มหัศจรรย์การ์ตูน : เอาชนะความกลัวและอายอย่างไรดี

มีนักศึกษาหัวดีหลายคนที่ต้องพบจิตแพทย์เนื่องจากเครียดเพราะการเรียน หลายคนในกลุ่มนี้ไม่ได้เครียดเพราะเรียนหนักหรือเรียนไม่เก่งแต่เครียดเพราะ “กลัวว่าจะทำได้ไม่ดีพอ” เช่น ได้คะแนนไม่ดีอย่างที่คาดไว้ ทำรายงานได้ไม่ดีพอ เมื่อเจอนักศึกษากลุ่มนี้ก็มักจะถามกลับไปค่ะว่า “ดีพอต้องดีขนาดไหน เกรดเท่าไหร่” และ “ดีพอนี่เทียบกับใคร แล้วใครเป็นคนตัดสิน” เป็นคำถามที่ทุกคนตอบกลับได้เป็นอัตโนมัติว่า “ดีพอคือเกรดสูงๆ เมื่อเทียบกับเพื่อน” ซึ่งถ้าพิจารณาดีๆ แล้วหมายความว่าถ้าเขาไม่ได้เป็นที่ 1 ของคณะหรือทำข้อสอบไม่ได้ถูกต้องทุกข้อ ความคิดอัตโนมัติก็จะทำให้เขาวนเวียนอยู่ในความทุกข์ของการเป็นคนไม่สมบูรณ์แบบตามอุดมคติโดยอัตโนมัติเหมือนกัน

นักศึกษาหนุ่มคนหนึ่งผลการเรียนดีมากและคิดว่าต้องได้เกียรตินิยมแน่ๆ กลับมีความเครียดเพราะคิดอยู่เสมอว่าตัวเองไม่เก่งพอค่ะ เขารู้สึกโกรธที่ทุกครั้งที่เพื่อนบอกว่าเขาเก่งหรือบอกว่าเขาสามารถสอบผ่านได้สบายๆ เพราะเขาเชื่อว่าเขาสู้ใครไม่ได้แถมยังเชื่อว่าตัวเองต้องสอบตกแน่ๆ ทั้งที่คะแนนของเขาอยู่ในระดับท็อปเท็นมาตลอด เขากลัวว่าคะแนนจะไม่เป็นไปอย่างที่หวังค่ะแล้วความหวังของเขาก็ไม่ได้สอดคล้องกับความเป็นจริงสักนิดเพราะเขาหวังว่าตัวเองจะต้องทำได้ทุกอย่าง ต้องตอบข้อสอบถูกทุกข้อ ต้องเก่งกว่าเพื่อนในทุกวิชา ถ้าน้อยกว่านี้ก็จะกลัวขึ้นมาโดยอัตโนมัติว่าตัวเองจะล้มเหลว

“ผมบอกเลยว่าผมจะไม่อ่านหนังสือ ผมจะไม่เรียน ผมจะพิสูจน์ว่าผมโง่กว่าทุกคนแล้วทุกคนจะได้เชื่อผมว่าที่ผมพูดเป็นเรื่องจริง” เขาพูดแบบนี้ทุกการสอบค่ะแล้วก็ได้คะแนน

อันดับต้นๆ ของชั้นปีเสมอ แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้ทำให้ความกลัวของเขาลดลง เขายังเชื่อว่าผลสอบที่ผ่านมาเพราะโชคดีที่คนอื่นตอบผิดและความโชคดีนี้จะไม่มีในครั้งถัดไป กลายเป็นว่าเขาไม่สามารถหนีจากความกลัวที่จะไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองได้ แย่กว่านั้นคือ ไม่ยอมกินยาเสียอีกค่ะ ก็เลยไม่ทราบจะช่วยลดความกลัวตรงนี้ลงอย่างไรดี
พูดถึงความกลัวที่เจ้าตัวเชื่ออย่างเป็นจริงเป็นจังก็นึกถึงแอนิเมชั่น “March Comes in Like a Lion” (Sangatsu no Lion) ในตอนที่ 17-18 ของซีซั่นที่ 2 “Burnt Field” หรือทุ่งหญ้าที่ถูกไฟไหม้ ในตอนนี้กล่าวถึงการแข่งขันโชงิ (หมากรุกญี่ปุ่น) ของ

Advertisement

“ยานางิฮาระ ซาคุทาโร่” นักแข่งโชงิอายุมากที่สุดที่ยังแข่งอยู่ในวงการกับดาวรุ่งพุ่งแรง “ชิมาดะ ไค” ยานางิฮาระดำรงตำแหน่ง “คิโช” ซึ่งเป็นแชมป์ของการแข่งขันนี้ติดต่อกันมา 9 ครั้งแล้ว หากเขาชนะครั้งที่ 10 เขาจะได้ดำรงตำแหน่ง “คิโชตลอดกาล” ทำให้รู้สึกเครียดและกดดันมากเป็นพิเศษ ยานางิฮาระคิดย้อนไปถึงวันที่เพื่อนนักข่าวคนหนึ่งของเขาโดนปลดออกจากงานเพราะอายุมาก ตัวเขาเองแม้จะยังเป็นแชมป์รายการแข่งนี้อยู่แต่อายุและสุขภาพร่างกายก็แทบไม่อำนวยให้สามารถนั่งแข่งครั้งละหลายชั่วโมงได้ ทั้งปวดเข่า ปวดไหล่ หายใจไม่ออก

เขาเปรียบเทียบความแก่ชราของตัวเองเหมือนทุ่งหญ้าที่ถูกไฟไหม้จนเหลือแต่ขี้เถ้าและกลัวเหลือเกินว่าถ้าสักวันไม่สามารถแข่งโชงิต่อไปได้ ชีวิตจะเหลือคุณค่าอะไรอีก ระหว่างที่คิดจนเสียสมาธิการแข่งขันไปบางช่วง ยานางิฮาระก็กลับมาตั้งสติได้ เขาคิดว่าเป็นทุ่งหญ้าไหม้ไฟแล้วจะเป็นไรไป เมื่อเลือกที่จะหันหน้าเข้าสู้กับความกลัวตรงๆ จึงค่อยพบว่ามีความหวังอยู่ทุกที่เสมอเช่นเดียวต้นหญ้าต้นใหม่งอกขึ้นมาในทุ่งที่ถูกเผาไหม้

ความกลัวเป็นเรื่องห้ามได้ยากแต่ใช่ว่าจะจัดการไม่ได้ค่ะ ประเด็นสำคัญที่ทำให้เราควรจัดการกับความกลัวคือ เมื่อความรู้สึกนั้นทำให้เราหนีจากการเปิดตายอมรับความจริงหรือความหวัง นักศึกษาหนุ่มคนนี้จะกลัวไปเรื่อยๆ ก็ได้ เพราะถึงกลัวเขาก็ยังสอบได้คะแนนดีเหมือนเดิมแต่ความกลัวจะทำให้เขาไม่มีความสุขค่ะ ยานางิฮาระจะกลัวการพ่ายแพ้และต้องเกษียณตัวเองจากวงการโชงิก็ได้ แต่ความกลัวจะทำให้เขายอมจำนนต่อความแก่และโรคภัยไข้เจ็บจนอาจไม่สามารถแข่งต่อได้ ลองมาดูงานวิจัยโดยลิ เจียง จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอนในพิตส์บูร์กดีกว่าค่ะ

Advertisement

จากการวิจัยพบว่า วิธีจัดการกับความกลัวคือให้เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อมันไปเสีย แทนที่จะคิดว่า “เรากลัว” ก็ให้เปลี่ยนเป็น “เรามองเห็นคนคนหนึ่งกำลังกลัว” คือนำความรู้สึกนี้ออกไปให้ห่างจากตัวเราแล้วมองดูเสมือนเป็นผู้สังเกตการณ์แทนที่จะลงไปเล่นบทบาทเป็นบุคคลนั้นเสียเอง เขาทดลองด้วยการให้อาสาสมัครดูเหตุการณ์ที่น่าอายและน่ากลัว 3 เหตุการณ์แล้วลองให้มองเหตุการณ์นั้นจาก 2 สถานะ สถานะแรกให้คิดว่าเราเป็นตัวละครในเหตุการณ์นั้นจริงๆ เสมือนเราประสบกับตัวเอง ส่วนอีกสถานะให้คิดว่าเราพบเห็นเหตุการณ์เช่นนี้เกิดกับคนอื่นเบื้องหน้าเรา ซึ่งเราเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์เท่านั้น ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่คิดว่าตัวเองเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์จะเกิดความรู้สึกกลัวและอายต่อเหตุการณ์นั้นน้อยกว่า

ดังนั้น ถ้าสามารถควบคุมจินตนาการและถอยความคิดออกมาให้ห่างจากความกลัวเสมือนตัวเองเป็นเพียงผู้ชม เราก็จะรู้สึกทุกข์จากสิ่งนั้นน้อยลงค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image