คอลัมน์ แปดหมื่นหกพันก้าว : กระแสเฟซบุ๊ก

บรรดาผู้คนทั่วโลกที่ทำงานหารายได้ทั้งแบบจริงจัง หรือรายได้เสริมบนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก โซเชียลมีเดียเบอร์หนึ่งของโลกคงเซ็งจนหายเซ็งไปแล้วหลังการประกาศของ “มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก” ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก ซึ่งผ่านพ้นไปแล้วกว่า 2 สัปดาห์ ถึงการปรับลดการมองเห็นบทความจากเพจเฟซบุ๊ก หรือปรับลด Reach ทำให้เราได้เห็นบทความจากเพจเฟซบุ๊กต่างๆ น้อยลง แต่ไปเห็นสเตตัสหรือบทความจากเฟซบุ๊กส่วนบุคคลของเพื่อน ของคนรู้จัก หรือ Facebook Profile มากขึ้นแทน

พูดจบไม่กี่วันเราก็เห็นการปรับอัลกอริธึ่มใหม่ของเฟซบุ๊กกันเรียบร้อย

หนึ่งในเหตุผลที่ ซักเคอร์เบิร์กระบุถึงการปรับครั้งนี้ เขาบอกว่าต้องการให้ผู้ใช้เฟซบุ๊ก มีประสบการณ์กับเพื่อนและคนใกล้ตัวมากขึ้นกว่าเพจต่างๆ ที่ปรากฏบนฟีด แม้จะมีหลายความเห็นบ่นว่า มา “คิดแทน” คนใช้ได้อย่างไร

ด้านหนึ่ง ทราบกันดีว่า เฟซบุ๊กถูกวิจารณ์หนักตั้งแต่ปี 2016 หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยเฉพาะประเด็นเป็นแหล่งปล่อย “ข่าวปลอม” ระบาด และแน่นอนว่า ทำให้หลายคนเชื่อว่า นี่คือหนึ่งในมาตรการแก้ปัญหา “ข่าวปลอม” ของเฟซบุ๊กไปด้วยในตัว

Advertisement

หลังจากก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊กพยายามหาวิธีคุมข่าวปลอม อาทิ ทดสอบมีปุ่มแจ้งข่าวปลอมจากบรรดาคนอ่าน ปรับอัลกอริธึ่มกรองข่าว แต่ไม่ได้ผลดีพอ เสียงวิจารณ์ข่าวปลอมยังกระหึ่ม มาตรการปรับการมองเห็นข่าวสารจากเพจจึงถูกนำมาใช้ บนเหตุผลที่ “มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก” บอกว่าอยากให้ผู้คนใช้เวลากับเพื่อนฝูง คนรู้จักมากกว่าเพจ…

ฟังแล้วจะมีเหตุผลมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับมุมมองแต่ละคน

วันนี้เมื่อ “มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก” กำลังทำให้ยุคเพจเฟซบุ๊กลดความนิยมลง จะเพื่อรอเปิดเกมใหม่ หรือเน้นให้ผู้คนใช้เวลากับเฟซบุ๊กส่วนบุคคลมากขึ้นกว่าก็ตาม แต่นั่นก็ย่อมส่งผลกระทบต่อบรรดาคนทำเว็บ ทำเพจไปแล้ว

Advertisement

อย่างไรก็ดี มีแนวคิดแบบไผ่ลู่ลม ปรับตัวปรับใจของ ผู้บริหารอย่าง “ชลากรณ์ ปัญญาโฉม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเวิร์คพอยท์ ที่เพิ่งให้สัมภาษณ์กับ เว็บไซต์ Brand Buffet ในหลายแง่มุม ตอนหนึ่งว่า

“ต่อให้คนบอกว่าต้องแบ่งเงินให้กับแพลตฟอร์ม แต่คิดซะว่าเราจ่ายค่าเช่าเวลาให้กับเขา เหมือนยุคหนึ่งที่เราไปเช่าเวลาแพลตฟอร์มคนอื่น แต่ตรงนี้ดีกว่าที่เราเอาคอนเทนต์ไปใส่ และไม่ต้องมีทีมขาย”

แต่ที่ยกระดับรับมือไปกว่านั้น คือ “Jeff Bezos” เจ้าของธุรกิจค้าปลีกแอมะซอน ที่ซื้อกิจการหนังสือพิมพ์ดังวอชิงตันโพสต์ เขาเลือกจะพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลขึ้นมาเองเพื่อสนับสนุนและเผยแพร่ข่าว ทั้งทำระบบเก็บสถิติข้อมูลนำมาวิเคราะห์เอง

และระหว่างพัฒนาของใหม่ กระแสปัจจุบันก็ไม่ได้ทิ้ง คือเขาปูคอนเทนต์ข่าวไปยังทุกโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์เหมือนสื่ออื่นๆ คู่ขนานไปกับการปรับราคาค่าสมาชิก (แบบอ่านออนไลน์) ให้ถูกลงเพื่อเรียกลูกค้า

ยุคของข่าวบนพรมแดนโซเชียลมีเดีย ทุกวันนี้แค่พักเหนื่อยก็เรียกว่าช้าแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image