คอลัมน์ ฟิสิกส์ธรรมดาสาระมันส์ : ทำไมวันที่ 1 มกราคมจึงเป็นวันปีใหม่

1 ปี คือระยะเวลาที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบ 1 รอบ โดยโลกของเราโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นรูปวงรีที่ความรีน้อยมากจนแทบจะกลม ดังนั้น เราควรจะเลือกวันใดวันหนึ่งเป็นวันปีใหม่ก็ได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบปฏิทิน

แล้วทำไมวันที่ 1 มกราคม จึงเป็นวันปีใหม่?

คำตอบนั้นมีหลากหลายทฤษฎี แต่ทุกทฤษฎีล้วนมีความเห็นตรงกันในแง่ที่ว่า วันที่ 1 มกราคมนั้นไม่ใช่วันที่มีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์พิเศษอะไร

จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่หลายๆ วัฒนธรรมบนโลกไม่ได้กำหนดวันปีใหม่ไว้ตรงกับวันที่ 1 มกราคม

Advertisement

คนไทยสมัยก่อนกำหนดให้วันที่ 13 เมษายน เป็นวันปีใหม่ ส่วนคนจีนก็กำหนดวันตรุษจีนซึ่งอ้างอิงกับดวงจันทร์เป็นวันปีใหม่ ส่วนปฏิทินอิราเนียน (Iranian) ของเปอร์เซียเรียกวันปีใหม่ว่า Nowruz จะกำหนดให้ประมาณวันที่ 21 มีนาคม ซึ่งเป็นวสันตวิษุวัต (vernal equinox) เป็นวันปีใหม่ โดยวันนี้จะเป็นวันที่เวลากลางวันกลางคืนยาวเท่ากัน และซีกโลกเหนือจะเริ่มเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ หลายคนมองว่าประมาณวันที่ 3 มกราคม ควรจะถูกกำหนดเป็นวันปีใหม่มากกว่าวันที่ 1 มกราคมเสียอีกเพราะมันเป็นวันที่โลกโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด (perihelion)

การกำหนดให้วันที่ 1 มกราคมนั้นต้องย้อนกลับไปในสมัยโรมันโบราณซึ่งเป็นยุคก่อนคริสตกาล ปฏิทินในสมัยนั้นยังไม่ได้มีระบบระเบียบและเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย รวมทั้งปัญหาเรื่องการนับระยะเวลาหนึ่งปีซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่พอสมควร

ปฏิทินโรมันยุคแรกๆ กำหนดว่าหนึ่งปีประกอบไปด้วยเดือน 10 เดือน เริ่มจากเดือนมีนาคม (March) ไปจนถึงธันวาคม (December) จะสังเกตได้ว่าคำแรกของชื่อของเดือนตั้งแต่ September นั้นมาจากตัวเลขในภาษาละติน โดยเรียกตั้งแต่เดือน 7 (September) จนถึงเดือน 10 (December) โดยแต่ละเดือนมี 30 หรือ 31 วัน ปัญหาคือด้วยระบบนี้ หนึ่งปีจะมีเพียง 304 วันเท่านั้น ดังนั้น จะต้องมีการเติมวันพิเศษเข้าไป 51 วัน ในระบบเพื่อให้ครบระยะเวลาหนึ่งปี หรือพูดอีกอย่างว่าพอหมดเดือนธันวาคมแล้ว จะเข้าสู่ช่วงเวลาที่ไม่ถูกระบุในปฏิทิน

Advertisement

นักดาราศาสตร์ในยุคต่อมาจึงมีการเติมเดือนอีกสองเดือนเข้าไปให้ทุกวันเข้าสู่ระบบปฏิทิน โดยเดือนแรกคือ มกราคม หรือ January ซึ่งชื่อเดือนนี้ในภาษาอังกฤษมาจากชื่อเทพเจ้า Janus ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งประตูการเริ่มต้นและการเปลี่ยนผ่าน เทพเจ้าองค์นี้มีสองหน้า หน้าหนึ่งจะมองอดีต ส่วนอีกหน้าจะมองอนาคต

ต่อมาในช่วง 45 ปีก่อนคริสตกาล จูเลียส ซีซาร์ ขึ้นครองอำนาจ แล้วทำการจัดระเบียบปฏิทินใหม่โดยมีนักดาราศาสตร์ชื่อ Sosigenes เป็นผู้ให้คำแนะนำ

จูเลียส ซีซาร์ กำหนดให้ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ด้วยเหตุผลบางอย่างซึ่งแตกต่างกันตามแต่ละทฤษฎี บ้างก็ว่าเพราะเดือนมกราคมเป็นเดือนที่ถูกเติมไว้ที่หัวขบวนก็เลยเลือกวันแรกของเดือนนี้เป็นวันปีใหม่ บ้างก็ว่ามกราคมเป็นเดือนแรกที่เวลากลางวันของซีกโลกเหนือจะเริ่มยาวขึ้นๆ ตั้งแต่วันแรกของเดือน ฯลฯ แต่จะเพราะเหตุใดก็ไม่สำคัญเท่ากับการกำหนดเมื่อสองพันปีก่อนได้ส่งผลมาถึงพวกเราจนถึงทุกวันนี้

และด้วยผลงานต่างๆ ของจูเลียส ซีซาร์ ทำให้วุฒิสภาโรมันในยุคนั้นเปลี่ยนชื่อเดือนที่ซีซาร์เกิด จากเดือนควินทิลิส (Quintilis) เป็น July เพื่อเป็นเกียรติแก่จูเลียส ซีซาร์ ซึ่งใช้กันมาจนถึงทุกวันนี้เช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image