คอลัมน์ ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน-บ้าน : สนามกอล์ฟ

เจอโรคเลื่อนอีกแล้ว กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

รัฐบาล คสช.โหมโรงซะใหญ่โต ไม่รู้ว่าต้นแรง-ปลายแผ่วหรือปล่าว เพราะล่าสุดเพิ่งเลื่อนการพิจารณาออกไปอีก 2 เดือนเต็ม ตามประสาคนคอยจับผิดมีข้อมูลออกมาว่า เลื่อนครั้งที่ 6 แล้วนะตัวเอง

ประเด็นอยู่ที่การเลื่อนครั้งที่ 6 ที่มีข้อสรุปเล็กๆ น้อยๆ ในการยกเว้นไม่เก็บภาษีสำหรับสนามกอล์ฟ

หยุดค่ะ หยุด อย่าเพิ่งมโน เหตุผลที่ สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ทั่นยกเว้นให้เพราะจัดหมวดหมู่ให้สนามกอล์ฟเป็นกีฬา ดังนั้น รัฐมีนโยบายส่งเสริมกีฬา จึงสมควรยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ

Advertisement

แนวทางนี้จะถูกต้องหรือถูกใจใครหรือไม่นั้น ขอละไว้ในฐานที่เข้าใจ วันนี้เรามาทำความรู้จักสนามกอล์ฟกันดีกว่า

มีคนบอกว่า norm หรือพื้นฐานความต้องการของคนตามธรรมชาติ คนระดับเศรษฐีมีความอยากเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ อยากเป็นเจ้าของสนามกอล์ฟ

แต่ทว่า หลังจากได้ครอบครองหรือได้เป็นเจ้าของสนามกอล์ฟแล้ว เศรษฐีหลายคนบอกว่าเป็นทุกขลาภแท้จริงหนอ

Advertisement

ยิ่งมาลงทุนทำสนามกอล์ฟในเมืองไทย โอ้โฮเฮะ ทุกขลาภคูณ 2 กันเลยทีเดียว เพราะเมืองไทยมีสนามกอล์ฟฟาดเข้าไปกว่า 200 สนาม บางจังหวัดชุมกว่ายุงอีกมั้ง (อันนี้เมาธ์มอยค่ะ)

ประเทศนี้สถิติข้อมูลสนามกอล์ฟถ้าอยากรู้ให้ไปหาที่กรมสรรพสามิต อ่านไม่ผิดแน่นวล กรมสรรพสามิตเป็นผู้จัดเก็บสถิติ เหตุผลเพราะจะต้องตามไปเก็บภาษีสรรพสามิตนั่นเอง

และภาษีสรรพสามิตเขามีชื่อเล่นอีกชื่อหนึ่งว่า “ภาษีบาป” หรือ sin tax

คำว่าภาษีบาปเป็นเรื่องขำๆ ที่ติดค้างในใจเจ้าของสนามกอล์ฟทุกยุคทุกสมัย เจอสื่อมวลชนมีการแอบตัดพ้อให้ฟังเป็นระยะๆ

อัตราจัดเก็บภาษีจากสนามกอล์ฟในปัจจุบัน มีสัก 2 รายการถ้าจำไม่ผิด 1.คือค่ากรีนฟี (green fee) 2.ค่าสมาชิกสนาม อัตราเพดาน 20% แต่เห็นบอกว่าเก็บจริง 10% ของรายได้

หน้าตากรีนฟีก็คือสนามหญ้าสีเขียวกว้างๆ สุดลูกหูลูกตา แต่เป็นสนามหญ้าที่สวยงาม มีส่วนผสมจากแฟร์เวย์ (ทางเดินจากการตีลูกกอล์ฟครั้งแรก จนไปถึงปลายทางที่จะต้องตีลูกให้ลงหลุม) กับกรีน หน้าตามักเป็นรูปทรงกลมฟรีฟอร์ม เวลานักกอล์ฟตีลูกจนมาถึงแท่นกรีน คำศัพท์เขาก็เลยเรียกว่า “ออน กรีน” นั่นไง

ส่วนค่าสมาชิกหรือเมมเบอร์ ประวัติศาสตร์กีฬากอล์ฟเขาเซตให้เป็นกีฬาไฮโซ เพราะฉะนั้น บางสนามเขาเป็น “สนามปิด” หมายถึงให้เล่นได้เฉพาะสมาชิก คนนอกหรือนักกอล์ฟวอล์กอินหมดสิทธิ

แต่จริงๆ แล้ว เหตุผลสำคัญคือระบบสมาชิกเพื่อให้เป็นแหล่งรายได้มาหล่อเลี้ยงสนาม เพราะอย่างที่บอกสนามกอล์ฟเมืองไทยเยอะเหลือเกิ๊น ทำให้ต้องห้ำหั่นราคากันมั่งเป็นทำ-มะ-ดา

อย่างไรก็ตาม เมมเบอร์สนามกอล์ฟถ้าเป็นสนามขั้นเทพ เขามีการซื้อขายเปลี่ยนมือ แถมราคาก็อัพได้อีกต่างหาก มีเรื่องเล่าบางสมาชิกซื้อมา 30 ปี 1 ล้าน เล่นไปเล่นมาเหลือ 25 ปี ขายต่อได้ 1.2 ล้าน เป็นต้น

อุ๊ย นอกเรื่องอีกแล้ว มาเข้าเรื่องกันดีกว่า ทางศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ รวบรวมสถิติสนามกอล์ฟ ณ ไตรมาส 3/60 มีทั้งหมด 258 สนาม เฉลี่ยสนามละ 364 ไร่

อันนี้เข้าใจว่าใน 258 สนาม คงมีคละกันตั้งแต่สนาม 9 หลุม, 18 หลุม, 27 หลุม ฯลฯ ซึ่งปกติ 1 กอล์ฟคอร์สคือ 9 หลุม เพราะฉะนั้นสนามกอล์ฟเขาจะคูณ 9 ไปเรื่อยๆ

เคยได้ยินมาว่า ไซซ์ 18 หลุมระดับมาตรฐานโลก เฉลี่ยใช้ที่ดิน 500 ไร่ เพราะต้องมีการประดิดประดอยสนามให้สวยงามและท้าทายในการเล่น เช่น มีทราย มีน้ำดัก ไม่ใช่มีแต่สนามหญ้า

ในอนาคตถ้ารัฐบาลเก็บภาษีที่ดินฯขึ้นมาจริงๆ ถ้าไม่ยกเว้นภาษีให้ก็คงต้องปิดสนามกอล์ฟกันเป็นแถว เพราะเป็นธุรกิจที่ใช้ที่ดินมหาศาล

อย่างไรก็ตาม รัฐไม่ได้ฉลาดน้อยหรอกนะ ยังยืนยันเก็บภาษีจากคลับเฮาส์ในสนามกอล์ฟ เพราะถือเป็นคนละเรื่องเดียวกันค่ะ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image