คอลัมน์ ประสานักดูนก : ระกาจะผันผ่าน

วันนี้เป็นวันสิ้นปีของ พ.ศ.2560 มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายในวงการดูนก ทั้งเรื่องน่ายินดีที่มีการค้นพบนกชนิดใหม่ในธรรมชาติของไทย การสำรวจพบความรู้ใหม่ๆ ของนกบางชนิดที่ยังพร่องด้วยข้อมูลจากภาคสนาม และเรื่องราวของนกหายาก ใกล้สูญพันธุ์อีกหลายชนิด คนเขียนขอสรุปสั้นๆ ให้ระลึกถึงก่อนที่ปีระกาจะเคลื่อนผ่านจากชีวิต เข้าสู่ปีจอครับ

จนถึงวันนี้ ยังหาคนพูดเต็มปากไม่ได้ว่า “นกไทย” มีกี่ชนิดกันแน่ เพราะจากเดิม 900 กว่าชนิด ปัจจุบันพบนกใหม่เมืองไทยกว่า 30 ชนิด แถมการจัดอนุกรมวิธาน ที่มีความไม่นิ่งเป็นสรณะ! คือ ยุบบ้าง ยกฐานะ (พันธุ์ต่างๆ ในชนิดเดียวกัน) บ้าง อันเป็นงานหลักของนักอนุกรมวิธานสายสัตว์ป่า ที่หางานอื่นทำไม่ได้ (ฮา) ก็ต้องวิเคราะห์ของเดิมๆ ด้วยข้อมูลใหม่ๆ หลักๆ คือ พันธุกรรม ด้วยเทคโนโลยีชีวโมเลกุล ที่เอื้อมนุษย์ศึกษาสิ่งมีชีวิตในระดับ DNA อันเป็นโครงสร้างโมเลกุลพื้นฐานของสรรพชีวิต

งานยุบ-งานยก Lumping-splitting จึงยังอาละวาดในแวดวงดูนก สร้างความปวดหัวให้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพราะทำให้จำนวนนกไม่นิ่ง แค่นกไทย ปัจจุบันยังไม่ทราบเลยว่ากี่ชนิดกันแน่ พอพูดได้กล้อมแกล้มว่า 1,055 ชนิดขึ้นไป

ล่าสุดในเดือนธันวาคมนี้ มีนกใหม่เมืองไทยชนิดล่าสุด เป็นนกนางนวลตัวเล็กเท่าๆ นกนางนวลแกลบ ชื่อ Sabine’s Gull ซึ่งปกติในฤดูหนาวจะอพยพจากขั้วโลกเหนือ ถิ่นทำรังวางไข่ไปอาศัยกลางทะเลเปิดในมหาสมุทรแปซิฟิก ก็ถูกพายุพัดหลงเข้ามาในทะเลอ่าวไทย แต่เป็น one-time wonder เพราะหลังผู้ค้นพบโชคดีได้เห็นนกตัวนี้ บินไล่ตามเรือ และถ่ายภาพได้ แล้วก็ไม่มีใครพบนกอีกเลย

Advertisement

รวมทั้งคนเขียนที่ก็ออกเรือไปตามหาเช่นกัน (ฮา) เจ้าเซไบน์หรือเซบีนตัวนี้ (จะเรียกอย่างไรก็ได้ ตามแต่ลิ้นของคนยุโรปหรืออเมริกัน) เป็นนกใหม่เมืองไทยและอาเซียน เพราะยังไม่เคยมีรายงานพบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลย

ข่าวดีอีกประการเกี่ยวกับชะตากรรมของ “นกป่า” โดยเฉพาะนกนักล่า ที่ตกเป็นเหยื่อของคนบางคน อยากมีรายได้แต่ต้องเบียดเบียนสัตว์ป่าคุ้มครอง ไม่ต้องลงทุนอะไรแค่จับนกจากป่ามาประกาศขายในสื่อโซเชียล โดยเฉพาะเฟซบุ๊กที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ ตั้งแต่ต้นปี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เห็นปัญหา จากการผลักและดัน กระตุกเตือนของชาวประชาคนดูนกและสงสารนกป่าที่ต้องกลายเป็นเหยื่อของวงการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายบนสื่อออนไลน์ กรมอุทยานแห่งชาติฯจึงจัดตั้งทีมปฏิบัติพิเศษ ตามล้างตามผลาญพวกค้านกป่าออนไลน์ ได้เบาะแสเมื่อไหร่ ตรวจสอบ ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ จับและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด เห็นผลทันตา พวกมิจฉาชีพทั้งสมัครเล่น และมืออาชีพ ลดการประกาศขายนกป่าในสื่อออนไลน์ลดลงไปมาก

แม้ว่ายังจะมีอยู่บ้างตามกลุ่มลับๆ แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดีว่า หน่วยงานราชการเอาจริง และปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่ตนเองมีภารกิจอยู่แล้ว ได้ใจนักดูนก คนรักษ์สัตว์ป่าไปเต็มๆ

Advertisement

กลับมาเรื่อง “นกนักล่า” ตัวเอกในบ้านเราคงไม่พ้น “เหยี่ยวอพยพ” ที่ประเทศไทยนับเป็นผู้นำในภูมิภาคที่มีแหล่งศึกษาเหยี่ยวอพยพเยี่ยมๆ เช่น เขาเรดาร์และเขาดินสอ ปรากฏว่าในฤดูกาลอพยพต้นหนาว ตั้งแต่เดือนกันยายนจรดพฤศจิกายน มีเหยี่ยวอพยพมากกว่า 25 ชนิด กว่า 160,000 ตัว บินผ่านภาคเหนือและอีสาน แล้วรวมตัวกันที่ภาคใต้มุ่งหน้าไปประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียต่อไป นับว่าจำนวนยังไม่ลดลงไปกว่าเดิม ตอกย้ำความสำคัญของการติดตามประชากรอย่างต่อเนื่องทุกปี

ส่วนเรื่อง “แร้งร่วง” ปลายเดือนเมษายน แร้งดำหิมาลัย 1 ตัว ชื่อ “สกาย” ที่มีสถานภาพเข้าข่ายจะสูญพันธุ์ ได้รับการช่วยเหลือและปล่อยไป ผลการติดตามด้วยดาวเทียมพบว่า สกายบินจากดอยลาง จ.เชียงใหม่ ไปถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน

นับเป็นการเปิดยุคแห่งการศึกษาเส้นทางอพยพของแร้งขนาดใหญ่ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงเช่นนี้ ในอนาคต เราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับอาคันตุกะผู้กำจัดซากสัตว์กลุ่มนี้ให้มากขึ้นครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image