คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : นักช้อปยุคไร้เงินสด

ไม่กี่วันก่อน “กรุ๊ปเอ็ม” บริษัทบริหารจัดการสื่อระดับโลกได้เปิดเผยรายงานฉบับใหม่ ชื่อ “State of Digital” ที่นำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการบริโภคสื่อของผู้บริโภค และแนวโน้มการลงทุนโฆษณาทั่วโลก โดยระบุว่าผู้บริโภคทั่วโลกในปี 2561 มีการใช้เวลาไปกับสื่อในแต่ละรูปแบบเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 9.73 ชม./วัน จาก 9.68 ชม./วัน ในปี 2560

แม้จะเพิ่มขึ้นไม่มากแต่ก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งยังมีการคาดการณ์ด้วยว่าในปีนี้ผู้บริโภคจะใช้เวลากับ “สื่อออนไลน์” มากกว่า “โทรทัศน์” เป็นครั้งแรกทั่วโลกอีกด้วย

โดยสื่อออนไลน์จะมีส่วนแบ่ง 38% หรือ 221 นาที/วัน ส่วนโทรทัศน์จะอยู่ที่ 37% หรือ 218 นาที/วัน ขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อวิทยุมีส่วนแบ่งเวลาในแต่ละวัน เท่ากับปีที่ผ่านมา คือ ที่ 7% หรือ 41 นาที/วัน และ 18% หรือ 104 นาที/วัน ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม การใช้เวลากับสื่อออนไลน์มากขึ้นของผู้บริโภคสนับสนุนการขยายตัวของธุรกิจ “อี-คอมเมิร์ซ” โดยข้อมูลด้านอี-คอมเมิร์ซในปี 2560 ที่ “กรุ๊ปเอ็ม” ได้รับมาจาก 35 ประเทศทั่วโลก เปิดเผยว่า การซื้อขายผ่าน “อี-คอมเมิร์ซ” มีมูลค่ารวม 2.105 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17% จากปีก่อนหน้า และคาดว่าในปีนี้มูลค่าดังกล่าวจะเพิ่มขึ้น 15% สู่ระดับ 2.442 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 10% ของมูลค่าธุรกิจค้าปลีกทั้งหมด

Advertisement

และเมื่อมีการตรวจสอบแนวโน้มการลงทุนโฆษณาผ่านโปรแกรมการจัดการอัตโนมัติ (programmatic automated) พบว่าในบรรดาประเทศที่มีการรายงานข้อมูล โดยเฉลี่ยแล้วมีการลงทุนในโฆษณาแบบออนไลน์ดิสเพลย์ผ่านโปรแกรมอัตโนมัติ 44% ในปี 2560 เทียบกับ 36% ในปี 2559 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 47% ในปี 2561

ขณะที่การลงทุนในโฆษณาแบบวิดีโอออนไลน์ผ่านโปรแกรมอัตโนมัติมีสัดส่วนน้อยกว่าที่ 22% ในปี 2560 เทียบกับ 17% ในปี 2559 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 24% ในปี 2561

ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของสื่อออนไลน์ และธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้อย่างชัดเจน ไม่เว้นแม้แต่ในบ้านเรา

Advertisement

จากการจัดทำผลสำรวจมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในปี 2560 ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA พบว่าเติบโตเพิ่มขึ้น 9.86% โดยมูลค่าอีคอมเมิร์ซประเภท B2C สูงถึง 7.03 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 37.91% และมีมูลค่าสูงที่สุดในอาเซียน

การสำรวจของ ETDA ในปีที่ผ่านมายังพบว่าพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ของคนไทยขึ้นมาติด 1 ใน 5 กิจกรรมยอดฮิตเป็นครั้งแรก แสดงให้เห็นว่าคนไทยยอมรับการซื้อขายผ่านอีคอมเมิร์ซมากขึ้น

ไม่ใช่แค่ผู้บริโภคในปัจจุบันจะหันมานิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายที่พึ่งพาเงินสดน้อยลงด้วย ซึ่งในจังหวะนี้ต้องยอมรับว่า คงไม่มีใครโดดเด่นไปกว่าชาวจีน

“อาลีเพย์” แพลตฟอร์มการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในเครือยักษ์อีคอมเมิร์ซจีน “อาลีบาบา” ที่ขยับขยายสยายปีกธุรกิจไปทั่วโลกรวมถึงในบ้านเรา ได้เปิดเผยยอดการใช้จ่ายเงินผ่านในต่างประเทศของผู้บริโภคชาวจีนในช่วงวันแรงงาน (วันที่ 29 เมษายน-1 พฤษภาคม 2561) ที่ผ่านมา โดยระบุการเร่งขยายพื้นที่การให้บริการของ “อาลีเพย์” ในหลายประเทศในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ยอดใช้จ่ายในต่างประเทศของชาวจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด

โดยเห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงวันแรงงานปีนี้ เทียบกับปีที่แล้วที่จำนวนธุรกรรมทางการเงินในร้านค้าในต่างประเทศปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 5 เท่า

ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียยังคงครอง 10 อันดับจุดหมายปลายทางที่มียอดธุรกรรมการเงินสูงสุดของผู้บริโภคชาวจีน โดย “ฮ่องกง” เป็นอันดับ 1 ตามด้วยประเทศไทยเป็นอันดับ 2 และเกาหลีใต้อันดับ 3

ขณะที่ “มาเลเซีย” แม้ร้านค้าต่างๆ จะเพิ่งเริ่มรับชำระเงินผ่าน “อาลีเพย์” เมื่อเดือน พ.ค.ปีที่แล้วก็สามารถขึ้นมาติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่มียอดธุรกรรมทางการเงินสูงสุดได้แล้ว (เข้ามาเป็นอันดับ 9 แทนที่ออสเตรเลียในปีที่แล้วที่ปีนี้ขึ้นมาอยู่ในอันดับ 7)

สำหรับประเทศแถบยุโรปและอเมริกาเหนือมีการเติบโตรวดเร็วที่สุด โดยหลายประเทศมียอดธุรกรรมเพิ่มมากกว่า 1,000% เช่น แคนาดาเพิ่มขึ้น 16 เท่า เนเธอร์แลนด์ 12 เท่า สาธารณรัฐเช็ก 11 เท่า เป็นต้น

หากพิจารณายอดใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนของคนจีนโดยรวมจะพบว่าเพิ่มขึ้นมากถึง 59% เป็น 7,540 บาท จากปีที่แล้วอยู่ที่ 4,730 บาท

โดยยอดใช้จ่ายเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ประเทศสเปน ที่ 39,000 บาท ตามมาด้วยประเทศฝรั่งเศสและอิตาลี ซึ่งประเทศในยุโรปครองสัดส่วนครึ่งหนึ่งของ 10 ประเทศที่มียอดใช้จ่ายต่อคนสูงสุด

ขณะที่ในประเทศไทย นักช้อปชาวจีนมียอดใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 5,610 บาท มากกว่าสิงคโปร์ และมาเลเซียที่อยู่ที่ 5,585 บาท และ 5,105 บาท ตามลำดับ

นอกจากนี้ “อาลีเพย์” ยังเปิดเผยด้วยว่า เกือบ 2 ใน 3 ของชาวจีนที่ใช้จ่ายเงินผ่านแอพพลิเคชั่น “อาลีเพย์” ในต่างประเทศ เป็น “ผู้หญิง” เป็นการตอกย้ำชัดเจนว่านอกจาก “ผู้หญิง” จะเป็นนักข้อปตัวยงแล้วยังปรับตัวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้อย่างรวดเร็ว และเชื่อว่า ไม่เฉพาะแต่ชาวจีน “ผู้หญิง” ทั่วโลกก็คงไม่ต่างกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image