ศิริพร พัชรวัฒน์ 25 ปี บนหน้า ปวศ. Microsoft ต้องวิ่งไปในสปีดเดียวกับองค์กร

เป็นผู้หญิงไทยคนแรกที่เข้าไปทำงานในบริษัท ไมโครซอฟท์ สำนักงานใหญ่ ที่เมืองเรดมอนด์ มลรัฐวอชิงตัน ในตำแหน่งนักพัฒนาธุรกิจ พร้อมกับการเปิดตลาด “ไมโครซอฟต์ เพรส” (Microsoft Press) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เติบโตไปพร้อมกับการสยายปีกขององค์กร จากยุคบุกเบิกตะลุยหิ้วกระเป๋าเอาหลักสูตรของไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ ความรู้พื้นฐานกุญแจสำคัญไขสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ นำการเปลี่ยนแปลงมาให้กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย

โดยเฉพาะที่อินเดีย ซึ่งความรู้ด้านไอทีคือ “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” นำพาประชากรจำนวนหนึ่งให้ก้าวพ้นความยากจน และนำพาประเทศไปสู่ธุรกิจเอาต์ซอร์ส ส่งออกบุคลากรด้านไอทีกระจายไปทั่วโลกในปัจจุบัน

วันนี้ชื่อของเธอ “ศิริพร พัชรวัฒน์” ผู้อำนวยการด้านนวัตกรรมการศึกษา บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กำลังจะได้รับการจารึกบนแท่งแก้วคริสตัล ที่กำแพงศูนย์ประชุมผู้บริหารใหญ่ ที่สำนักงานใหญ่ ในฐานะบุคลากรคุณภาพที่อยู่กับบริษัทมาเป็นเวลา 25 ปี และเป็นสุภาพสตรีคนแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Advertisement

ในวัยเยาว์ชีวิตไม่ได้แตกต่างจากเด็กอื่นๆ ศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ตั้งแต่เตรียมประถม 1 จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (สอบเทียบ) ก่อนจะบินไปเรียนไฮสกูลที่ประเทศสิงคโปร์

ไม่ได้มีเงินถุงเงินถัง ความที่คุณแม่มีอาชีพเป็นช่างตัดเสื้อ แทบทุกบาททุกสตางค์ตั้งแต่ไฮสกูลที่สิงคโปร์ กระทั่งสำเร็จปริญญาตรี-โท ด้านบริหารธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยซัฟฟอล์ก เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา ล้วนมาจากการทำงานหารายได้พิเศษ นับตั้งแต่เป็น “พี่เลี้ยง” ให้ลูกคุณน้าที่สิงคโปร์ แลกกับที่พักและค่าขนม

“เราต้องพิสูจน์ให้แม่เห็นว่าเราเป็นนักสู้ ดูแลตัวเองได้”

Advertisement

ศิริพรเล่าถึงความตั้งใจในด่านที่ 2 ที่จะขออนุญาตคุณแม่ไปศึกษาต่อที่อเมริกาขณะที่ใกล้จบไฮสกูล โดยขอรบกวนเพียงค่าเทอมๆ แรกเท่านั้น

คิดดังนั้นจึงเริ่มหาลูกค้าที่สิงคโปร์ เป็นครูสอนพิเศษ ขณะเดียวกันก็แอบสมัครงานเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารคนไทยที่คุณน้าเคยพาไป-ร้านซีฟู้ดมาร์เก็ต

“ตอนนั้นมีพ่อค้าเพชร ร้านอยู่ใกล้ๆ ร้านอาหาร มาขอให้ช่วยสอนภาษาไทย ไม่เคยสอนแต่ก็รับปากทันที ปรากฏว่าแป๊บเดียวก็ได้ค่าตั๋วเครื่องบิน ก่อนจะโทรไปกล่อมแม่อีกครั้ง บอกว่าไปแล้วถ้าไม่ได้งาน ยังไงก็ต้องกลับมา” (หัวเราะ)

หลังได้รับสถานะเป็นบัณฑิตหมาดๆ จากมหาวิทยาลัยซัฟฟอล์ก เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา เธอตกลงใจศึกษาต่อระดับปริญญาโททันทีที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน โดยได้ ทุน Fellowship Grant เป็นทุนเดียวที่นักศึกษาต่างชาติจะได้ เพราะทำงานเป็นผู้ช่วยครูสอนวิชาสถิติ

“ที่จบได้คิดอย่างเดียวคือ อยากให้ในบ้านมีคนที่จบปริญญาตรีให้คุณแม่ภูมิใจ เพราะในพี่้น้อง 5 คน ทุกคนจบพาณิชย์ (เป็นคนที่ 4) เลยตั้งเป้าในใจว่าฉันจะไม่แค่จบปริญญาตรี แต่จะจบปริญญาโทให้แม่ด้วย เก็บตังค์จากงานแบกถาดให้แม่บินไปร่วมงานรับปริญญาทั้ง 2 ครั้ง เป็นสิ่งที่ภูมิใจมาก”

“สิ่งที่คิดว่าทำให้เราอยู่รอดได้คือ

ความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ไม่รู้จบ

ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ค้นคว้า ฝึกฝนให้มีทักษะใหม่ๆ เสมอ

เพื่อทันความเปลี่ยนแปลง…

เราสามารถมีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงนั้นได้อย่าง “โปรแอ๊กทีฟ”

ไม่ใช่คนถูกกระทำ….”

เข้ามาทำงานกับไมโครซอฟท์ได้อย่างไร?

สมัครเข้ามาจากคำบอกเล่าของเพื่อนในวงการว่า ไมโครซอฟท์เปิดแผนกสิ่งพิมพ์ “ไมโครซอฟต์ เพรส” ซึ่งผลิตสื่อการเรียนการสอน ผลิตหนังสือที่สอนให้คนใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัท ทั้งในแง่ของการนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ผู้ใช้บริหารระบบ และผู้ใช้ทั่วไป และต้องการหาผู้จัดการที่พัฒนาธุรกิจนี้สำหรับภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เราได้รับการว่าจ้างเป็นพนักงานของสำนักงานใหญ่ แล้วให้ไปนั่งที่ประเทศไทย คือให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง แล้วเราก็บินไปพัฒนาธุรกิจในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดูแล 6 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย

ไมโครซอฟท์เป็นบริษัทในฝัน?

ต้องบอกว่า รูปแบบของงานเป็นงานในฝัน เพราะตอนที่เรียนปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจ ทำเคสสตั๊ดดี้ ตอนนั้นมีความฝันว่าอยากจบออกมาแล้วทำงานพัฒนาธุรกิจ ได้บินไปตามประเทศต่างๆ ไปเจรจาธุรกิจ สร้างธุรกิจ เพราะเราชอบใช้ภาษา มีความรู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถในการสื่อสารและการต่อรอง แต่ก็ไม่ง่าย เพราะสัมภาษณ์ถึง 7 ครั้ง ใช้เวลาถึง 7 เดือน คือเขาพอใจเราแล้ว แต่พอดีว่าช่วงนั้นกำลังจะหมดปีงบประมาณ ต้องรอปีงบประมาณใหม่ นัดกันว่าสิ้นเดือนตุลาคมจะติดต่อมาอีกครั้ง แต่ไม่ได้ติดต่อมา เราจึงเขียนจดหมายส่งแฟ็กซ์ไปตามเรื่อง คือคำว่า Tenacity แปลว่า “กัดไม่ปล่อย” เวลาสมัครงาน เราต้องทำให้คนจ้างงานเห็นว่าเราอยากได้งานนั้นจริงๆ เป็นงานที่มีความหมายกับเรามากๆ และเราคือคนที่ใช่ เขาจึงขอสัมภาษณ์ใหม่อีกรอบ และไปเริ่มงานวันที่ 16 ธันวาคม ปี 1993

ต้องมาเรียนรู้ระบบของไมโครซอฟท์?

ถูกต้องค่ะ และความที่เราทำงานที่นี่ คนจะนึกว่าเราเก่งด้านนี้ หนังสือที่เราขาย สอนการใช้ไมโครซอฟท์เวิร์ด เอกซ์เซล สเต็ปบายสเต็ป คุณภาพดีมาก (เน้นเสียง) ดิฉันเรียนรู้จากหนังสือที่ตัวเองขาย และมีแผ่นดิสเก็ตให้ฝึกได้ด้วย รู้สึกว่ามันดีจริงๆ แต่ก็เป็นคนที่ชอบสายนี้อยู่แล้ว แพสชั่นก็คือ การศึกษาและความรู้ทางด้านนี้มันช่วยให้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น

มีความคิดนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่?

ตั้งแต่เข้ามาในสายหนังสือนี้ เพราะพอได้ใช้แล้วรู้สึกว่าซอฟต์แวร์เหล่านี้ใช้ไม่ยาก และถ้าอยากใช้ให้มันมีประสิทธิภาพ ทำเพาเวอร์พอยต์ไม่ยากเลย และช่วยให้หางานทำได้แค่เรามีสกิลเหล่านี้ หรือคนที่เป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ พอใช้เป็นก็มีงานทำมีเงินใช้ ความเชื่อนี้ยิ่งตอกย้ำความมั่นใจมากขึ้นหลังจากที่ทำงานนี้ 4 ปีที่เมืองไทย ก็ย้ายไปสำนักงานใหญ่ แล้วอีกไม่กี่ปีก็กลับมาพัฒนาเปิดตลาดที่อินเดียกับภาคพื้นนั้น

ซึ่งที่อินเดียการเรียนรู้ไอทีคือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของคนที่นั่น นี่คือยุคก่อนที่ไอทีจะบูมออกมาเป็น “เอาต์ซอร์สซิ่ง” ปีนั้น ปี 1999 ที่กลัวกันว่าจะเกิดวายทูเค เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ คนตกงานกันมาก ตอนนั้นไปเปิดตลาดที่อินเดีย ทำโครงการหนังสือราคาถูก เพื่อที่คนทั่วไปสามารถซื้อได้ แม้กระทั่งนักแสดงยังมานั่งเรียนใช้ไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ ไมโครซอฟท์เวิร์ด เพาเวอร์พอยต์ เพราะการมีสกิลแบบนี้เขาสามารถมีอาชีพอื่นได้

ช่วงนั้นดิฉันหิ้วกระเป๋าไปพบกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในปัจจุบันอย่าง เอ็นไอไอที อินโฟ ซิส ฯลฯ เอาหลักสูตรที่มีไปขาย ตอนนั้นเขาเริ่มต้นแล้วรับสมัครพนักงานครั้งละ 500 คน ดิฉันแต่งตั้งผู้ค้าในรัฐต่างๆ ก็ต้องบินไปทั่วอินเดีย ไปดูการจัดวางสินค้าหน้าร้าน บินไปอบรมต่างๆ

ตลาดในไทยยังโตต่อไป?

ประเทศไทยไม่มีนโยบายประเทศที่จะไปทางนั้น แต่อินเดียมี แล้วแต่ละรัฐของอินเดียมีนโยบายสนับสนุนให้เกิดธุรกิจแบบนั้น อย่างที่บังกาลอร์ ที่ไฮเดอราบัด ซึ่งเป็น 2 ศูนย์ใหญ่ และที่กรุงนิวเดลี มีนโยบายช่วยเหลือบริษัทเอาต์ซอร์สด้านไอที คือแทนที่บริษัทต่างๆ จะต้องจ้างพนักงานเอง ก็ใช้บริษัทเอาต์ซอร์ส พอคนนี้ล้มป่วยก็เปลี่ยนเอาคนใหม่เข้ามาแทน แล้วก็มีธุรกิจรับจ้างเขียนซอฟต์แวร์ให้ทั่วโลก นี่เป็นโมเดลธุรกิจในยุคนั้นทำให้เขาโต แม้กระทั่งการอบรมพนักงานก่อนจะปล่อยไปทำงานหน้าที่ต่างๆ อบรมครั้งละ 500-600 คน แล้วหลังจากนั้นเขาส่งออกคนของเขาไปทั่วโลก แต่ไทยเราไม่ได้มีนโยบายนั้น ไทยเสียเปรียบที่เราพูดภาษาอังกฤษไม่ได้

ภาษาเป็นสิ่งสำคัญมาก?

ค่ะ ดิฉันพูดเรื่องนี้มานานแล้ว เรามีหนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ และแปลยาก ตอนนั้นต้องพูดเกลี้ยกล่อมให้สำนักพิมพ์แห่งหนึ่งซื้อลิขสิทธิ์ เพราะอาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งหลายบอกว่า ผมใช้หนังสือภาษาอังกฤษไม่ได้ ลูกศิษย์บอกว่าอ่านไม่ออก ถ้าแปลเป็นไทย ผมซื้อ

เชื่อไหมว่าเราไปเกลี้ยกล่อมนักลงทุนรายหนึ่ง บอกว่าเพื่อให้การศึกษาด้านไอทีของไทยก้าวหน้า คุณสนใจที่จะช่วยประเทศชาติไหม (หัวเราะ) จนเขาเปิดบริษัทและซื้อลิขสิทธิ์หนังสือ แปลออกมา 10 เล่มแรกก็เปิดตลาด ปรากฏว่าขายไม่ได้เลย เพราะว่าไม่มีคนซื้อ อาจารย์ไม่ได้เอาไปสอน และการแปลเป็นไทยก็อ่านไม่รู้เรื่อง เพราะมีศัพท์เฉพาะมากมาย ต้องบอกว่าตอนนั้นคนไทยไม่ได้ให้ความสนใจกับความรู้ทางด้านนี้ จะมีก็เป็นเด็กเก่งเท่านั้น มาสายวิศวะ

แล้วกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย?

ถ้าเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย จัดว่าภาครัฐมีวิสัยทัศน์และมีการวางแผนกลยุทธ์ของประเทศที่ดีมาก 21 ปีที่แล้วตอนที่ดิฉันไปพัฒนาธุรกิจที่สิงคโปร์ รัฐบาลบอกว่าประชาชนของเราจะต้องปรับปรุงความสามารถของตัวเอง ต้องหาสกิลใหม่ๆ ให้ตัวเอง แล้วรัฐบาลก็มีนโยบายจ่ายค่าเล่าเรียนให้ไปศึกษาด้านไอที บริษัททั้งหลายต้องให้โอกาสพนักงานไปเรียนด้านไอทีเพิ่ม รัฐบาลจ่ายให้ 70/30 บริษัทจ่าย 30 ซึ่งเราเพิ่งทำ 20 ปีให้หลัง

ปัจจุบันจึงมีโครงการสนับสนุนเยาวชนด้านไอที?

เป็นสิ่งที่ไมโครซอฟท์รวมทั้งผู้บริหารทุกคนมองว่ามีคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี จะด้วยฐานะการเงินหรืออยู่ในที่กันดารห่างไกล ณ เวลาหนึ่ง ตอนนั้นเขาบอกมี 1,000 ล้านคน เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว จึงตั้งโครงการ YouthSpark ขึ้นมาเพื่อลดช่องว่างทางเทคโนโลยี

ล่าสุด เราไปร่วมกับสมาคมที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่น Code.org เพื่อให้เกิดการเรียนการสอนเรื่องการเขียนโค้ดให้กับเด็กทุกคน เพราะมันเป็นที่มาของทักษะเรื่องตรรกะ แล้วตรงนี้มันถึงจะสร้างให้คนมีทักษะที่จะช่วยให้คนประสบความสำเร็จในอนาคต

มีจัดการแข่งขันด้านไอทีระดับโลก?

ค่ะ โดยส่วนตัวแต่ไหนแต่ไรมาที่จะทำคือ สร้างเสริมเขี้ยวเล็บให้กับเด็กที่เรียนด้านสเต็ม โดยไมโครซอฟท์มีหลักสูตรต่างๆ เราก็เอาไปให้ครูบาอาจารย์เพื่อให้เข้าถึงเนื้อหาสาระได้ง่าย และเมื่อเด็กมีความรู้แล้ว จะทำอย่างไรให้เด็กได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีประโยชน์กับคนอื่น สำนักงานใหญ่จึงจัดแข่งขันพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ชื่อว่า Imagine Cup ผสมผสานกับการทำงานเป็นทีม แล้วมาสมัครแข่งขัน

เราเอาโจทย์จากยูเอ็นดีพี ที่บอกว่าโลกของเรามีปัญหาที่รบกวนโลกอยู่ เช่น การขาดแคลนอาหาร มลภาวะทางอากาศทำให้โลกร้อน ปัญหาการรังแกเด็กหรือผู้หญิง ฯลฯ มาให้นักศึกษาจากทุกประเทศที่มีไมโครซอฟต์ทำซอฟต์แวร์เพื่อแก้ปัญหานี้ นอกจากได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังเป็นครั้งแรกที่เขาได้คิดถึงผู้อื่น แล้วใช้ซอฟต์แวร์เหล่านี้มาใช้แก้ไขปัญหา เราจัดมา 14 ปีแล้ว ผู้ชนะจากแต่ละประเทศจะมาแข่งขันกันในระดับโลกเหมือนโอลิมปิก เด็กไทยเราได้มา 4 เวิลด์คัพแล้ว

ความกดดันในการทำงานองค์กรระดับประเทศ?

ความกดดันมีแน่นอนค่ะ เพราะตอนนั้นเราพูดภาษาอังกฤษก็สำเนียงไม่ใช่ฝรั่ง เวลาเราพูดเขาก็จะคิ้วชนกัน แล้วไปถึงก็จะโดนลองของ ซึ่งน่าจะเป็นทุกที่ แรกๆ พอเราจะพูดอะไร จะมีคนมาตัดบทไปพูดเรื่องอื่น จึงต้องยกมือว่า เดี๋ยวก่อนฉันพูดช้า แต่ไม่ใช่ว่าฉันไม่มีความคิด ฉะนั้นกรุณาให้โอกาสฉันแสดงความคิดเห็นด้วย ทำอย่างนี้พอครั้งที่ 3 ยกมือปุ๊บ จะมีคนบอกเลยว่า ศิริพร-เชิญ (หัวเราะ)

สิ่งที่ทำให้รอดมาได้คือ การสร้างความเป็นมิตร ดิฉันต้องทำความรู้จักเป็นส่วนตัวกับทุกคน ให้เขาเข้าใจเรา โดยบอกว่าเราปรารถนาที่จะทำงานให้ดีที่สุด เป็นส่วนหนึ่งของทีม เรามีประสบการณ์ส่วนหนึ่ง แต่เรารู้ว่ามีสิ่งที่ต้องเรียนรู้อีกมาก จึงอยากมีโอกาสได้ร่วมทำงานเป็นส่วนหนึ่งของทีม

ทำงานกับไมโครซอฟต์มานานถึง 25 ปี มีเทคนิคอย่างไร?

การปรับตัวเรียนรู้และลองทำในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย ดิฉันได้รับคำแนะนำที่ดีๆ จากการได้รับคำปรึกษา วัฒนธรรมของไมโครซอฟท์อย่างหนึ่งคือ การเปิดใจและให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเจ้านายหรือลูกน้อง คือคุณสมบัติของคนทำงานที่บริษัทต้องการให้มี และการทำงานเป็นทีม รวมถึงการให้ฟีดแบ๊กซึ่งกันและกันไม่ว่าจะระดับไหนก็ตาม ดิฉันได้เรียนรู้หลายสิ่งจากการขอฟีดแบ๊ก

อย่างวันหนึ่งหลังจากจบการประชุมทีม ดิฉันเดินไปหาเจ้านายที่ห้อง ถามตรงๆ ว่ามีอะไรที่จะตำหนิไหมจากสิ่งที่ดิฉันพูดในห้องประชุม เธอทำท่าตกใจและถามว่าอะไรทำให้คิดอย่างนั้น ดิฉันบอกว่า ด้วยคำพูดและสีหน้าของคุณฉันรู้สึกว่าคุณต้องมีอะไรที่ติดค้างในใจ มาทราบในภายหลังจากปากของเธอว่า เธอได้เรียนรู้ว่าลักษณะท่าทางการพูด น้ำเสียงในกลุ่มคนฝรั่งกับคนเอเชียอ่านและแปลความแตกต่างกันมาก จากวันนั้นที่ดิฉันเข้าไปถามเธอตรงๆ เธอบอกว่า “คุณสอนให้ฉันมีเรดาร์ที่พิเศษขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง” และทำให้เราได้เรียนรู้ด้วยเช่นกัน แม้กระทั่งการเขียนอีเมล์ ที่นายแนะนำว่า ควรนำสิ่งที่อยากให้ทำขึ้นมาก่อน และตามด้วยเหตุผลเป็นข้อๆ อย่างสั้นๆ

สิ่งที่ได้เรียนรู้และนำมาใช้ในการทำงานทุกวันนี้?

สิ่งที่ได้เรียนรู้มา และนำกลับมาใช้ที่นี่ 11 ปี รวมถึงสอนน้องๆ ด้วย คือเรื่อง Divercity การเคารพความแตกต่างของคนในองค์กร ดิฉันเป็นผู้นำในเรื่อง Divercity ทำอย่างไรจะให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วม ในการประชุมทุกครั้งจะพยายามให้น้องทุกคนได้แสดงความคิดเห็น คือการที่เราเรียนรู้ว่าอะไรคือวัฒนธรรมในองค์กรนี้ และเราสามารถปฏิบัติและเสริมสร้างให้วัฒนธรรมนี้เกิดผลดี ไม่ว่าเราจะอยู่ตำแหน่งเล็กหรือใหญ่

สิ่งที่คิดว่าทำให้เราอยู่รอดได้คือ ความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ไม่รู้จบ ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ค้นคว้า ฝึกฝนให้มีทักษะใหม่ๆ เสมอเพื่อทันความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไร มันจะต้องมีเหตุผลที่ดีที่ทำให้ต้องเปลี่ยน เราเป็นเพียงติ่งเล็กในนั้น เราก็จะมองว่าเราสามารถจะมีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงนั้นอย่าง “โปรแอ๊กทีฟ” ได้อย่างไร ไม่ใช่คนถูกกระทำ เรามีส่วนร่วมในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ และช่วยให้คนอื่นปรับตัวได้เพื่อว่าองค์กรจะไม่ต้องเจอกับภาวะเกียร์ว่าง

นั่นคือความสามารถในปรับตัวและวิ่งไปในสปีดเดียวกับที่องค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image