สุจิตต์ วงษ์เทศ : ชุมชนจีนเก่าแก่ แม่น้ำท่าจีน สมุทรสาคร

"เล่งเกียฉู่" นามอันเป็นมิ่งมงคลตั้งแต่สมัยการค้าโลกเริ่มแรก (ยุคทวารวดี) ได้รับการสืบทอดจนปัจจุบัน เป็นชื่อร้านค้าใน จ. สมุทรสาคร (ภาพจากมติชนทีวี เมื่อวันพุธที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561)

จีนกับไทย มีการติดต่อค้าขายใกล้ชิดกันราว 1,000 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ยังไม่ไทย จนกลายตนเองเป็นไทย ดังพบร่องรอยชุมชนจีนเก่าแก่ แม่น้ำท่าจีน

สมุทรสาคร ราวกลางปี 2554 ขณะอยู่บนถนนต้นทางสายมหาชัย-กระทุ่มแบน ผมนั่งรถตู้ของมติชนผ่านตลาดปากซอยโลตัส เห็นร้านขายอะไหล่รถยนต์ขึ้นป้ายชื่อ “เล่งเกียฉู่”

ตรงกับชื่อในเอกสารจีนที่นักปราชญ์ไทยและเทศอธิบายว่าเป็นชื่อเมืองโบราณ อ.เมืองฯ จ.นครปฐม (ยุคทวารวดี) ว่า เล่งเกียฉู่ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าหลั่งยะสิว ตามคำอธิบายของ อ.มานิต วัลลิโภดม กับ อ.ศรีศักร วัลลิโภดม (ยังมีข้อถกเถียงไม่ยุติเกี่ยวกับตำแหน่งของหลั่งยะสิว เพราะถูกยกไปรวมเป็นลังกาสุกะทางภาคใต้ ซึ่งเป็นคนละแห่ง)

เล่งเกียฉู่ ย่านลูกหลานมังกร

เล่งเกียฉู่ หมายถึง ย่านลูกหลานมังกร (ตีความโดยสรุปจากคำแปลของผู้รู้ภาษาจีน 2 ท่าน ซึ่งผมเคยอ้างถึงนานแล้วในมติชนรายวัน) เป็นชุมชนจีนเก่าแก่ริมแม่น้ำท่าจีน ตั้งแต่สมุทรสาครขึ้นไปถึงนครปฐม และสุพรรณบุรีกับชัยนาท

Advertisement

เท่ากับเมืองจีนเป็นมังกรตัวพ่อ (ถ้าเชื่อว่าจริงตามคำแปลจากคำบอกเล่ามีในเอกสารจีน) ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีนในไทยเป็นมังกรลูกหลาน

แสดงว่าจีนมองเห็นดินแดนแถบนี้อยู่ในอารักขามาตั้งแต่เริ่มแรกมีการค้าโลก (ยุคทวารวดี) ทั้งนี้เพื่อควบคุมเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทร บริเวณต้นน้ำแม่กลอง (กาญจนบุรี) จนถึงช่องสิงขร (ประจวบคีรีขันธ์)

ดังนั้น จีนจึงอุดหนุนรัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) กับรัฐเพชรบุรี (เพชรบุรี) มีอำนาจถึงรัฐนครศรีธรรมราช (นครศรีธรรมราช) กระทั่งได้ครอบครองรัฐอยุธยาให้เป็นศูนย์การค้านานาชาติ ราชอาณาจักรสยามแห่งแรก

Advertisement

สยาม

พื้นที่สองฟากแม่น้ำท่าจีน เป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ซึ่งอยู่ฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาถูกเรียกจากนานาชาติว่าสยาม มีศูนย์กลางอยู่สุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) ที่เจ้านายใกล้ชิดสนิทสนมกับจักรพรรดิจีน (ปักกิ่ง)

[ขณะนั้นฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นละโว้ มีศูนย์กลางอยู่ลพบุรีใกล้ชิดเป็นเครือญาติกษัตริย์กัมพูชา]

ดินแดนสยามมีประชากรพูดภาษาต่างๆ เป็นชาวสยาม (ลูกผสมร้อยพ่อพันแม่) พูดภาษาต่างๆ แต่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางทางการติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนทางการค้ากับดินแดนภายในถึงลุ่มน้ำโขง และลุ่มน้ำสาละวิน

ชาวสยามเหล่านี้ต่อไปจะเรียกตนเองว่าไทย ล้วนเป็นบรรพชนคนไทยสืบมาจนปัจจุบัน

บ้านท่าจีน สมุทรสาคร

ย่านลูกหลานมังกร หรือเล่งเกียฉู่ จึงเป็นที่รับรู้อยู่ในความทรงจำ แล้วบอกเล่าสืบเนื่องถึงยุคต้นอยุธยา และบ้านท่าจีนเป็นชุมชนคนจีนน่าจะเติบโตขึ้นช่วงเวลานี้ บริเวณชุมทางปากน้ำท่าจีนกับคลองสุนัขหอนเชื่อมไปแม่น้ำแม่กลอง ดังมีวัดใหญ่จอมปราสาทเป็นหลักหมายสมัยต่อมา

ท่าฉลอม (ได้ชื่อจากเรือฉลอมขนสินค้า) อยู่ใกล้ปากน้ำท่าจีน เป็นทำเลเหมาะสมการขนถ่ายสินค้าสมัยก่อน มีภูมิประเทศเป็นคุ้งน้ำคล้ายหัวมังกร จึงเรียกพื้นที่แถบนี้ด้วยความทรงจำว่าเล่งเกียฉู่ [มีในงานวิจัยเรื่อง สาครบุรีฯ ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน) กำลังจัดพิมพ์เป็นเล่ม จะเสร็จเร็วๆ นี้]

หัวมังกรอยู่ท่าฉลอม-มหาชัย จ.สมุทรสาคร ส่วนลำตัวและหางก็พาดขึ้นไปทางเหนือตามความคดเคี้ยว (เหมือนเงี้ยวงู) ตลอดสายถึงต้นทางของแม่น้ำท่าจีน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image