ประวัติศาสตร์ไทย ไม่เหมือนเดิม โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ถ้าไม่ปรับเปลี่ยน ประวัติศาสตร์ไทยก็เหมือนนิยายชุดหนึ่ง

มีตัวเอกตัวร้ายขาวดำอย่างรามเกียรติ์

ประวัติศาสตร์ไทยถูกสถาปนาให้แบ่งยุคสมัยเป็นลำดับตามแนวประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย ได้แก่ ศิลปะทวารวดี, ศิลปะศรีวิชัย, ศิลปะลพบุรี (หรือศิลปะขอมในประเทศไทย), ศิลปะเชียงแสน (หรือล้านนา), ศิลปะสุโขทัย, ศิลปะอู่ทอง, ศิลปะอยุธยา, ศิลปะรัตนโกสินทร์

[สรุปจากหนังสือ ศิลปะในประเทศไทย ของ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล มหาวิทยาลัยศิลปากร พิมพ์ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2550]

Advertisement

ประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2558) ใช้แนวทางประวัติศาสตร์ศิลปะฯ จัดบ้านเมืองยุคแรกเริ่มบนแผ่นดินไทย มีชื่อต่างๆ ได้แก่ ทวารวดี, เจนละ, ศรีวิชัย, หริภุญชัย ต่อจากนั้นเป็นสมัยต่างๆ ตามลำดับ ได้แก่ สมัยสุโขทัย, สมัยอยุธยา, สมัยธนบุรี, สมัยรัตนโกสินทร์

แต่ในโลกความจริงของประวัติศาสตร์สังคมในดินแดนไทย ไม่เรียงลำดับเส้นตรงบนลงล่างเป็นระเบียบอย่างนั้นเหมือนฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง

เป็นส่วนหนึ่งของอุษาคเนย์และโลก

นิธิ เอียวศรีวงศ์ บอกไว้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์แห่งชาติ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2549) ว่าประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ของผู้คนที่อยู่ในประเทศไทย แท้จริงแล้วก็เป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ออกจากประวัติศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Advertisement

ฉะนั้นประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย แม้ต้องมีศูนย์กลางของเรื่องราวคือผู้คนซึ่งกลายมาเป็น “คนไทย” ในชาติไทยปัจจุบัน แต่ควรดำเนินเรื่องภายในกรอบของประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่โยงใยทั้ง “คนไทย” ด้วยกันเอง และคนชาติอื่นๆ ในภูมิภาค (หรือแม้ในโลก) อย่างแยกออกจากกันไม่ได้

ประวัติศาสตร์แห่งชาติของโลกยุคปัจจุบัน ต้องไม่ทำให้เกิดสำนึกแบบ “บ้านนอก” (parochial) แต่ควรทำให้พลเมืองสำนึกถึงสถานะของชาติในโลกกว้างไปพร้อมกันด้วย

ยิ่งกว่านี้ประวัติศาสตร์ไทยที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับส่วนอื่นๆ ของภูมิภาคกับของโลกยังน่าจะเป็นจริงมากกว่า หรืออย่างน้อยก็ทำให้อธิบายอดีตได้สอดคล้องกับหลักฐานได้มากขึ้น

หัวข้อสำคัญที่ควรเป็นแกนกลางของประวัติศาสตร์แห่งชาติ อ.นิธิ บอกไว้มีดังนี้

(1) การตั้งถิ่นฐานของผู้คน นับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ถึงยุคประวัติศาสตร์ตอนต้น (2) การเข้ามาของอารยธรรมใหญ่ คือ อินเดียและจีน (3) ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในคริสต์ศตวรรษที่ 13 (4) ยุคสมัยของการค้า (คริสต์ศตวรรษที่ 15-17) (5) ประเทศไทยก่อนสมัยใหม่ (6) รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม (7) การปฏิวัติ 2475 และกำเนิดรัฐประชาชาติไทยในทางทฤษฎี (8) การปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516

ทักท้วงถกเถียงได้ไม่อั้น ถ้ามีคิดต่างจากนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image