ครูเพื่อศิษย์ : คอลัมน์เดินไปในเงาฝัน

จำได้ว่าเคยอ่านหนังสือเรื่อง “ครูแท้แพ้ไม่เป็น” หรือในชื่อภาษาอังกฤษคือ “Real Talk for Teachers” ที่มี “เรฟ เอสควิท” เป็นผู้เขียน

แต่ชักจะจำไม่ได้แล้ว

จึงหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านทวนอีกครั้ง เพราะเห็นใกล้วันครูที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 16 มกราคม นี้ ซึ่ง “เรฟ เอสควิท” นอกจากจะเป็นผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เขายังเป็นครูที่มีบทบาทอย่างมากต่อการให้กำลังใจลูกศิษย์ ผู้ปกครอง และครูจากทั่วโลกด้วย

“เรฟ เอสควิท” มีความเชื่อส่วนตัวไม่กี่อย่างสำหรับการทำหน้าที่ครูที่ดี เพราะนอกจากจะต้องยอมรับเงื่อนไขในการเผชิญอุปสรรคต่างๆ ในการสอนนักเรียน

Advertisement

ยังจะต้องยอมรับความไม่เข้าใจของผู้ปกครอง

สิ่งสำคัญไปกว่านั้นคือนโยบายทางการศึกษาของรัฐบาลขณะนั้น ซึ่งถ้ามองเรื่องการศึกษาไปในทางเดียวกันกับสิ่งที่ครูต้องการ ถือเป็นเรื่องดี

แต่ถ้ามองตรงกันข้าม

Advertisement

มองผิดรูปผิดทาง

ครูผู้ทำหน้าที่สะพานเชื่อมความรู้ไปถึงลูกศิษย์ย่อมบิดเบี้ยวไปด้วย เหมือนอย่างครั้งหนึ่งที่สหรัฐอเมริกาดำเนินทิศทางการศึกษาโดยมุ่งเน้นผลของการประเมิน

“เรฟ เอสควิท” บอกว่าพวกเขากำลังหลงทาง เพราะเป้าหมายที่แท้จริงของการศึกษาอยู่ที่การเรียนรู้ของศิษย์

ทำอย่างไรให้เด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้

ไม่ใช่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

ผมว่าเรื่องนี้คล้ายๆ กับการศึกษาของประเทศเรา ที่ยังมองเรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นสำคัญ และทำท่าว่าน่าจะอีกนานกว่าจะเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับเรื่องกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก

จนบางโรงเรียนหันมาบริหารจัดการเอง เพราะหากขืนปล่อยให้กระทรวงศึกษาฯมอบทิศทาง และนโยบายทางการศึกษาคงอีกนาน

สู้เปลี่ยนจากตัวเองดีกว่า

เพราะเขาเห็นแล้วว่าการสอนหนังสือที่ทำให้เด็กเกิดกระบวนการคิด กระบวนการเรียนรู้ ลองผิด ลองถูก และนำสิ่งที่คิดไปปรับใช้กับการเรียนการสอนจะทำให้นักเรียนมีจินตนาการ

“เรฟ เอสควิท” ใช้วิธีการนี้มาตลอด เพราะเขาเชื่อว่าหัวใจของห้องเรียนจะต้องทำให้นักเรียนมีแรงบันดาลใจ หรือมีแรงจูงใจต่อการเรียน

โดยเฉพาะนักเรียนอายุระหว่าง 8-10 ขวบ

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “เรฟ เอสควิท” จึงชวนนักเรียนรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต และการทำงานมาเล่าเรื่องราวต่างๆ ของการเรียน การใช้ชีวิต และการเรียนรู้นอกห้องเรียนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับพวกเขา

เพราะเขาเชื่อว่าบุคคลต้นแบบเป็นสิ่งสำคัญ

การสอนแบบไม่สอนลักษณะเช่นนี้จะทำให้นักเรียนจดจำไปอย่างยาวนาน

ลักษณะเดียวกันนี้ “เรฟ เอสควิท” บอกว่าใช้ได้ดีกับนักเรียนระดับมัธยมต้น มัธยมปลาย และนักศึกษาในมหา’ลัยด้วย

เพียงแต่เราต้องหาบุคคลต้นแบบให้เจอ

และหาให้ตรงกับความต้องการของเขา

เพราะอย่าลืมว่าชีวิตวัยเด็กของแต่ละคนมีแบล๊กกราวด์ไม่เหมือนกัน บางคนอยากเป็นทหาร ตำรวจ แพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก และอื่นๆ อีกมากมาย

เราจึงต้องนำคนเหล่านั้นมาบอกเล่าให้ฟังถึงวิธีการเรียนหนังสือ การเรียนรู้นอกตำรา การคิดนอกกรอบ และการใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้ตรงกับสิ่งที่ตัวเองต้องการ

“เรฟ เอสควิท” บอกว่ากว่าเขาจะเปลี่ยนแปลงโลกการศึกษาของสหรัฐอเมริกาได้ ต้องใช้เวลาอย่างยาวนาน แต่กระนั้น เขายอมอดทน และรอคอย

ทำให้เห็น

ไปบรรยาย

เขียนหนังสือ

บทความ

เพื่อบอกในสิ่งที่ตัวเองคิดนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเขามีความเชื่อว่าการเป็น “ครูแท้” กับ “ครูเพื่อศิษย์” มีความแตกต่างกัน บางคนดำรงอาชีพครูทั้งชีวิต

แต่ไม่มีจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูเลย

กอบโกยแต่ผลประโยชน์เข้าหาตนเอง แสวงหาความร่ำรวยจากผู้ปกครอง และลูกศิษย์ ซ้ำร้ายหนักไปกว่านั้นยังปล่อยให้เงินเข้ามามีอำนาจต่อการจองที่นั่งของนักเรียน

แต่การเป็น “ครูเพื่อศิษย์” ตรงกันข้าม

ทุกอย่างที่สอน ทุกอย่างที่พร่ำบ่น หรือทุกอย่างที่ทุ่มเทออกไป ล้วนเป็นพลังงานแฝงที่เปี่ยมไปด้วยความรัก ความเมตตา และการเฝ้าแอบมองลูกศิษย์ของตนประสบความสำเร็จไปทีละขั้น

บางครั้ง “ครูเพื่อศิษย์” อาจต้องเข้าไปช่วยเหลือในบางกรณี หากผู้ปกครองของนักเรียนประสบปัญหาอะไรต่างๆ โดยไม่สนใจว่าตัวเองจะต้องเหน็ดเหนื่อยอย่างไร

“เรฟ เอสควิท” ทำเช่นนั้นตลอดมา และทำมาทั้งชีวิต

เขาตื่นเช้าประมาณตีห้ามาโรงเรียนเพื่อเตรียมการสอน และเมื่อนักเรียนทยอยมาโรงเรียน เขาจะเดินออกไปทักทายนักเรียน ผู้ปกครอง และเพื่อนครูบ้าง

ตอนเย็นหลังเลิกเรียน เขาจะสอนพิเศษให้กับนักเรียนบางคนที่ไม่เข้าใจบทเรียน หรือตามเพื่อนไม่ทัน ซึ่งเขาทำอย่างนี้ทุกวัน ทุกปี

ตลอดอายุการทำงาน

จนลูกศิษย์ประสบความสำเร็จในชีวิตหลายคน

และหลายคนนั้นเขียนจดหมายมาหา “เรฟ เอสควิท” ในช่วงวันเกิดของเขาทุกปี เพื่อขอบคุณในสิ่งที่เขาสั่งสอน อบรมลูกศิษย์จนทำให้พวกเขามีวันนี้

วันที่ “ครูเรฟ เอสควิท” ยังทำหน้าที่เป็นสะพานความรู้เพื่อส่งลูกศิษย์ให้ถึงฝั่งฝันกระทั่งจนปัจจุบัน

แล้วครู (บางคน) ของบ้านเราล่ะ

ทำอย่างนี้บ้างหรือเปล่า

ใครรู้ช่วยตอบที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image