชญาเมื่อศิลปินใหญ่ “ระดับโลก” สองคนเคยมาฝากศิลปะการตีความบทเพลงนี้เอาไว้สองแบบที่แตกต่างกันคนละขั้วและก็จัดได้ว่าดีเยี่ยมด้วยกันทั้งคู่แล้ว ผู้มาใหม่อย่าง แจ๊ค ลีเบ็ค เล่าจะหนีไปทางไหนได้อีก

เรื่องไม่น่าเชื่อแต่ก็ไม่เหนือการคาดหมายก็คือ แจ๊ค ลีเบ็ค (อยากจะเรียกว่า “แจ๊คผู้ฆ่ายักษ์” แต่ก็เกรงใจ ซาราห์ ชาง และวาดิม เรปิน) มาบอกกับเราผ่านภาษาดนตรีของเขาว่า “ก็ไปในทางสายกลางน่ะซิ” เขาผสมผสานความร้อนแรงหลากสีสันของ ซาราห์ ชาง กับความลุ่มลึกละเมียดละไมของวาดิม เรปิน เข้าด้วยกันได้อย่างเหมาะเจาะลงตัวพอดิบพอดี แม้ศิลปินระดับนี้จะก้าวพ้นเลยนิยามความหมายของคำว่า “แข่งขัน” ไปไกลมากแล้ว แต่แจ๊ค ลีเบ็ค ก็ได้กระทบไหล่กับซาราห์ ชาง และวาดิม เรปิน ในทางดนตรีได้อย่างทัดเทียมกันทีเดียว

เพียงแค่โน้ตตัวแรกจากการสีสาย G เปล่าๆ ก็ไม่เกินเลยใดๆ ที่จะใช้คำว่า “เสียงจากสวรรค์” แนวทำนองที่หนึ่ง (Main Theme) ที่อยู่ในความงามพอเหมาะพอดี โดยไม่ต้องทึ้งหรือเน้นให้ฟังดูเป็น “โรแมนติกจ๋า” ในการบรรเลงโน้ตที่วิ่งเร็ว (Running Passage) เขาเปล่งเสียงได้ชัดเจนทุกพยางค์แบบที่อาจเรียกว่า “เห็นเป็นเม็ดๆ” แนวทำนองรองในเที่ยวย้อนกลับ (Recapitulation) นั้นทั้งเบาและละเมียดจนไม่ต้องเกรงใจที่จะใช้คำว่าราวกับหยุดโลกหรือหยุดลมหายใจ

นี่คือเสียงไวโอลินที่งดงามที่สุดในรอบหลายๆ ปีที่ได้ฟังผ่านมาในโรงคอนเสิร์ตจริงๆ เป็นน้ำเสียงที่มีพลังเคมีทางชีวภาพ (Organic) ที่ส่งผลต่อร่างกายและจิตใจแบบที่ไม่อาจถ่ายทอดผ่านชุดลำโพง, เครื่องเสียงใดๆ ที่ว่าดีเลิศที่สุด มันเป็นประสบการณ์แห่งเสียงดนตรีสดๆ ซึ่งผู้ชมดนตรี ณ สถานที่จริงเท่านั้นจึงจะรับสัมผัสที่ว่านี้ได้ (แจ๊ค ลีเบ็ค ใช้ไวโอลิน “Ex-Wilhelmj”J.B.Guadagnini ประดิษฐ์ในปี 1785 อายุ 232ปี!)

บทเพลงที่มีชื่อว่า “การเดินทางของอนุภาค” (Particle Odyssey) ของนักประพันธ์ดนตรีหนุ่มชาวไทยวัยเพียง 24 ปี นามว่า ปิยวัฒน์ หลุยลาภประเสริฐ นับเป็นผลงานดนตรีที่ตั้งชื่อไว้อย่างหรูหราท้าทายระบุว่าได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือวิทยาศาสตร์ในชื่อเรื่องเดียวกัน และก็นับว่าเป็นงานประพันธ์ดนตรีที่คู่ควรกับคำว่า “แนวทดลอง” อย่างแท้จริง

ปิยวัฒน์ทำให้วงออเคสตราเปล่งเสียงด้วยสีสันทางเสียงใหม่ๆ สารพัดสรรพเสียง ราวกับมันเป็นเครื่องดนตรีชนิดใหม่ที่อุบัติขึ้นในโลก บ่งบอกกับพวกเราว่าแท้จริงแล้ววงออเคสตราได้ซ่อนสีสันทางเสียงเหล่านี้ไว้ในตัวมานานนับร้อยปี มันรอแค่ผู้ที่จะมาค้นพบและนำมันเผยออกมาแสดงตัวตนเท่านั้น ปิยวัฒน์ทำให้วงออเคสตราที่เราเคยคิดว่ารู้จักมาเป็นอย่างดี กลายเป็น “วงออเคสตราไฟฟ้า” (Electric Orchestra) โดยไม่ต้องเสียบปลั๊ก เขานำพาผู้ฟังเดินทางผ่านมิติทางเสียงใหม่ๆ อย่างน่าตื่นเต้นภายในชั่วเวลาราว 10 นาที ที่น่าตื่นตา-ตื่นใจ (และตื่นหู) โดยเฉพาะพยางค์สุดท้ายที่วงออเคสตราทั้งวงเปล่งเสียงดัง “Whoop !!!”(ฮู้ว์บบบ…) มันคือเสียงแห่งห้วงอวกาศ ของเครื่องดนตรีชนิดใหม่อย่างแท้จริง ทำให้ผู้ฟังต้องขยี้หู (ขยี้ตา) เหมือนไม่เชื่อสายตาในภาพอุกกาบาต (หรือดาวหาง) สว่างจ้า ที่พุ่งผ่านหายไปในอวกาศอย่างรวดเร็ว

คนที่เพิ่งเกิดมาเห็นโลกเพียง 24 ปี เห็นภาพทางเสียงที่พวกเราที่เกิดก่อนเขานานๆ คาดคิดและจินตนาการไปไม่ถึง ญาณทรรศนะของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นศิลปินที่หยั่งรู้อะไรในแบบที่คนธรรมดาๆ อย่างเรามองไม่เห็น

สิ่งที่ทั้ง RBSO และ TPO ได้ประชันดนตรีกันแบบไม่รู้ตัวในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมานี้ให้ภาพรางๆ คล้ายการวิจัยทดลองเรื่องบทบาทความสำคัญ (และความสัมพันธ์) ของวาทยกรกับวงออเคสตรา ภาพเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้เกิดขึ้นมาขณะนี้ก็คือ วงออเคสตรานั้นเปรียบเสมือนวัตถุดิบที่เตรียมพร้อมเพื่อการปรุงอาหาร ส่วนวาทยกรก็เปรียบเสมือนพ่อครัว, ถ้าเราได้พ่อครัวฝีมือดีแล้วต่อให้ได้เพียงวัตถุดิบธรรมดาๆ เขาก็ยังสามารถปรุงแต่งมันให้กลายเป็นอาหารที่แสนจะอร่อยได้ และในทางกลับกันพ่อครัวฝีมือแย่ๆ ก็สามารถทำให้วัตถุดิบชั้นเลิศกลายเป็นอาหารที่รสชาติแย่ได้เช่นเดียวกัน แต่ถ้าจะคิดต่อไปอีกว่าถ้าเช่นนั้นแล้ว ระหว่าง RBSO กับ TPO วงไหนเป็นวัตถุดิบชั้นเลิศกว่ากัน นั่นคงดูจะไม่ใช่การวิจารณ์เชิงสร้างสรรค์สำหรับวงการดนตรีบ้านเราเสียแล้ว

หลายๆ เรื่องนั้น การไม่พูดสร้างสรรค์กว่าการพูดออกมาจากปากเสียอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image