ดีไซเนอร์เลือดใหม่ ‘สิรภพ เดชรักษา’ อีกก้าวแบรนด์คนไทยในนิวยอร์ก

เมื่อรู้สึกว่าความชอบเรื่อง “แฟชั่น” ของตัวเองไม่ได้เป็นแค่งานอดิเรก แต่เป็น “ความสุข” ที่จะใช้ชีวิตอยู่ด้วย จึงเป็นเหตุผลของจุดเริ่มต้นที่จะมุ่งมั่นบนเส้นทางดีไซเนอร์ จนเกิดเป็นแบรนด์ “Sirapop Dechraksa” ลักซูรี่แบรนด์ใหม่แกะกล่องของคนไทยในนิวยอร์ก

แก๊บ-สิรภพ เดชรักษา ผู้ก่อตั้งแบรนด์ในวัย 23 จับมือกับ Sofia Ortiga เพื่อนชาวโคลัมเบียที่มีพื้นฐานทางด้านการบริหารธุรกิจแฟชั่น ช่วยกันสร้างแบรนด์ให้เติบโตอย่างแข็งแรง

แบรนด์ Sirapop Dechraksa ชูจุดเด่นใน “Introduction Collection” คอลเล็กชั่นแรกที่จะเปิดตัวเร็วๆ นี้ เป็นการเลือกสรรทั้งการออกแบบและวัสดุให้มีความคลาสสิกคู่กับภาพลักษณ์ทันสมัยและวัสดุที่คัดสรรอย่างดี

สิรภพเป็นชาวเชียงใหม่ ลูกคนเล็กในครอบครัวของ พล.ต.อ.สุเทพ เดชรักษา อดีตรอง ผบ.ตร. และ ผศ.กษมา เดชรักษา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ และพี่ชาย 1 คน ที่เรียนจบด้านภาพยนตร์

Advertisement

เรียนมัธยมที่มงฟอร์ตวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ จน ม.5 สอบชิงทุน AFS ได้ไปเรียนต่อที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

จุดเริ่มต้นจากความชอบวาดรูป ครอบครัวจึงให้การสนับสนุนส่งเรียนพิเศษวาดภาพตั้งแต่เด็ก แม้ถูกคาดหวังให้เป็นสถาปนิก แต่เขาก็ยืนยันความชอบด้านแฟชั่นของตัวเอง

“ตอน ม.ปลายก็เรียนพิเศษสายวิทย์เยอะมาก แต่อยากเป็นดีไซเนอร์ สุดท้ายก็มาเย็บผ้า อาจเพราะที่บ้านไม่ได้บังคับและไม่เข้มงวด สิ่งที่คุณแม่สอนมาตลอดในการใช้ชีวิต คือต้องมีความรับผิดชอบ และให้คิดได้เอง”

Advertisement

จบปริญญาตรีเกียรตินิยม ศิลปศาสตร์ สาขาออกแบบแฟชั่น สถาบันพาร์สันส์ เดอะ นิวยอร์ก สคูล ออฟ ดีไซน์ โดยได้รับทุนเรียนดีทุกเทอม

ระหว่างเรียนยังได้รับทุนรางวัลการออกแบบแว่นตากันแดด ในโครงการร่วมของ Parsons, Bulgari และ Luxottica และเข้ารอบสุดท้ายเป็นตัวแทนของประเทศสหรัฐอเมริกาในการแข่งขัน Remix Fur Fashion Design Competition 2019

ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างแบรนด์ของตัวเองตั้งแต่ยังเรียนปี 2 ที่พาร์สันส์ สิรภพจึงสมัครฝึกงานเก็บประสบการณ์จากแบรนด์ต่างๆ ทุกปี คือ Sally Lapointe, Oscar de la Renta Furs และ Adam Lippes จนได้เป็นฟรีแลนซ์ดีไซเนอร์ให้ Sally Lapointe โชว์ในนิวยอร์กแฟชั่นวีก 2018

หลังเรียนจบเขาก็เดินหน้าตามความตั้งใจ คือสร้างแบรนด์ของตัวเองที่มีฐานการผลิตอยู่ในนิวยอร์ก โดยคอลเล็กชั่นแรกจะเปิดตัวในเดือนกันยายนนี้

สิรภพอธิบายว่า เขาจะหยิบจับเอาดีไซน์คลาสสิกมาออกแบบใหม่ให้เป็นดีไซน์ของปี 2018 ในกว่า 20 ลุค แต่จะขายเฉพาะแจ๊กเก็ต 9 แบบก่อน โดยมีเอกลักษณ์อยู่ที่การใช้เฟอร์และหนัง

“ทุกคนถามว่าไม่ทำงานให้มีประสบการณ์ก่อนเหรอ ผมคิดว่าประสบการณ์สำคัญ แต่ถ้ารู้ว่าเราชอบอะไรแล้วก็ต้องชัดเจนกับเป้าหมาย”

เป็นความชัดเจนในวัย 23 ของสิรภพ ที่รู้ว่าชีวิตต้องการอะไร และกำลังมุ่งหน้าไปทางไหน

– ก่อนจะเข้าเรียนออกแบบแฟชั่นที่พาร์สันเตรียมตัวนานไหม?

ช่วงเข้า ม.6 คุณครูที่แคลิฟอร์เนียสนับสนุนดี รู้ว่าต้องทำพอร์ตยังไง ผมเริ่มวาดรูปจริงจังตั้งแต่ ม.1 พอร์ตสะสมมาตั้งแต่ ม.ต้น มีงานสถาปัตย์ งานเพนท์ติ้ง งานด้านแฟชั่นก็มี แต่น้อย ตอนไปแคลิฟอร์เนียอยู่เมืองเล็กมาก โรงเรียนมีคนเรียนต่อมหา’ลัยแค่ 5% แต่โชคดีที่มีคุณครูดี เขาเห็นเรามีศักยภาพก็สนับสนุนและครอบครัวเราซัพพอร์ตได้

เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่งานอดิเรกแล้ว แต่มันคือตัวเรา เป็นสิ่งที่เราชอบ เรียนแล้วไม่เบื่อ เวลาติวหนังสือจะเบื่อ ผมเรียนสายวิทย์-คณิตมา ก็ติวฟิสิกส์เคมีชีวะ แต่พอไปติววาดรูปแล้วไม่เบื่อ วันนี้ลองวาดมือ พรุ่งนี้สเกตช์กระป๋องโค้ก อีกวันทำคอมโพส

– เข้าเรียนแล้วเป็นยังไง?

สนุกมากๆ ปีแรกไม่ได้แตะวิชาแฟชั่นเลย เรียนพื้นฐานทั้งหมด เช่น ดรออิ้ง ตัดไม้ ทำเพลง มีโปรเจ็กต์ให้ไปอัดเสียงที่ไทม์สแควร์ทุกวัน แล้วเอาเสียงมาตัดรวมกัน พอเข้าปี 2 เริ่มมีวิชาทางแฟชั่น เช่น แฟชั่นดรออิ้ง ออกแบบคอลเล็กชั่น มีคลาสเย็บผ้าอย่างจริงจัง ซึ่งเราไม่เคยทำมาก่อน ในพาร์สันจะมีการแข่งขันกันมาก เพราะทุกคนมาเพื่อโชว์ความสามารถ เราไปแล้วก็ต้องแข่งด้วย สนุกดี

วิธีการฝึกงานจะไม่เหมือนกันที่ไทย ผมฝึกงานตั้งแต่ขึ้นปี 2 กับแบรนด์เสื้อผ้าในนิวยอร์ก มหา’ลัยไม่ได้บังคับให้ไปฝึกงาน แต่ทุกคนในห้องฝึกงาน เราก็ต้องฝึกงาน ในเรซูเม่แต่ละคนจะมี 4-7 ที่ โชคดีที่ตอนแรกได้ฝึกงานกับบริษัทเล็ก ได้เห็นทั้งระบบการทำงาน จนคิดว่าสามารถเปิดแบรนด์ตัวเองได้ เห็นความสัมพันธ์ระหว่างดีไซเนอร์กับโรงงานที่ผลิตทุกอย่าง จนรู้ว่าของแต่ละอย่างทำยังไงมีแบบไหน ซื้อผ้าที่ไหน เย็บตัวอย่างที่ไหน

– ทำอะไรบ้างช่วงฝึกงาน?

ตอนฝึก Sally Lapointe ผมเย็บมือเก่งเขาก็ให้ทำตัวอย่างเสื้อยืดที่มีงานปักไว้เดินรันเวย์ ตอนหลังเราก็ผลิตให้เขาอีก 17 ตัว จ่ายเงินให้ต่างหาก หน้าที่เด็กฝึกงานที่โน่นถามว่าจำเป็นไหม ก็ไม่จำเป็น เป็นการย้ำให้แน่ใจว่างานถูกต้อง สั่งซิป 15 อัน ดีไซเนอร์ส่งอีเมล์ไปหาโรงงานขายซิปก็จบแล้ว แต่เด็กฝึกงานต้องเช็กอีกทีว่าสั่งซิป 15 อัน เป็นระบบที่มีมาเรื่อยๆ ทำให้ได้เรียนรู้เยอะ อยู่ที่วิธีคิดว่าเปิดใจขนาดไหน ถ้าคิดว่ามาแล้วได้เรียนรู้แค่นี้ก็เสียเวลา แต่ถ้าคิดว่าเป็นสิ่งที่ช่วยให้เรารู้ว่าต้องซื้อซิปที่นี่ เย็บเสื้อโรงงานนี้ มีอยู่ที่หนึ่งผมฝึกงานนานเกือบปี เวลามีประชุมเขาก็ให้ไปด้วย คล้ายเป็นพนักงาน ได้เรียนรู้เยอะมาก

หรือที่แบรนด์ Oscar de la Renta บริษัทใหญ่แยกแผนกต่างๆ ผมได้ฝึกในแผนกเฟอร์ ช่วยดีไซน์ ทำตัวอย่าง ข้อดีคือจะเห็นแผนกต่างๆ ได้มาอยู่แผนกเฟอร์ที่ทำเฟอร์ทุกคอลเล็กชั่น มีช่างของตัวเอง ได้รู้ว่าจะทำงานกับเฟอร์ยังไง เฟอร์หนังแบบนี้เอามาจากไหน ย้อมที่ไหน

– เรียนจบมาก็ทำแบรนด์ของตัวเอง

กำลังทำอีคอมเมิร์ซอยู่ เตรียมปล่อยเดือนกันยายนนี้ มีพาร์ตเนอร์ธุรกิจทำมาร์เก็ตติ้ง-พีอาร์ ผมมีหน้าที่ดีไซน์ ซึ่งผมชอบความลักซูรี่ ทำเฟอร์ หนัง แคชเมียร์ วัสดุที่มีราคาหน่อย ข้อแตกต่างคือเวลาพูดถึงดีไซเนอร์หน้าใหม่มักจะเห็นงานที่เทรนดี้มาก แต่แบรนด์เราเป็น Future Heritage นำสิ่งที่เคยมีในอุตสาหกรรมนี้กลับมาทำให้เป็นดีไซน์ใหม่ผ่านยุคของเรา ทั้งเรื่องคุณภาพ ฟังก์ชั่น ดีไซน์ เตรียมไว้ 20 ลุค แต่จะขายเฉพาะแจ๊กเก็ตก่อน 9 แบบ มีเฟอร์ มีเสื้อหนัง

คนถามว่าผู้หญิงที่สวมชุดของ SIRAPOP เป็นยังไง เราไม่ได้คิดว่าต้องเป็นแบบไหน จะเปิดตัวด้วยเซตภาพผู้หญิงร้องไห้ในห้องน้ำ เป็นการอธิบายคำว่า “Strong Woman” ของเรา เวลาร้องไห้ในห้องน้ำจะมีโมเมนต์ที่ “ฮึบ” ขึ้นมา การโชว์ความอ่อนแอก็คือความเข้มแข็งด้วย ไม่จำเป็นว่าคุณทำงานอะไรสูงเตี้ยผอมอ้วนขาวดำ คุณใส่เสื้อแล้วมีความสุขเมื่อใส่เข้าไป ไม่ใช่แค่เรื่องดีไซน์

เราอยากพัฒนาความสัมพันธ์กับลูกค้า ถ้ามีคนซื้อเสื้อเฟอร์เรา จนวันหนึ่งหลานเขาเรียนจบแล้วอยากให้ดัดแปลงเสื้อตัวเดิมที่ซื้อเพื่อให้หลานใส่ เราก็จะทำให้

– คอลเล็กชั่นแรกมีแรงบันดาลใจจากไหน?

ผมคุยกับเพื่อนว่าคือ “Good Design” เป็นคำอธิบายว่าดีไซน์ที่ดีคืออะไร สำหรับผมดีไซน์ที่ดีคือไม่ตกยุค ใส่เมื่อไรก็ได้ แต่ก็ใส่อะไรที่เป็นเราเข้าไปเช่นเท็กเจอร์ใหม่ๆ สีใหม่ๆ เฟอร์ที่เอามาจับคู่กับผ้าชนิดนี้ แต่ดีไซน์เป็นแบบเบสิก

คอลเล็กชั่นแรกเหมือนการเปิดประตู นี่คือสิ่งแรกที่คุณเห็นเรา แล้วจะคาดเดาสิ่งที่จะเห็นต่อไปในอนาคตได้ ผมรู้สึกว่าคอลเล็กชั่นแรกสมดุลมาก มีทุกอย่างให้เห็น ไม่เหมือนงานของดีไซเนอร์รุ่นใหม่ แต่เหมือนงานเก่าที่หยิบขึ้นมาทำใหม่ในเวอร์ชั่น 2018

– ทำไมถึงต้องเป็นหนังสัตว์-เฟอร์?

ผมคิดว่ามนุษย์มีชีวิตรอดมาทุกวันนี้ก็ใส่เฟอร์มาตั้งแต่ 2000BC เป็นการกลับสู่จุดเริ่มต้น แม้จะมีกระแสว่าคนเลิกใช้เฟอร์ แต่ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ลักซูรี่มาก คุณจะวีแกนก็ทำไป แต่การใช้เฟอร์เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ลูกค้าและนำเสนอความเป็นตัวเราได้ดีที่สุด

เฟอร์ที่ใช้ตอบได้หมดว่าเอามาจากไหน ไม่ใช้ว่าขับรถไปเจอกระรอกแล้วจะฆ่าเอามาทำผ้าพันคอ เฟอร์จริงรักษาสิ่งแวดล้อมมากกว่าเฟอร์ปลอม ทำให้ระบบนิเวศหมุน เป็นอะไรที่ยั่งยืน อาจผิดศีลธรรม แต่ในระยะยาวจะช่วยโลกมากกว่าเฟอร์ปลอมที่ใช้พลาสติกผลิต

เฟอร์ที่ใช้มาจากฟาร์ม มีบริษัทชื่อซาก้าเฟอร์เป็นผู้ดูแลการประมูล กำหนดราคาเฟอร์ อย่างขนของจิ้งจอกจะมีหลายพันธุ์หลายสี ตัวหนึ่งตก 9 พันบาท ถ้าเสื้อต่อลายแบบเฟนดิ เย็บทีละชิ้นก็จะใช้หลายชิ้น โรงงานเฟอร์ที่ผมใช้เป็นโรงงานใหญ่ที่สุดในอเมริกาเหนือ เป็นที่เดียวกันกับที่หลายๆ แบรนด์ดังใช้ ราคาจึงสูงเพราะคุณภาพดีมาก

– ดีไซน์เน้นความคลาสสิกมีแรงบันดาลใจจากดีไซเนอร์คนไหนไหม?

ชอบทุกคน อย่าง Cristobal Balenciaga ชอบในยุคก่อนที่ดังจากการทำเสื้อเปิดจิวเวลรี่ ดีไซน์ชุดราตรีจะมีวอลุ่ม เสื้อคอต้องเปิดเพื่อโชว์จิวเวลรี่ แต่ Balenciaga สมัยนี้ก็จะเป็นอีกแบบ หรือ Giorgio Armani เสื้อสวยทุกคอลเล็กชั่นและขายได้ อย่าง Hermes ก็เป็นลักซูรี่ ดีไซเนอร์ที่ชอบจริงๆ ไม่มี แต่ชอบความคลาสสิกของทุกแบรนด์

– สวนกระแสไหม ขณะที่แบรนด์ดังมุ่งมาทางเทรนดี้เพื่อให้ขายได้?

ก็สวนกระแส แต่วัฒนธรรมคนไทยเวลามองแฟชั่นจะต้องใส่อะไร “เสียงดังๆ” โชว์ว่าฉันใส่ Balenciaga ที่โน่นจะมีทุกอย่าง มีแบรนด์ที่เป็นตัวเองแล้วยังมีลูกค้าอยู่ ซึ่งมองว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มนี้ แต่ถ้ากลับมาทำที่นี่ก็ต้องเปลี่ยนทุกอย่างใหม่หมด เพราะวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน ทั้งสภาพอากาศ การช้อปปิ้งของคน ราคา ผมชอบเฟอร์ชอบหนังเลยทำที่นิวยอร์กดีกว่า

– มองตลาดประเทศไทยบ้างไหม?

ไม่ได้มองเลย เพราะดีไซน์ที่ทำมันจำกัดมาก และระบบแฟชั่นในไทยก็ไม่เหมือนกัน ที่นิวยอร์กจะมีห้างอย่างบาร์นีส์ ซื้อขายสินค้าแฟชั่น เช่นแบรนด์เปิดตัวในนิวยอร์กแฟชั่นวีก เสร็จแล้วจะมีมาร์เก็ตวีก ช็อปต่างๆ จะไปดูที่สตูดิโอแล้วเลือกว่าเอาตัวไหน ดีไซเนอร์ก็ขายราคาส่ง แต่เมืองไทยไม่มี ดีไซเนอร์ต้องมีหน้าร้านตัวเอง

ถ้ามีวัฒนธรรมแบบนี้ในเมืองไทย อาจเป็นแนวทางซัพพอร์ตดีไซเนอร์ไทยได้มากขึ้น ให้ดีไซเนอร์หน้าใหม่ไปเช่าพื้นที่ขายในห้างมันไม่เมกเซนส์

ผมจะมีมีตติ้งกับบาร์นีส์ ข้อดีคือมีความแน่นอนว่าจะขายได้ แต่ข้อเสียคือเราต้องถูกผูกมัด เหมือนเขาบีบคอเราอยู่ เขาบอกจะซื้อทุกคอลเล็กชั่น แต่วันหนึ่งถ้าเขาไม่ชอบ ไม่ซื้อแล้วก็ขายไม่ได้

เป้าหมายของเราอยากได้ลูกค้ารายคนที่มีความสัมพันธ์กับแบรนด์ อีคอมเมิร์ซทำเป็นพรีออเดอร์สั่งตัดทางออนไลน์ได้ ถ้าอยู่นิวยอร์กก็เชิญมาตัดที่โรงงานได้เลย เอาวัฒนธรรมสมัยก่อนมาใช้ เพราะผมรู้สึกว่าแฟชั่นช่วงนี้เทรนดี้มาก อุตสาหกรรมแฟชั่นเปลี่ยนตลอดเวลาเป็นวงจรเวียนมา แต่ต้องมีแบรนด์แบบเราอยู่ด้วย เป็นงานคลาสสิกที่อาจไม่ได้อยู่ในสปอร์ตไลต์ แต่ต้องมีอยู่ และมีคนที่เชื่อในของแบบนี้ ซื้อของแบบนี้

“ทุกคนถามว่าไม่ทำงานให้มีประสบการณ์ก่อนเหรอ ผมคิดว่าประสบการณ์สำคัญ แต่ถ้ารู้ว่าเราชอบอะไรแล้วก็ต้องชัดเจนกับเป้าหมาย”

– ครอบครัวให้การสนับสนุน?

เขาเข้าใจ รู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่รู้ว่าชอบอะไรตั้งแต่อยู่มหา’ลัย คอลเล็กชั่นงานจบผมทำให้พ่อตอนเขาเกษียณด้วย โดยได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องแบบตำรวจ เป็นคอลเล็กชั่นเฟอร์ เและมีหมวกหนังจระเข้จริงด้วย หุ้นส่วนผมก็บอกว่ามันมีศักยภาพจะต่อยอดเป็นธุรกิจได้

– เป็นความฝันของดีไซเนอร์เลยไหมที่ฝันจะมีแบรนด์ของตัวเอง?

คิดว่าไม่นะ แล้วแต่คน ผมทำเพราะว่าชอบทำธุรกิจ ทุกคนถามว่าไม่ทำงานให้มีประสบการณ์ก่อนเหรอ ผมคิดว่าประสบการณ์สำคัญ แต่ถ้ารู้ว่าเราชอบอะไรแล้วก็ต้องชัดเจนกับเป้าหมาย ดีที่ผมมีเพื่อนคอยสนับสนุน และคิดว่ามีความรู้ระดับหนึ่งที่พร้อมจะจัดการมันได้

– คอลเล็กชั่นที่ออกแบบใส่ในชีวิตประจำวันได้ไหม?

ใส่ได้จริงครับ จะเน้นเป็นเสื้อนอกมีเฟอร์ที่เอาออกได้ แต่ถ้าเทียบราคาไทยแล้วแพงเพราะค่าตัดเย็บที่โน่นแพงมาก ค่าเย็บแจ๊กเก็ตตัวหนึ่งก็ 20,000 บาทแล้ว เสื้อหนังแต่งเฟอร์ตั้งราคาไว้ 5,000 เหรียญ ข้อดีคือเราไม่ต้องขายเยอะ เป็นสินค้าที่มีกลุ่มเฉพาะ

– ตอนนี้รอดูกระแสตอบรับหลังเปิดตัว?

ถ้ากระแสตอบรับดีก็จะเอาเงินมาทำต่อ (หัวเราะ) อย่างแบรนด์ไทยคนติดตามตัวดีไซเนอร์มากกว่าแบรนด์ เป็นแนวทางว่าคนที่ใส่เสื้อผ้าเขาเป็นใคร คนกลุ่มไหน ซึ่งผมคิดว่าเข้ากับวัฒนธรรมเมืองไทยสมัยนี้ แต่แบรนด์เรามองเรื่องดีไซน์และความสัมพันธ์กับลูกค้ามากกว่า ผมไม่ได้กำหนดตายตัวว่าผู้หญิงที่ใส่ SIRAPOP คือใคร แต่งานเราต้องเลือกดีที่สุด ซิปนำเข้าจากอิตาลี เย็บด้วยซิลค์ 100% หนังทำจากทิเบต เฟอร์ย้อมมือนำเข้าจากฟินแลนด์

ดีไซเนอร์ไทยจะทำซ้ำๆ กันเพราะขายได้ ไม่ค่อยมีคนไทยทำงานแบบผม สมัยเรียนก็ไม่มี เพื่อนจะแซวว่าความเป็นตัวเราคือเฟอร์ อาจบันดาลใจให้ใครทำงานของตัวเอง มีทางต่อยอดเป็นธุรกิจแล้วมีกลุ่มลูกค้าของตัวเอง คนจะได้เห็นว่าดีไซเนอร์ไทยทำได้หลายแบบ ไม่ใช่มีแต่แบบสวยเวอร์ เซ็กซี่ พาสเทล เราทำเสื้อนอกได้ ชุดราตรีได้ และเป็นคนรุ่นใหม่ด้วย

– ก้าวต่อไปในแบรนด์คาดหวังอะไร?

อยากขายให้ได้เยอะๆ (หัวเราะ) ถ้ามีโอกาสก็อยากกลับมา อยากซัพพอร์ตช่างฝีมือที่นี่ด้วย เราคงไม่หยิบผ้าไทยมาทำด้วย เราไม่ใช่สายผ้าไทยแต่ถ้ามีโอกาสก็อยากจะหยิบเฟอร์มาทำกับผ้าไทยด้วย แต่ฝีมือคนไทยสู้เขาได้เลย อย่างเครื่องหนัง เครื่องเงิน จิวเวลรี่ ต่อไปถ้าแบรนด์ขยายขึ้นก็อยากทำรองเท้า เครื่องประดับ กระเป๋า และอยากกลับมาร่วมงานกับโรงงานที่ไทยด้วย

– มองวงการแฟชั่นไทยน่าจะปรับตัวไปทางไหน

น่าจะมีช่องทางแสดงผลงานของดีไซเนอร์ไทย คนที่นี่อาจยังไม่เห็นช่องทางเอาเสื้อไปขายที่อื่น ถ้ามีคนทำให้ดีไซเนอร์ไทยออกไปให้คนทั่วโลกเห็นจะดีมาก งานดีไซน์กับคุณภาพเราสู้เขาได้เลย ถ้ามีโอกาสเอาแบรนด์ไทยไปร่วมโชว์รูมที่ฝรั่งเศส ไม่ต้องแบรนด์ดัง เป็นคนรุ่นใหม่ที่ขายในอินสตาแกรมก็ได้ ให้คนมาเห็น

ผมอยู่โน่นจะรู้ว่าระบบเป็นยังไง แต่คนที่เพิ่งจบในไทยยังไม่รู้ ถ้ามีคนช่วยทำให้แบรนด์ไประดับสากลน่าจะดี จะสร้างเงินเข้าประเทศ และซัพพอร์ตดีไซเนอร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image