แวะ “หนองมน” ชิม “ขนมงานวัด” คอลัมน์ หิวหรืออิ้มก็ยิ้มพอกัน

ชีวิตแบบไทยๆ ที่ “นิยม” กันมาแต่โบร่ำโบราณคือ การจัดความสัมพันธ์ระหว่าง “วัด” กับ “บ้าน” หรือ “คน” กับ “พระ” ให้เหมาะสม

เสริมส่งซึ่งกันและกันในอันที่จะทำนุบำรุงพระศาสนา

“พระ” ท่านมีหน้าที่ในการศึกษาพระธรรมคำสั่งสอน ให้เกิดความเข้าใจหลักและกฎของโลกและชีวิต หรือที่เรียกว่าหลักธรรม

เพื่อนำผลที่ได้จากการเรียนรู้นั้นมาบอกกล่าวญาติโยม ฆราวาสที่เป็นชาวบ้านให้รู้ เพื่อหาหนทางแก้ปัญหาชีวิต คลายทุกข์คลายร้อนซึ่งเป็นธรรมดาของมนุษย์โลก

Advertisement

เอาธรรมะมาจรรโลงชีวิต ผ่อนคลายจิตใจของคนในสังคมเดียวกันโปร่งเบาพอที่จะดำเนินร่วมกันต่อไปได้

ชาวบ้านที่เป็นฆราวาสมีหน้าที่เสียสละทรัพย์สิน หรือกำลังกาย แรงใจเพื่อหล่อเลี้ยงให้วัดและพระอยู่ได้

สร้างวัดให้เจริญรุ่งเรือง มีบรรยากาศชวนรู้สึกสงบเย็น หย่อนใจให้คลายจากทุกข์จากโศก

Advertisement

ถวายปัจจัย 4 ให้พระได้อยู่สบาย ไม่ต้องยุ่งยากทำมาหาเลี้ยงชีพ เอาเวลาไปศึกษาธรรมะให้ชาวบ้านได้อาศัยความรู้นั้นมาอบรมจิตให้เข้าใจในหลักธรรมในอันที่จะนำพาชีวิตให้ดำเนินไปได้อย่างสงบ หรืออย่างน้อยไม่ทุกข์จนอยู่ไม่ได้

กิจกรรมระหว่างวัดกับบ้าน พระกับคนจึงมีอยู่ตลอดเวลา

เป็นงานบุญที่เกี่ยวข้องตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตคน และงานประเพณีที่จัดขั้นตามวาระฤดูกาลต่างๆ

เข้าวัดทำบุญในวันพระหนาแน่นช่วงเข้าพรรษา หลังออกพรรษาเป็นการกฐินผ้าป่า

หลังจากนั้นเป็น “งานวัด” อันเป็นงานรื่นเริงของชาวบ้านที่ไปอาศัยพื้นที่วัดจัดกันขึ้น

แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นของงานต่างๆ มีจุดประสงค์อยู่ที่เชื่อมวัดกับบ้าน เชื่อมคนกับพระไว้ด้วยกัน เพื่อให้ได้พึ่งพาอาศัยกัน

ช่วงหลังงานเหล่านี้แทบทั้งหมด ถูกออกแบบจัดการให้เป็นธุรกิจ เอาวัด เอาศรัทธาของคนมาเป็นเครื่องมือทำมาหากินของนักจัดการทั้งที่เป็นฆราวาส และที่เป็นพระไปเสียมาก

แต่มีหลายพื้นที่ หลายย่าน ตำบล ที่ยังพยายามรักษากรอบแห่งจุดประสงค์ระหว่างวัดกับบ้าน คนกับพระแบบโบราณไว้ได้ แม้รูปแบบจะเปลี่ยนไปบ้าง มีรายละเอียดของการถูกคุกคามจากนักจัดการธุรกิจอยู่บ้าง แต่ยังเห็นหลักๆ อยู่ในจุดประสงค์เดิม

“หนองมน” ที่ชลบุรี เป็นย่านหนึ่งที่รักษาความดีงามในสัมพันธ์ของวัดกับบ้านไว้ได้ค่อนข้างเข้มแข็ง

ในช่วงนี้ หลายวัดที่ “หนองมน” จัดงานวัด

แต่งานวัดของวัดแถบนี้ ไม่ว่าจะเป็น “วัดตาลล้อม” หรือ “วัดเป้ง” หรือวัดอื่นๆ

คือการที่ชาวบ้านมาช่วยกันทำขนม ขายเอาเงินให้วัด

“หนองมน” นั้นขึ้นชื่อลือชาในความเป็น “ย่านขนมอร่อย” อยู่แล้ว

ไม่ใช่แค่ “ข้าวหลาม” ซึ่งเป็นที่รับรู้ไปทั้งประเทศถึงความหอม หวาน มัน เค็มที่พอเหมาะพอเจาะ แค่ใครที่รู้จักหนองมนดี จะรู้ว่าขนมอื่นที่เป็นขนมไทย ฝีมือคนหนองมนไม่แพ้ที่ไหนทั้งนั้น

เพียงแต่ช่วงหลังเศรษฐกิจแถวชายฝั่งตะวันออกดี คนรุ่นหลังไปทำมาหากินอย่างอื่นเป็นงานดี เงินงามมากกว่า การโชว์ฝีมือทำขนมจึงเงียบๆ ไป

แต่ปีละครั้ง ในงานวัดแถวบ้าน คนเก่าคนแก่ของหนองมนจะมาทำขนม ด้วยวิธีแบบโบราณ ขายหาเงินเข้าวัด

จัดการมาต่อเนื่อง

ถึงวันนี้เป็นที่เลื่องลือกันแล้วว่า “ขนมผักกาดกวน ข้าวเหนียวแดง กะละแม หม้อแกง” และอื่นๆ

หากเป็นที่ตั้งเตาขึ้นมากวนขายกันสดๆ ที่ “วัดแถวหนองมน” เป็นที่รับประกันได้ว่า ไม่มีใครเทียบ

ด้วยเหตุนี้ในแต่ละปี งานวัดที่ชาวบ้านมาร่วมกันหาเงินเข้าวัดด้วยการกวนขนมขาย ได้เงินให้พระไปใช้จ่ายทำนุบำรุงศาสนาวัดหลายล้าน

ด้วยคนแห่กันมาซื้อชนิดที่แน่นตลอด 5 วัน 7 วันของงานวัด

วัดไม่ต้องพึ่งพาธุรกิจบุญให้ได้รับการติฉินนินทา

มาแถวชลบุรี ลองถามดูนะครับว่า ช่วงนี้มีงานบุญกวนขนมขายที่วัดไหน

ไปทบทวน ความสัมพันธ์วัดกับบ้าน พระกับคน แถมมีขนมอร่อยติดไม้ติดมือไปฝากคนที่บ้าน

คุ้มแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image