นกปีใหม่ : คอลัมน์ประสานักดูนก

สวัสดีปีใหม่ครับ วันนี้นำนกเมืองนอกมาฝาก

ช่วงปีใหม่ คนเขียนเดินทางไปดูนกประเทศจีน ที่ มณฑลยูนนาน มี เทือกเขาเกาลี่กง ปลายเทือกเขาหิมาลัยของเมืองจีน เกาลี่กงŽ แปลว่าภูเขาของครอบครัว สื่อถึงความสัมพันธ์ของคนท้องถิ่น

การเดินทางก็ไม่ยุ่งยาก บินไปเมืองคุนหมิง แล้วต่อเครื่องไปเมืองเป๋าซัน อีก 1 ชั่วโมง จากนั้นต้องนั่งรถยนต์อีก 1 ชั่วโมงครึ่ง ไปที่ หมู่บ้าน Baihualing หรือบ้านหมื่นบุปผา ตั้งอยู่ที่เชิงเขาเกาลี่กง ที่ระดับความสูง 1,800 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลโดยประมาณ ดังนั้นสภาพอากาศและป่าไม้คล้ายดอยอินทนนท์ของเรานั่นเอง ต้นพญาเสือโคร่งกำลังบานสะพรั่งแม้จะไม่บานตลอดแนวถนนขึ้นยอดเขาอย่างที่คนเขียนคาดหวังไว้ ถึงต้องกลับมาที่นี่เป็นครั้งที่ 2 หลังจากมาดูนกเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2560 ก็เพราะมีนกป่าบางชนิดที่ยังไม่ได้เห็นในคราวก่อน คือ นกระวังไพรปากโค้ง และ นกจาบปีกอ่อนสีแดง

ที่เกาลี่กงแม้จะเป็นพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติระดับชาติ แต่มีข้อตกลงระหว่างทางการและชาวบ้าน โดยให้ชาวบ้านจัดทำบ่อน้ำ ดึงดูดนกป่ามากกว่า 50 ชนิด ออกมาเล่นน้ำ กินน้ำ แถมด้วยอาหารจำพวกแอปเปิล (ของแพงบ้านเราแต่มีมากในจีน) และหนอนไว้ให้นกกินอีกด้วย

Advertisement

แม้สภาพอากาศจะหนาวเย็นระดับ 5-20 องศา แต่ทุกเช้าจรดเย็น นกป่าเกาลี่กงก็ติดใจการเล่นน้ำบ่อที่ชาวบ้านสร้างไว้กระจายอยู่ในหุบเขา ตั้งแต่ 1,600 ถึง 1,900 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ชาวบ้านสร้างบังไพรไว้อำนวยความสะดวกนักดูนก ถ่ายภาพนกจากทุกสารทิศ แล้วเก็บค่าธรรมเนียมการใช้บังไพร เป็นรายได้ให้ชาวบ้าน

เมื่อนกป่า สร้างรายได้ให้ชาวบ้านแล้ว ก็ไม่มีเหตุจะไปล่าหรือจับมากิน ชาวบ้านก็ช่วยกันดูแลนกป่า ในฐานะแหล่งรายได้หลักของแต่ละคน ที่เก็บค่าบังไพรไม่ใช่ถูกๆ คนละ 50 หยวนหรือ ประมาณ 250 บาท/คน/บังไพร ราคานี้รวมอาหารกลางวันที่ชาวบ้านคนดูแลบ่อน้ำ จะมีหน้าที่ไปรับมาส่งให้คนใช้บริการบังไพรชมนกบ่อของตนด้วย ท่าทีแบบนี้แหละที่ดึงชาวบ้านมาเป็นพวก แบบ คนอยู่ได้ นกอยู่ได้Ž ของแท้แน่นอน

ในชุมชนจะมีการมอบหมายชาวบ้านดูแลบ่อนกคนละบ่อ จัดแต่งด้วยบ่อน้ำ สวนเรียกนก เมื่อมีอาหาร แต่ไม่มีคนล่ารบกวน นกป่าก็ค่อยๆ วางใจ ออกมาใช้บริการเล่นน้ำบ่อ กินแอปเปิล และหนอนนกกันร่าเริง จำนวนนกก็มากขึ้นๆ ทุกปี ปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว

Advertisement

เมื่อเดือนมีนาคมปีกลาย คนเขียนคลาดนกระวังไพรชนิดหนึ่ง ที่ไม่พบในประเทศไทย แต่มีรายงานในประเทศเมียนมาและเวียดนาม ไปจนถึงจีนตอนใต้ ตัวก็ไม่สวยงามต้องตาอะไรหรอกครับ ชุดขนสีน้ำตาล ส่วนหัวสีดำ มีคิ้วขาวแต้มตัดให้เด่นขึ้นมา แต่ที่สะดุดตาสะท้านใจนักดูนกแปลกๆ ก็จะงอยปากของมันที่ยาวโค้ง บอบบางคล้ายเสี้ยวพระจันทร์ ทำให้ฝรั่งเรียกว่า sickle-billed scimitar babbler

อย่างที่เคยเล่าให้ฟังมานานหลายปีก่อนโน้นว่า you are what you eat! อาหาร วิธีกินอาหารของนกบอกได้จากจะงอยปาก นกระวังไพรเป็นนกกินหนอนแมลง เวลาส่งเสียงร้องทุ้มๆ มีลูกคอ สะท้อนเสียงไปได้ไกล เหมือนว่ากำลังร้องเตือนนกป่าชนิดอื่นๆ เจ้าปากโค้งนี่ ชอบอาศัยอยู่ในพุ่มรก ตามก้อนหินใหญ่ หรือขอนไม้แห้ง ใช้ปากโค้งยาวทำหน้าที่เป็นปากคีบ ชอนไชเข้าซอกหลืบของหิน หรือซอกเปลือกไม้ คุ้ยแคะแงะดึงหนอน หรือแมลงที่หลบอยู่อย่างแนบเนียนได้ไม่ยาก

ในบรรดานกระวังไพรกว่า 10 ชนิดในอาเซียน เจ้า sickle-billed ปากประหลาดที่สุดครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image