โลโก้ไร้รูป : คอลัมน์แท็งก์ความคิด

ช่วงเดินทางพักผ่อนในเทศกาลวันหยุด ระหว่างขับรถไปยังต่างจังหวัด

พบเห็นข้างทางมีร้านรวงขึ้นกันพรึบ

มองสภาพแล้วไม่ค่อยรู้สึกแตกต่างจากเมืองกรุง เพราะโลโก้ของร้านค้าซ้ำๆ

ไม่ว่าจะเป็นบิ๊กซี โลตัส เซเว่นฯ สตาร์บัคส์ ดอยช้าง และอื่นๆ

Advertisement

โลโก้เหล่านี้มีความสำคัญ เพราะทำให้ลูกค้าจดจำ

จดจำหลังจากประทับใจในการใช้สินค้าและบริการ

เมื่อประทับใจ เวลาเดินทางไปไหนแล้วพบเห็นโลโก้ ก็จะปรี่ตรงไปซื้อสินค้าและบริการนั้นอีก

Advertisement

เช่นเดียวกัน หากไม่ประทับใจในสินค้าและบริการนั้น

พอเห็นโลโก้นั้นอีก ก็จะไม่ไปใช้สินค้าหรือบริการนั้น

สำหรับโลโก้ คงมิได้หมายเฉพาะแค่โลโก้ที่เป็นรูปเป็นร่าง

เป็นตราสัญลักษณ์ที่มองแล้วจดจำได้เท่านั้น

หากแต่ยังมีโลโก้ที่ไม่มีรูปไม่มีร่างเป็นตราสัญลักษณ์

โลโก้ชนิดนี้เกิดขึ้นจากความสามารถ

เล่ามาถึงตรงจุดนี้ ขอย้อนกลับไปเมื่อสิ้นปี 2560

ห้วงเวลาก่อนคริสต์มาส มีโอกาสไปซึมซับบทเพลงในคอนเสิร์ตชื่อ Petrushka and the seven winds

คอนเสิร์ตนี้จัดที่หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล

คอนเสิร์ตนี้มีวงไทยแลนด์ฟีลฮาร์โมนิก ออเคสตร้า หรือทีพีโอบรรเลง

คอนเสิร์ตนี้มี ดร.ธนพล เศตะพราหมณ์ เป็นวาทยกร

และ ดร.ธนพล ก็ยังเป็นผู้ออกแบบการแสดง รวมทั้งตั้งชื่อคอนเสิร์ตด้วย

ดร.ธนพลเล่าให้ฟังช่วงก่อนการแสดงว่า ชื่อคอนเสิร์ตเกิดขึ้นจากการผสมชื่อของบทเพลง 2 บทเพลง

หนึ่ง คือ บทเพลง Petrushka ที่เป็นดนตรีประกอบการแสดงบัลเลต์เรื่องเด่นของ อิกอร์ สตราวินสกี้ (Igor Stravinsky) ชาวรัสเซีย (ค.ศ.1882-1971)

อีกบทเพลงหนึ่ง ชื่อ Concerto for seven wind instruments, timpani, percussion, and string orchestra

ประพันธ์โดย แฟรงค์ มาร์ติน (Frank Martin) ชาวสวิตเซอร์แลนด์ (ค.ศ.1890-1974)

พอนำชื่อ 2 บทเพลงทั้งสองมาลองผสม สุดท้ายก็ได้ชื่อ Petrushka and the seven winds เป็นชื่อคอนเสิร์ต

ชื่อนี้มีกลิ่นอายคล้ายๆ กับ “สโนไวท์ กับ คนแคระทั้งเจ็ด” อะไรทำนองนั้น

ถือเป็นความเก๋ไก๋ที่เกิดขึ้นจากความสร้างสรรค์

นอกจากความสร้างสรรค์แล้วยังมีความพิเศษ

การบรรเลงบทเพลง Concerto for seven wind instruments นั้นได้รวม “จอมยุทธ์” ด้านเครื่องเป่ามารวมไว้

ทั้ง ฟลุต โอโบ คลาริเนต เฟรนช์ฮอร์น บาสซูน ทรัมเป็ต และทรอมโบน จะต้องทำหน้าที่โซโล

นักดนตรีที่ทำหน้าที่โซโลเครื่องดนตรีต่างๆ คือ หัวหน้ากลุ่มเครื่องดนตรีของวงทีพีโอ

ไม่ว่าจะเป็น ยูจิน จุง ฟลุต สมชาย ทองบุญ โอโบ

วรวุฒิ คำชวนชื่น คลาริเนต ภัทราวุธ พันธุ์พุทธพงษ์ บาสซูน

นันทวัฒน์ วรานิช เฟรนช์ฮอร์น นิติภูมิ บำรุงบ้านทุ่ม ทรัมเป็ต

หรือ ไมเคิล โรบินสัน จูเนียร์ ทรอมโบน

ใครได้ไปฟังคงยอมรับว่า แต่ละคนฝีมือฉกาจ

ที่เรียกว่า “จอมยุทธ์” ก็คงไม่ผิดเพี้ยน

ส่วนบทเพลง Petrushka นั้น ดร.ธนพล ได้เติมแต่งความสร้างสรรค์เข้าไป

โดยจับมือกับ นิมิตร พิพิธกุล ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปการแสดง ปี 2550

นำเอาหุ่นชักจากมูลนิธิหุ่นสายเสมามาร่วมแสดงด้วย

จากเรื่อง Petrushka ของรัสเซีย ที่บอกเล่าเรื่องราวของงานแฟร์ และการเสกให้หุ่นมีชีวิต

เปลี่ยนมาเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของงานวัด ที่มีการเสกให้หุ่น “ผีตาโขน” มีชีวิตขึ้น

จากนั้นเรื่องราวของหุ่นที่มีชีวิตก็ดำเนินไปในลักษณะคล้ายคลึง

มีพบรัก ถูกกักขัง และสุดท้ายคือมีการฆาตกรรม

แต่ อาจารย์นิมิตร ได้ตีความเรื่องให้เข้ากับไทยๆ มากขึ้น

โดยเฉพาะวิญญาณแค้นในฉากสุดท้าย ใครได้ไปดูคงสัมผัสได้

สัมผัสได้ถึงความน่าสะพรึงกลัว

การบรรเลงบทเพลง Petrushka นั้นสอดคล้องกลมกล่อม

การเล่นที่หน้าเวทีของคณะหุ่นสายเสมาก็เข้ากับบทเพลงอย่างกลมกลืน

ทำให้คนฟังเพลิดเพลินจนลืมเวลา

และเมื่อถึงบทสรุปของการแสดง ความประทับใจของผู้ชมก็ถ่ายทอดออกมาด้วยเสียงปรบมือ

คอนเสิร์ตครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สามที่ ดร.ธนพล นำเสนอเมื่อปี 2560

ครั้งแรกเป็นคอนเสิร์ตบทเพลงประกอบภาพยนตร์

ครั้งที่สองเป็นคอนเสิร์ตบทเพลงประกอบการ์ตูน แอนิเมะ

ครั้งที่สามก็เพลงประกอบบัลเลต์

แต่ละครั้ง ดร.ธนพล สร้างความประทับใจด้วยไอเดียสร้างสรรค์

กลายเป็นความคาดหวังที่เกิดขึ้นกับแฟนขาประจำ

เป็นโลโก้ที่ไม่มีรูปร่าง แต่ได้ประดับติดตัว ดร.ธนพล ไปแล้ว

ในปี 2561 นี้ไม่รู้ ดร.ธนพล จะมีผลงานคอนเสิร์ตอะไรอีก

แต่เชื่อว่า ใครที่เคยไปชมผลงานของ ดร.ธนพล ย่อมเกิดความคาดหวัง

คาดหวังว่าจะได้อิ่มเอิบจากการแสดง

ได้รับความสุขจากบทเพลง และได้รับไอเดียจากการชม

ได้รับ “คุณภาพ” ที่เคยประทับใจจากการรับฟัง

ประทับใจจนกลายเป็น “โลโก้” ที่แฟนๆ ต้องคอยติดตามชมผลงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image