ห้องดนตรีต้นแบบ คลองเตย ยะลา และศาลายา โดย สุกรี เจริญสุข

กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายโดยประกาศเป็นข่าว เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 ออกสื่อความว่า “กระ ทรวงศึกษาธิการมีนโยบายเตรียมขยายห้องเรียนดนตรีไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่มีวิทยาลัยดนตรีในสังกัดอยู่ ไม่ว่าจะเป็น วงโยธวาทิต วงสมัยใหม่ (Modern Band) วงขับร้องประสานเสียง วงดนตรีไทย และวงอื่นๆ คาดว่าปีการศึกษา 2561 สามารถที่จะขยายโครงการห้องเรียนดนตรีไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศได้ โดยใช้โรงเรียนกีฬาเป็นต้นแบบ”

ผู้เขียนตื่นเต้นและให้ความสนใจในเรื่องนี้มาก แม้จะตื่นเต้นทุกครั้งที่รัฐบาลมีนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาดนตรี เมื่อก่อนรัฐมีเป้าหมายให้เด็กไทยเป่าขลุ่ยทั่วประเทศ ให้เด็กไทยตีระนาดเป็นทั่วประเทศ ให้เด็กอีสานเป่าแคนเป็นทุกจังหวัด ต่อมาผู้ว่ากรุงเทพมหานครก็ตั้งเป้าว่า โรงเรียนของกรุงเทพมหานครต้องมีเครื่องดนตรีทุกโรงเรียน (437 โรงเรียน) ครั้งนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศให้ขยายห้องเรียนดนตรีทั่วประเทศ

สิ่งที่ตื่นเต้นก็เพราะ ท่านรัฐมนตรีมีนโยบายที่จะสร้างห้องเรียนดนตรีให้เป็นต้นแบบ

สิ่งที่น่ากลัวก็คือ กลัวว่าจะเป็นห้องสุสานเครื่องดนตรีที่มีคุณภาพต่ำ ใช้การไม่ได้

Advertisement

สิ่งที่น่ากลัวอีกอย่างหนึ่งก็คือ การใช้โรงเรียนกีฬาเป็นต้นแบบ

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอเสนอตัวอย่างห้องเรียนดนตรีต้นแบบที่มีอยู่แล้ว 3 แห่งด้วยกัน ซึ่งสามารถนำไปศึกษาและต่อยอดได้เลย โดยไม่ต้องอาศัยต้นแบบของโรงเรียนกีฬา

ห้
องเรียนดนตรีต้นแบบแรกที่นำเสนอ คือ ห้องเรียนดนตรีที่ชุมชนคลองเตย ครูต้นกล้วย (วรินทร์ อาจวิไล) โดยยึดเอาโบสถ์อิมมานูเอล เลขที่ 1869-1875 ซอยอุทัยฟาร์ม ถนนพระรามสี่ คลองเตย พัฒนาใช้เป็นห้องเรียนดนตรี สอนดนตรีเด็กทุกคนแบบให้เปล่า เพื่อใช้ดนตรีเป็นเพื่อนยามเหงา เพื่อใช้ดนตรีสร้างโอกาส และเชื่อว่าดนตรีจะนำเด็กไปในทิศทางที่ถูกต้อง เพราะถ้าพูดถึงชุมชนคลองเตย ก็จะนึกถึงชุมชนของเด็กด้อยโอกาส ชุมชนที่เป็นแหล่งยาเสพติด เป็นชุมชนที่มีภาพลักษณ์ติดลบ

Advertisement

ครูต้นกล้วย เรียนจบปริญญาตรีดนตรี จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มต้นเรียนดนตรีตั้งแต่อายุ 7 ขวบ โดยครูอาสาสมัครชาวนอร์เวย์ ที่เป็นทั้งนักดนตรีและเป็นครูอาสา จัดโครงการสอนดนตรีคลาสสิกให้กับเด็กด้อยโอกาสที่คลองเตย เด็กที่ไม่มีคนเหลียวแล โครงการถูกจุดประกายโดยครูต่างชาติ เพราะเขาเชื่อว่า “ดนตรีช่วยเด็กได้”

วันนี้ครูอาสาสมัครกลับไปนอร์เวย์แล้ว เหลือครูต้นกล้วยที่ได้ทำหน้าที่ต่อเพื่อช่วยเด็กในสลัมให้รอดพ้นจากชีวิตที่วิกฤต และสามารถมองเห็นช่องทางผ่านเสียงดนตรีได้ เสียงดนตรีและวงดนตรีจากเด็กสลัมคลองเตยได้ส่งเสียงดังเล็ดลอดออกมามากขึ้น เป็นเสียงที่ไพเราะจากเด็กที่ด้อยโอกาสได้ผ่านหูผู้ใหญ่ใจดีหลายท่าน จึงทำให้วงดนตรีของเด็กสลัมคลองเตย มีคนได้ยินมากขึ้น

ต้นแบบของโรงเรียนดนตรีที่สลัมคลองเตย เป็นการจัดการศึกษาแบบให้เปล่า ไม่มีระบบใดรองรับ เด็กไม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียน โรงเรียนอยู่ที่โบสถ์ ครูสอนดนตรีด้วยหัวใจ ด้วยความรักและความผูกพัน อยากให้เด็กที่อยู่ในชุมชนได้ใช้ดนตรีเป็นโอกาสของชีวิต อาศัยผู้ใหญ่ใจดีให้เงินเดือน ครูคนอื่นเป็นครูขอแรง เป็นครูอาสา มีค่าตอบแทนที่จำเป็น มีค่ารถ มีอาหารเลี้ยง หลายคนบริจาคเงิน บริจาคสิ่งของ บริจาคแรง บริจาคมันสมองช่วยคิดช่วยผลักดัน เพื่อให้โครงการอยู่ได้

กิจกรรมของโรงเรียนดำเนินมาได้ 20 กว่าปี เด็กสามารถไปเล่นดนตรีและเรียนดนตรีทุกวันหลังเลิกเรียน ในวันพุธและวันอาทิตย์ก็จะเป็นการรวมวงฝึกซ้อม ส่วนใหญ่วงจะเล่นเพลงคลาสสิก ส่วนเครื่องดนตรีนั้นได้รับบริจาคมาจากต่างประเทศ เมื่อครั้งที่ครูอาสา (จากนอร์เวย์) เป็นผู้ดำเนินการสร้างเอาไว้ ลำพังเด็กไม่มีเครื่องดนตรีเป็นของส่วนตัว หากกระทรวงศึกษาจะช่วยพัฒนาโรงเรียนที่ทำด้วยหัวใจแบบนี้ ต้องใช้ความระมัดระวังสูง เพราะเงินอาจจะทำให้หัวใจสลายได้

วงดนตรีที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย “ยามจนก็รักกันดี เมื่อดังและรวยแล้วก็ต้องแยกวง”

ห้
องเรียนดนตรีต้นแบบแห่งที่สอง คือ เทศบาลจังหวัดยะลา มี นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ เป็นผู้นำ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีนครยะลา ได้ก่อตั้งวงออเคสตราเยาวชนเทศบาลนครยะลา ซึ่งได้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 นายกเทศมนตรีมีความเชื่อว่าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วยผู้คนที่มีหลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายวัฒนธรรม นับถือศาสนาที่ต่างกัน เชื่อต่างกัน กินอาหารต่างกัน แต่ดนตรีเป็นสิ่งที่สามารถเข้าถึงทุกคนได้ โดยไม่แบ่งเชื้อชาติ ไม่แบ่งศาสนา และไม่มีชนชั้น

การจัดให้เด็กในพื้นที่เทศบาลนครยะลา ได้เรียนดนตรีและตั้งเป็นวงดนตรี จนเป็นที่รู้จักทั่วประเทศนั้น เป็นเรื่องที่น่ายกย่องยิ่ง นายกเทศมนตรีนครยะลายังได้นำวงออเคสตราเยาวชนเทศบาลนครยะลาไปแสดงทั้งในและต่างประเทศหลายครั้ง การจัดการศึกษาดนตรีที่ยะลาเป็นแบบให้เปล่า ใช้เงินบริจาคจ้างครูสอนดนตรีโดยมีงบเทศบาลลงไปช่วยเท่าที่จะทำได้ ทำให้วงออเคสตราเยาวชนเทศบาลนครยะลาเจริญก้าวหน้าอยู่ยั่งยืน

ทั้งห้องเรียนดนตรีที่คลองเตยและยะลา เป็นการเรียนดนตรีเพื่อพัฒนาความเป็นคน พัฒนาโอกาส ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เด็กที่เรียนดนตรีมีความชำนาญและคุ้นเคยกับการเล่นดนตรี ดนตรีกลายเป็นหุ้นส่วนของชีวิต เด็กมีทักษะในการเล่นดนตรีติดตัวไปจนโต

ห้องเรียนดนตรีต้นแบบแห่งที่สาม วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เป็นห้องเรียนสำหรับผู้ที่เรียนดนตรีเพื่ออาชีพ สังคมไทยเป็นสังคมขาดบุคคลต้นแบบ ขาดบุคคลตัวอย่าง ขาดพระเอกในดวงใจ (Hero, Role Model, Idol) จึงไม่มีใครเลือกเรียนดนตรีเป็นอาชีพ คนโบราณกล่าวไว้เป็นคติหลายอย่างที่เป็นลบในอาชีพดนตรี

อย่าตีกลองแขก พาให้ใจแตก จะไม่เป็นผล หมายถึง ดนตรีทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน

อย่าร้องเพลงในครัวได้ผัวแก่

รถไฟ เรือเมล์ ยี่เก ตำรวจ คบไม่ได้ ยี่เกเป็นพวกร้องรำทำเพลง คนพวกนี้ไว้ใจไม่ได้

ดนตรีเป็นวิชาที่เสียแรงรู้เสียแรงเรียน เพราะเป็นวิชาที่ไม่มีแก่นสาร เป็นต้น

การสร้างวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อพัฒนาอาชีพดนตรี ให้เป็นวิชาที่มีเกียรติเชื่อถือได้ พยายามสร้างองค์ความรู้เพื่อให้สังคมเห็นว่า ดนตรีเป็นวิชาของนักปราชญ์ ดนตรีเป็นศาสตร์ของพระราชา โดยมีตัวอย่าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานชื่ออาคาร “ภูมิพลสังคีต” ให้แก่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

วิ
ทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล นั้น มีมาตรฐานต่อรองไม่ได้ เพราะว่าเป็นอาชีพ สถาบันดนตรีในยุโรปให้การยอมรับ โดยผ่านมาตรฐานเมื่อเดือนกันยายน 2560 ซึ่งเป็นสถาบันเดียวในภูมิภาคนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะได้ไม่ต้องกังวลใจว่า หากเลือกตัวอย่างเป็นที่ศาลายาแล้วจะไม่ได้มาตรฐาน

ห้องเรียนที่ศาลายานั้นเป็นห้องเรียนดนตรีที่เป็นสากล นักเรียนได้รู้ 5 ภาษา คือ ภาษาแม่ ภาษาอังกฤษ ภาษาดนตรี ภาษาเทคโนโลยี และภาษาทำมาหากิน เนื่องจากทั้งเด็กและครูดนตรีมาจากหลายเชื้อชาติและแตกต่างทางวัฒนธรรม ทำให้เด็กที่เรียนต้องปรับตัวเพื่ออยู่กับโลกที่แตกต่าง

ที่สำคัญก็คือ มีดนตรีแสดงทุกวัน มีนักดนตรีระดับโลกมาแสดง มาสอนทุกสัปดาห์ จึงมีตัวอย่างให้เด็กที่เรียนได้ดูและเลือกเป็นตัวอย่าง

หากกระทรวงศึกษาธิการต้องการห้องเรียนดนตรีต้นแบบ นำเสนอมาเท่าที่มีปัญญาคิดได้ เพราะเชื่อว่า นโยบายต้นแบบห้องเรียนดนตรีนั้น เป็นความปรารถนาดีต่อเด็กไทย เพราะดนตรีจะสร้างให้เด็กไทยมีความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการ

ดนตรีทำให้เด็กเป็นคนเต็มคน ดนตรีช่วยพัฒนาให้เด็กฉลาด ดนตรีช่วยขจัดความเจ็บปวดในระหว่างวัน (รัชกาลที่ 9) ดนตรีสร้างคนให้มีศักยภาพความเป็นเลิศของมนุษย์ ดนตรีสามารถนำสังคมให้มีรสนิยม ดนตรีสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยมหาศาล

และดนตรีจะนำประเทศไทยไปอยู่ในโลกอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image