กวิน ว่องกุศลกิจ เจาะลึกมุมมองธุรกิจ “โคเวิร์กกิ้งสเปซ” จาก “ออฟฟิศ” สู่ ชุมชน “คนสร้างสรรค์”

นักบริหารหนุ่มวัย 36 ปี หนึ่งในผู้บุกเบิกธุรกิจ “โคเวิร์กกิ้งสเปซ” ในยุคที่หลายคนในวงการยังไม่รู้จัก เนรมิตพื้นที่ออฟฟิศให้เช่า เป็นพื้นที่สร้างสรรค์และสร้างแรงบันดาลใจของคนทำงาน

“การที่ต้องลงทุนในอะไรใหม่ๆ มันยากมาก เพราะเราทำในสิ่งที่มันไม่มีอยู่ในตลาด แล้วไม่รู้ว่ามันจะประสบความสำเร็จหรือเปล่า”

“กวิน ว่องกุศลกิจ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฮอริเทจ เอสเตทส์ จำกัด เปิดใจถึงการเริ่มต้นทำธุรกิจโคเวิร์กกิ้งสเปซ (Co-Working Space)

ถึงว่ามันจะไม่ง่ายในการบุกเบิกธุรกิจใหม่ แต่วันนี้ “โกลว์ฟิช (Glowfish)” ออฟฟิศแบบโคเวิร์กกิ้งสเปซของ กวิน นับว่าเป็นหนึ่งในธุรกิจใหม่ที่ประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม

Advertisement
บรรยากาศทางเข้าโกลว์ฟิช มีสัญลักษณ์รูปปลา

กวิน เกิดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2525 เป็นบุตรชายของ “อิสระ ว่องกุศลกิจ” ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล กับ เจิดจันทร์ เหล่าวานิช ตั้งแต่เด็กเขาได้เห็นการทำธุรกิจมาโดยตลอด ทำให้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่

“ทุกคนในครอบครัวทำธุรกิจ ตั้งแต่เกิดก็เห็นพ่อแม่เป็นผู้ประกอบการ ปีที่ผมเกิดเป็นปีที่คุณพ่อกับคุณสุพล วัธนเวคิน เริ่มทำดิเอราวัณกรุ๊ป ดังนั้น ในวัยเด็กของผมจะเห็นการทำธุรกิจเกี่ยวกับโรงแรมและมิตรผลมาโดยตลอด ส่วนคุณแม่เป็นโปรเฟสชันแนล อินทีเรีย ดีไซเนอร์ ซึ่งทั้งคู่มีเวลาไม่เยอะแต่ก็เลี้ยงลูกแบบใส่ใจ เช่น เวลาเลิกเรียนก็จะให้มาวิ่งเล่นที่ออฟฟิศ อย่างน้อยลูกก็อยู่ใกล้ๆ”

นอกจากนี้ ยังมี คุณตาเป็นแรงบันดาลใจ เพราะท่านเป็นคนให้คำแนะนำว่า “มาทำธุรกิจดีกว่า”

Advertisement

ถึงแม้จะมี “เป้าหมาย” และความฝันว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจ แต่เมื่อต้องเลือกสายการเรียน กวิน เลือกเรียนปริญญาตรี ด้านรัฐศาสตร์ เอกประวัติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

“เพราะสนใจประวัติศาสตร์ สนใจเรื่องราวของทุกอย่าง คิดว่าเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ และรู้สึกชอบ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการค้าขายในช่วงประมาณ 400 ปีมานี้ ผมว่าเป็นช่วงที่เข้มข้นน่าสนใจ มีพัฒนาการทางการค้าทั้งของคนและสินค้า ยังเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี แต่พอเรียนจบไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับมัน เพราะไม่ได้อยากเป็นนักประวัติศาสตร์ ไม่ได้อยากสอนหนังสือ เลยตัดสินใจเรียนต่อด้านไฟแนนซ์ เพราะคิดว่าเป็นศาสตร์ที่ใช้ได้กับทุกอย่าง”

หลังจบปริญญาโท สาขาการเงิน Master of Business (Finance) จาก ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เขาได้เริ่มงานในวงการไฟแนนซ์ จากนั้น 2 ปีก็ออกมาทำธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ กับเพื่อน นอกจากนี้ ยังได้บุกเบิกธุรกิจส่วนตัวและสานต่อธุรกิจครอบครัวหลายอย่างด้วยกัน

ปัจจุบัน กวิน ในวัย 36 ปี ดำรงตำแหน่งประธานนักธุรกิจรุ่นใหม่ หรือ YEC กรุงเทพฯ รุ่นที่ 2 ปี 60 และเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท เฮอริเทจ เอสเตทส์ จำกัด ซึ่งมีธุรกิจในมือ 3 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจโรงแรมแอดลิบ (Ad Lib) กลุ่มธุรกิจร้านอาหารคัปป้าเดลิ (Kuppadeli) และ โกลว์ฟิช (Glowfish)

“ที่แม้จะเป็นธุรกิจใหม่ เพิ่งแจ้งเกิดได้เพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมาแต่ “โกลว์ฟิช” ก็ได้รับความสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีครีเอทีฟหรือความสร้างสรรค์”

ที่บ้านกดดันให้ทำธุรกิจหรือเปล่า?

ไม่เลยครับ แล้วก็ไม่บังคับว่าต้องทำธุรกิจของที่บ้าน คือจะออกไปทำเองก็ได้ ผมเองก็ได้เริ่มธุรกิจของตัวเองไปหลายอย่าง เพราะเห็นว่าที่บ้านก็มีคนเก่งทำงานกันอยู่แล้ว เราน่าจะไปหาอะไรทำข้างนอกดีกว่า แต่ก็มีช่วยที่บ้านบ้าง

ซึ่งการทำธุรกิจของตัวเองก็มีที่ไม่ประสบความสำเร็จ ล้มเหลวมา 2 ครั้ง ส่วนครั้งที่ 3 มีโอกาสที่เหมือนไม่ใช่โอกาสด้วยซ้ำ คือคุณตาที่เลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เด็กท่านอายุประมาณ 84 ปี แล้วและมีธุรกิจที่ทำต่อไม่ไหวคือ ธุรกิจออฟฟิศบิวดิ้งหรือพื้นที่สำนักงานให้เช่า ตอนนั้นเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งพอดี มีบริษัทที่เจ๊งเยอะ คุณตาท่านก็อายุมากแล้วไม่ควรจะต้องมาทำงานแบบนี้ ซึ่งเราก็ไม่ได้อยากจะทำเลย แต่อยากช่วยคุณตา เลยใช้ความรู้ด้านการเงินไปรีไฟแนนซ์เอาตึกนี้มาอยู่ในชื่อของเราแล้วเราก็บริหารงานเองโดยกู้ยืมเงินจากธนาคาร

หลังจากนั้นก็ประสบความสำเร็จ?

ไม่เลยครับจริงๆ การทำออฟฟิศบิวดิ้งเป็นธุรกิจที่เซฟมาก แต่ปี 50 เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ลูกค้าในตึกอยู่ไม่ไหวกันเยอะ มีลูกค้ามาบอกเราว่าฉันอยู่ไม่ได้แล้ว ขอลดค่าเช่าครึ่งหนึ่งหรือขอไม่จ่ายค่าเช่า ผมก็บอกว่าถ้าไม่จ่ายค่าเช่าผมก็ตายเหมือนกัน เพราะกู้แบงค์มาก็ต้องคืนดอกเบี๊ย

ตอนนั้นเลยตกลงกับผู้เช่าว่าให้ลดพื้นที่ลงเพื่อลดค่าใช้จ่าย แล้วเอาคนอื่นที่มีปัญหาเหมือนกันมาอยู่ในตึกนี้เยอะๆ ให้เขามาช่วยกันจ่ายค่าเช่าแล้วเรามีเงินจ่ายแบงก์ ทำให้ทุกคนอยู่ได้หมด ซึ่งตอนนั้นที่ต่างประเทศก็มีโมเดลนี้คือ โคเวิร์กกิ้งสเปซ เเต่เรานำส่วนหนึ่งมาปรับและตั้งเป็น โกลว์ฟิช หลังจากนั้น 5 ปี

ปรับโกลว์ฟิชให้ต่างจากธุรกิจออฟฟิศเดิมอย่างไร?

พอเราเริ่มอยู่ได้และทำได้ดีมากในปีนั้นก็เริ่มเกิดความคิดจะทำให้เขาอยู่ดีขึ้นได้ยังไง เช่น ห้องประชุมเมื่อก่อนทุกคนต้องมีห้องประชุมแต่เดือนหนึ่งใช้ไม่กี่ครั้ง เลยเกิดความคิดว่าแชร์ห้องประชุมกัน ต่อยอดมาถึงยิมออกกำลังกายและร้านอาหารที่ใช้ร่วมกัน ทำให้เขารู้จักกันมากขึ้น

นอกจากนี้ มีการพูดคุยว่าเขาต้องการอะไรเพิ่มเติมอีกเพราะตอนแรกเราคิดไม่ออก เรากลายเป็นคนที่ไม่ทันเด็ก เพราะเด็กสมัยนี้ต้องการออฟฟิศที่สวย เขามีสไตล์มาก จะเอาตัวเราเองเป็นตัวตั้งไม่ได้ ก็ต้องพยายามทำความเข้าใจกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น และพัฒนาโกลว์ฟิชมาเรื่อยๆ ให้น่าอยู่ ให้คนที่เข้ามาอยู่แล้วมีความสุข

พอได้ออฟฟิศที่น่าอยู่เเล้ว จากนั้นก็มาดูว่าจะทำอย่างไรให้เขาทำงานเร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งวิธีคิดเดิมๆ ที่ต้องทำงานนานๆ ใช้ไม่ได้เเล้ว ในอเมริกาหรือโปแลนด์บางบริษัททำงาน 4 วันด้วยซ้ำ ซึ่ง 3 วันที่ให้หยุดกลับทำให้คนมีความก้าวหน้ามากกว่า ทำให้เขาไปสร้างเเรงบันดาลเเรงใจในการทำงานต่อไป แล้วทำงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในเวลางานได้ดีกว่า

พอเราเข้าใจรูปแบบหรือการกระบวนการทำงานยุคใหม่แล้วก็มาเริ่มจากอะไรง่ายๆ เช่น ที่ประชุมต้องใช้กินข้าวได้ สามารถประชุมแล้วกินข้าวไปพร้อมกันเพื่อประหยัดเวลา ทำให้ใช้เวลาทำงานน้อยลงไม่ต้องเจอช่วงรถติดมากๆ หรืออาจจะมีเวลาไปออกกำลังกายในฟิตเนสของออฟฟิศก็ได้

บรรยากาศ โกลว์ฟิช

พอใจกับโกลว์ฟิชแค่ไหน?

คือผมเป็นคนช่างฝันในยุคที่ไม่มีโอกาสได้ฝัน เพราะไม่มีเด็กช่างฝันคนไหนอยากมาทำงานเกี่ยวกับธุรกิจออฟฟิศให้เช่าเพราะมันเป็นสิ่งน่าเบื่อมาก แต่เมื่อเราได้ช่วยคุณตาแล้วนั่นคือความหมายของชีวิตเราอีกอย่างหนึ่งเเต่เราก็ค่อยๆ ทำให้มันเป็นไปตามทางที่เราต้องการ คือ โกลว์ฟิช

เราเริ่มใส่สิ่งที่เป็นตัวเราเข้าไปเช่น คอนเสิร์ตฮอลล์ เพราะผมเป็นคนชอบดนตรี ตอนเด็กมีสิ่งหนึ่งที่มากกว่าความใฝ่ฝันคืองานดนตรี เคยเขียนเพลงให้วงออเคสตรา และก่อนที่จะเรียนประวัติศาสตร์เคยเรียนดนตรีมาก่อน แต่เรียนได้ครึ่งเทอมแล้วรู้สึกไม่ใช่ เราชอบดนตรีแต่ไม่ได้อยากเป็นนักดนตรี แต่ในใจลึกๆ ก็มีความเป็นนักดนตรีอยู่ส่วนหนึ่ง ซึ่งตอนนี้คอนเสิร์ตฮอลล์ ที่อยู่ในโกลว์ฟิช กลายเป็นไม้ตายเป็นจุดเด่นให้กับเรามีการจัดคอนเสิร์ต และอีเว้นท์ต่างๆ แล้วก็เริ่มมีนักดนตรีมีนักแต่งเพลงมาเช่าออฟฟิศ ทำให้ตอนนี้โกลว์ฟิช ไม่ใช่แค่ออฟฟิศแล้ว แต่กลายเป็นครีเอทีฟคอมมูนิตี้ ที่คนสายดนตรีสายศิลปะและสายสร้างสรรค์เริ่มเข้ามาใช้พื้นที่

ตอนนี้ตื่นมาทุกวันเราชอบมาทำงานเพราะได้ทำงานในคอนเซ็ปต์ที่อยากทำ มีทีมที่อยากทำงานด้วยและกำลังจะพาเราไปไกลกว่าสิ่งที่เราคิดไว้ตั้งแต่แรก

คอนเสิร์ตฮอลล์ โกลว์ฟิช

ทำไมถึงสร้างโกลว์ฟิชให้แตกต่างจากโคเวิร์กกิ้งสเปซอื่น?

ผมพูดอยู่เสมอว่าถ้าไปเเข่งขันกันที่สเปซ คงไม่สามารถสู้เขาได้ ผมแพ้เเน่นอน ตอนนี้มีบริษัทในตลาดโลกที่มีมูลค่าเป็นหมื่นล้านหรือเเสนล้านเข้ามาทำธุรกิจโคเวิร์กกิ้งสเปซในไทย และเป็นพาร์ตเนอร์กับธุรกิจใหญ่ในประเทศหลายแห่ง ดังนั้นถ้าผมแค่ทำออฟฟิศสวยแล้วปล่อยเช่าอย่างเดียวผมจะไม่สามารถแข่งขันกับพวกนี้ได้เลย เพราะเงินผมก็น้อยกว่ามาก

แต่ที่โกลว์ฟิช ได้รับผลตอบรับที่ดีถูกเช่าเต็มอยู่ตอนนี้ เพราะจุดประสงค์ไม่เหมือนกัน ผมคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องเป็นองค์กรที่ใหญ่ที่สุดก็ได้ เเต่เราต้องอยู่ได้ดีในทางที่เราไปได้ เช่น ตอนนี้เรามีคอนเทนต์ของเรา ไม่ว่าจะเป็นการตั้งโปรแกรมเพื่ออบรมให้ความรู้กับพนักงาน เริ่มนำต้นแบบธุรกิจจากต่างประเทศมาทำเป็นโปรแกรมสอน ซึ่งคนอื่นไม่ทำ

มองแนวโน้มธุรกิจโคเวิร์กกิ้งสเปซในประเทศไทยอย่างไร?

ช่วงนี้เป็นช่วงที่รุ่งมากที่สุด แต่ผมคิดว่าในอีก 1 ปีน่าจะรุ่งมากกว่านี้เพราะคนมีความพร้อมและต้องยอมรับว่าทุกคนเข้าใจนิยามของธุรกิจโคเวิร์กกิ้งสเปซ จากนั้นในอีก 2 ปีธุรกิจประเภทนี้จะเพิ่มขึ้นเยอะมากๆ และจะเจ๊งเกือบทั้งหมดถ้ายังไม่ปรับตัว เพราะตอนนี้คนมีพื้นที่ แล้วอยากจะขายอะไรบางอย่าง เช่น ห้างสรรพสินค้า เมื่อก่อนคนเข้าไปซื้อของแต่เมื่อคนซื้อผ่านออนไลน์มากขึ้น เขาก็ต้องมองว่าจะทำอะไรอย่างอื่น อาจจะทำร้านอาหารเพิ่มขึ้น แต่ถ้ามีร้านอาหารเยอะแล้วก็ต้องคิดรูปแบบมาใส่ หนึ่งในนั้นที่หลายคนมองคือ โคเวิร์กกิ้งสเปซ นอกจากห้างสรรพสินค้าก็ยังมีคอนโด มีออฟฟิศที่หาผู้เช่าไม่ได้ ดังนั้น ในความเข้าใจของผมวันนี้คิดว่าอีก 2 ปีจะมีธุรกิจโคเวิร์คกิ้งสเปซเกิดขึ้นเยอะมากและจะเจ็บที่สุดในบรรดาธุรกิจเกี่ยวกับพร็อพเพอร์ตี้ที่เคยเกิดขึ้นมา

สำหรับโกลว์ฟิช อาจจะไม่กลัวเท่าไหร่ เพราะเราไม่ได้มีพื้นที่เยอะเราค่อยๆ โตและเน้นในการสร้างคอมมูนิตี้รอบธุรกิจ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงกัน เพราะคำว่าโคเวิร์กกิ้งคือการทำงานด้วยกัน ต้องให้เขารู้จักกัน เช่น คุณคุ้นหน้ากันอยู่แล้วพอเข้าไปเล่นฟิตเนต มีเทรนเนอร์เข้ามาแนะนำ หลังเล่นเสร็จคุณอาจจะมองหน้ากันทักทายพูดคุยกันชวนกันมาออกกำลังกาย กินข้าวกลางวันด้วยกัน เวลาเจอกันก็ทักทายแลกเปลี่ยนไอเดียการทำงาน แบบนี้จึงจะเป็นการโคเวิร์กกิ้ง

เป้าหมายที่วางไว้ตอนแรกกับตอนนี้ต่างกันอย่างไร?

ตอนเด็กผมอยากได้เงิน อยากรวยและคิดว่าอายุ 40จะรีไทร์ตัวเองไปเที่ยวรอบโลก แต่ตอนนี้ความต้องการเปลี่ยนไป อย่างแรกคืออายุ 36 ปีแล้วแต่ยังไม่รวย แต่ที่เราไปได้เกินกว่าที่คิดคือความสนุก เราทำในสิ่งที่มีความสุข ได้ใช้ความครีเอทีฟ และเกิดความรู้สึกว่าเราช่วยอะไรใครได้อีกบ้าง ซึ่งมันทำให้การทำงานทุกวันมีความหมาย การได้ช่วยคนอื่นเริ่มมีความสุขมากกว่าเรารวยขึ้น

ซึ่งการช่วยคนสำหรับผมไม่ใช่การบริจาค การช่วยงานการกุศลหรือช่วยเด็กยากไร้ เพราะผมมองว่ามันห่างไกลตัวผมเกินไป ผมมาสายค้าขายหรือสายที่เป็นพาณิชย์ ผมคิดว่าประเทศไทยมีโอกาสอีกมากที่จะแข่งขันในเวทีโลก ผมจึงได้เข้าไปรวมกลุ่มกับ YEC (Young Enterpreneur chamber of commerce) เป็นการรวมกลุ่มของนักธุรกิจรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาเครือข่ายสมาชิกและธุรกิจของจังหวัดต่างๆ ให้เติบโตและมั่นคง ซึ่ง YEC อยู่ภายใต้หอการค้า เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งมีเครือข่ายทั่วประเทศและแก้ปัญหาหลายอย่างได้ ผมได้เข้าร่วมตั้งแต่วันแรกที่เริ่มก่อตั้ง ล่าสุดเป็นประธาน YEC กรุงเทพฯ มาได้ 1 ปีแล้ว

YEC คืออะไรและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้อย่างไร?

ต้องจินตนาการถึงเครือข่ายธุรกิจที่มีอยู่ทั่วประเทศ ของคนหัวสมัยใหม่และมีใจพร้อมที่จะขยับ เพื่อช่วยกันทำอะไรสักอย่างที่ตอบปัญหาของประเทศ เเละช่วยเสริมสร้างมูลค่าให้กับประเทศทำให้สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น ส่งผลให้จีดีพีของประเทศใหญ่ขึ้นได้ ด้วยการแชร์ข้อมูล ความรู้ และการประสานงานกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากในโลกยุคนี้ สมัยก่อนอาจจะไม่ต้องร่วมมือกับใคร อยู่ตัวใครตัวมัน ห้ามบอกความลับในการทำงาน แต่สมัยนี้ยิ่งแชร์ข้อมูลมากยิ่งได้กลับมามากเพราะธุรกิจมันเปลี่ยนเร็ว ดังนั้นจะต้องมีข้อมูลต้องมีความร่วมมือ ไม่อย่างนั้นจะแข่งขันไม่ได้

ผมมองว่าการร่วมกลุ่มทางธุรกิจของคนรุ่นใหม่ไม่ใช่เฉพาะ YEC เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นมาก ทำให้ธุรกิจไม่ใช่เฉพาะใน กทม.มีความเข้มแข็งเกิดความเชื่อมโยงกับจังหวัดอื่นๆ แล้วได้ผลประโยชน์กลับคืนสู่ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน การจ่ายภาษี

การมาทำงาน yec เปลี่ยนความคิดยังไงบ้าง?

เดิมผมคิดว่าการมาทำงานตรงนี้เป็นการเสียสละ แต่กลายเป็นว่าผมได้รับวิชาความรู้กลับมามากกว่า เเล้วตอนแรกผมยังไม่มีใจจะทำอะไรเพื่อสังคมเลย คิดว่าเรายังสร้างตัวเองไม่เสร็จแล้วจะไปช่วยอะไรใครได้ แต่พอมาทำ YEC แล้วมันเปลี่ยนความคิดไปเลยว่าเราสามารถช่วยคนได้ตั้งแต่ตอนนี้ เพราะถ้าเราช่วยสังคม สังคมก็ช่วยเรา มันเป็นการโตไปด้วยกัน

ซึ่้งตรงนี้เป็นสิ่งที่ปลูกฝังในตระกูลของผมมานานก่อนจะมีเรื่องของซีเอสอาร์อีกว่า การทำอะไรแล้วเราโตไปด้วยกันกับคนที่เราทำการค้าด้วยมันสำคัญที่สุด อย่างการทำธุรกิจต้องให้ชาวไร่อยู่ได้ ต้องไม่เอาเปรียบ สุดท้ายแล้วเราจะดีเอง เพราะถ้าไม่มีอ้อยจากชาวไร่ก็จะไม่มีน้ำตาล ดังนั้นคนที่เราควรจะดูแลให้ดีที่สุดจึงเป็นชาวไร่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image