คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : ‘แพลตฟอร์ม’เกมของยักษ์

‘ธุรกิจต่างๆ มีเวลาไม่มากแล้วที่จะเกาะขบวนดิจิทัล’

อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ ไลน์ (ประเทศไทย) กล่าวบนเวทีเสวนา “Thailand ICT Management Forum 2018” ภายใต้แนวคิด Shaking Business Foundation:The effect of digital trend จัดโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ชัดเจนว่า องค์กรน้อยใหญ่ทั่วโลก และในบ้านเราตระหนักถึงการปรับเปลี่ยนองค์กรรองรับสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่ไม่เหมือนเดิม จากเทคโนโลยี “ดิจิทัล” เพราะรู้ดีว่าอยู่เฉยๆ ไม่รอดแน่ และแม่ทัพ “ไลน์” ประเทศไทย ช่วยตอกย้ำด้วยว่า “เหลือเวลาอีกไม่มากแล้ว”

ไม่เปลี่ยนไม่ได้-ช้าก็ไม่ได้ด้วย

Advertisement

“อริยะ” กล่าวว่า ธุรกิจต่างๆ ควรไปดูงานที่ประเทศจีน เพราะหลายสิ่งหลายอย่างกำลังเกิดขึ้นในจีนจากเดิมที่แพลตฟอร์มขนาดใหญ่มาจากฝั่งตะวันตก ปัจจุบันจีนเป็นตลาดที่น่าสนใจมาก และสามารถพัฒนาธุรกิจดิจิทัลให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว แม้แต่การจะใช้ “เงินสด” ในจีนวันนี้ยังลำบาก เพราะจีนกลายเป็นสังคมไร้เงินสดไปแล้ว

ทุกอย่างเกิดขึ้นภายในเวลาไม่กี่ปี

ทั้ง “แพลตฟอร์ม” ส่วนใหญ่ที่มียังเเตกไลน์ธุรกิจไปได้อย่างมากมาย เช่น แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “อาลีบาบา” มี “แอนท์ไฟแนนเชียล” ทำเรื่องการเงิน เป็นต้น

Advertisement

โลกปัจจุบันอยู่ในยุคของ “แพลตฟอร์ม” ไม่ใช่แค่ “เทกแพลตฟอร์ม” แต่กำลังขยับขยายไปในอุตสาหกรรมต่างๆ

พรมแดนของแต่ละธุรกิจเริ่มหายไป เพราะเทคโนโลยี “ดิจิทัล”

สำหรับ “ไลน์” (LINE) ใช้เวลาสร้าง 7 ปี ขยับขยายตนเองออกจากแอพพลิเคชั่น “แชต” ไปยัง “แพลตฟอร์ม”

จนทุกวันนี้กลายเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักที่ทรงพลังในตลาดบ้านเรา

ในประเทศไทยมีคนใช้อินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ 45 ล้านคน ใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตสูงถึง 234 นาที/วัน แต่ 76% ของการใช้อินเตอร์เน็ตของคนไทยอยู่ใน 3 แพลตฟอร์มหลักๆ คือ เฟซบุ๊ก, ยูทูบ และไลน์

“มือถือเป็นอนาคตใหม่ของอินเตอร์เน็ต แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังนิยมใช้บริการอินเตอร์เน็ตมากกว่าใช้เพื่อธุรกิจ ทั้งๆ ที่อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง และเป็นได้มากกว่าเรื่องความบันเทิง”

ใน 45 ล้านคนที่ใช้อินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ มี 41 ล้านคนใช้ “ไลน์” เป็นแอพพลิเคชั่นหลักในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งฐานคนใช้ไลน์ในไทย มากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากญี่ปุ่น

ด้วยจำนวนผู้ใช้มากกว่ากึ่งหนึ่งของประชากรในประเทศทำให้ “ไลน์” เร่งแตกธุรกิจไปทุกทิศทุกทางเพื่อเพิ่มแม่เหล็กดึงดูดคนใช้อยู่กับแพลตฟอร์มของตนเอง

ต้องยอมรับว่า ภาพใหญ่ของผู้เล่นในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีวันนี้ แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่

1.กลุ่มสตาร์ตอัพ เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดีย มีความคิดสร้างสรรค์ แต่ไม่มีเงิน 2.กลุ่มธุรกิจดั้งเดิมที่มีเงิน มีคน แต่ไม่มีไอเดีย และ 3.กลุ่มเทกแพลตฟอร์ม ที่มีทุกสิ่ง และมีในสิ่งที่กลุ่ม 1 และกลุ่ม 2 ไม่มี

การเข้ามาของธุรกิจแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศในไทยจะทำให้ปีนี้ ธุรกิจ “อีคอมเมิร์ซ” เติบโตอย่างมโหฬาร จากที่เคยเป็นม้านอกสายตา จะโตพรวดพราดเป็น 100%

“แพลตฟอร์มใหญ่ๆ เข้ามาบ้านเรากันหมดแล้ว โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซ เช่น เจดี, อาลีบาบา และอเมซอน ล้วนเป็นผู้เล่นที่น่ากลัวทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตเร็วมาก แต่อีคอมเมิร์ซไม่ได้สร้างโอกาสเท่านั้น เเต่นำสินค้าของประเทศต่างๆ เข้ามาด้วย จึงจะได้เห็นสินค้าในเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซที่ราคาถูก มาจากผู้ค้าในประเทศอื่น ขณะที่คนไทยขายเเพงกว่า เพราะรับสินค้าจากประเทศนั้นมาอีกที ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยอยู่ไม่ได้”

ในช่วงแรกอาจยังไม่เห็นผลชัดเจนนักจาก “อีคอมเมิร์ซ” เพราะเป็นการเปลี่ยนเเปลงพฤติกรรมคนอย่างช้าๆ จากที่เคยซื้อของในห้างสรรพสินค้ามาซื้อออนไลน์ แต่ถึงจุดหนึ่งจะเติบโตเร็วมาก

“ใครที่รอเพราะคิดว่าอีคอมเมิร์ซยังเล็ก มีมูลค่าตลาด 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนแค่ 4% ของมูลค่าตลาดค้าปลีก คุณคิดผิด ถ้าคุณไม่รีบเข้ามา คุณจะหมดโอกาส และตอนนี้ใกล้ถึงจุดนั้นเเล้ว”

การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ เป็นโอกาสของธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ด้วย เช่น “โลจิสติกส์” ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการดั้งเดิมและกลุ่มสตาร์ตอัพ เช่นกันกับธุรกิจ “ฟินเทค” ทั้งหลาย แต่เพราะกลุ่มธุรกิจสายพันธุ์ดิจิทัลที่เข้ามาต่างมีธุรกรรมทางการเงินของตนเองจึงเป็นสาเหตุให้ “แบงก์ไทย” ตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อรับมือ

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-วอลเลท) ประมาณ 16 ราย แต่เชื่อว่าภายใน 2-3 ปีจะเหลือผู้เล่น 2-3 รายที่อยู่ได้ ดังนั้นสิ่งที่แต่ละรายควรทำ คือการสร้างพันธมิตรและเน็ตเวิร์ก

“ธุรกิจเปย์เมนต์จะเป็นสนามรบดุเดือดในลำดับถัดไป สิ่งที่เราต้องเรียนรู้จากเทกคัมปะนีข้ามชาติ คือการให้ความสำคัญกับข้อมูลที่จะนำไปสู่การเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภค”

ทำไม “ดาต้า” หรือ “ข้อมูล” เปรียบได้กับ “ทอง” และเป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจต้องการเข้าถึง เพราะ “ข้อมูล” นำมาซึ่งความเข้าใจพฤติกรรม และความต้องการของผู้บริโภค หรือ “ลูกค้า” นั่นเอง

ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่การ “เก็บ” แต่ต้อง “นำมาใช้ด้วย” ซึ่งธุรกิจทั่วโลกที่มีข้อมูลจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่ยังไม่มีการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์

“สิ่งที่ธุรกิจจำเป็นต้องปรับ คือหาคนที่มีความรู้เรื่องดาต้ามาทำงานด้วย แม้ทุกวันนี้จำนวนนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลจะขาดแคลนมากทั่วโลก แต่ก็ไม่ได้ถึงกับหายากหรือผลิตได้ยากเหมือนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ เพราะพื้นฐานของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลมาจากวิชาสถิติ, คณิตศาสตร์ ทั้งผู้ที่เรียนด้านนี้ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย”

องค์กรธุรกิจอาจหันมาทำงาน หรือร่วมกับมหาวิทยาลัยเพื่อดึงคนเหล่านั้นมาทำงานด้วย ซึ่งภาครัฐเองก็ควรให้การสนับสนุนด้วย

นอกจากให้ความสำคัญกับข้อมูลเพื่อเข้าใจผู้บริโภคแล้ว ยังควรหมั่นคิดเพื่อหาทางพาองค์กรไปสู่การสร้างโอกาสใหม่ๆ ด้วย แม้จะเป็นโอกาสที่ยังมองเห็นไม่ชัดนัก “ทุกวันนี้เราอยู่ในยุคที่คอยให้ทุกอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วค่อยเดินหน้าไม่ได้ ดังนั้นแค่เห็นโอกาสสัก 70-80% ก็ถือว่าหรูมากแล้ว ส่วนที่เหลือค่อยเรียนรู้กันไป”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image